Meta เจาะ 5 อินไซต์ช่วยแบรนด์ไทยให้เพิ่มยอดขายช่วงเทศกาล ผลวิจัยชี้ ครีเอเตอร์แนะนำสินค้า และวิดีโอสั้น Reels เป็นพลังขับเคลื่อนหลักที่ช่วยให้ผู้บริโภคค้นพบแบรนด์ และตัดสินใจซื้อ
Mega Sales Days (MSD) กลายเป็นส่วนสำคัญของปฏิทินการช้อปปิ้งในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก โดยแบรนด์ต่าง ๆ จะพร้อมใจกันส่งมอบส่วนลดและข้อเสนอที่น่าดึงดูดใจให้กับผู้บริโภคในช่วงวันลดราคาตามเทศกาลต่างๆ ช่วยเพิ่มรายได้ให้กับธุรกิจในภูมิภาค เช่น วันเลขเบิ้ลต่าง ๆ อย่าง 9.9, 10.10 และ 11.11
การทำความเข้าใจพฤติกรรมของนักช้อปที่เปลี่ยนแปลงไปในช่วงเวลาสำคัญเหล่านี้มีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับธุรกิจที่ต้องการเพิ่มการเข้าถึงและสร้างยอดขายให้ได้มากที่สุด ท่ามกลางบรรยากาศธุรกิจอีคอมเมิร์ซที่มีการเติบโตอย่างรวดเร็วทั่วทั้งภูมิภาค
ทีม Business Marketing and Intelligence ของ Meta ร่วมกับ YouGov บริษัทวิจัยความคิดเห็นสาธารณะและข้อมูล ทำการสำรวจนักช้อปที่มีอายุมากกว่า 18 ปี จำนวน 17,906 คน จาก 13 ประเทศ ได้แก่ ออสเตรเลีย บราซิล แคนาดา ฝรั่งเศส เยอรมนี อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น เม็กซิโก เกาหลีใต้ สวีเดน ไทย สหราชอาณาจักร และสหรัฐ
ผลการศึกษา ระบุถึง 5 ข้อมูลเชิงลึกสำคัญเกี่ยวกับพฤติกรรมการช้อปปิ้งของผู้บริโภคในช่วงเทศกาล หรือช่วง MSD ในประเทศไทย ซึ่งสามารถช่วยให้ธุรกิจและแบรนด์ต่างๆ เพิ่มการเติบโตและใช้ประโยชน์จากช่วงเวลาสำคัญนี้ได้อย่างเต็มที่
เปิด 5 ข้อมูลเชิงลึกพฤติกรรมการช้อปปิ้งช่วงเทศกาล
1. การค้าผ่านการค้นพบ (Discovery Commerce) ของ Meta ยกระดับกระบวนการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภค
ปัจจุบันโซเชียลมีเดียกลายเป็นเครื่องมือค้นหาช่องทางใหม่ โดยนักช้อปช่วงเทศกาลในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกถึง 64% ระบุว่า พวกเขาค้นพบสินค้าหรือแบรนด์ผ่านโซเชียลมีเดีย ซึ่งมากกว่าการใช้เครื่องมือค้นหาหรือ search engines (41%) และแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ (39%) อีกทั้ง 61% ระบุว่าแพลตฟอร์มโซเชียลเป็นเครื่องมือที่ชื่นชอบในการค้นคว้าข้อมูลในช่วงฤดูกาลลดราคา
การเปลี่ยนแปลงนี้แสดงให้เห็นถึงอิทธิพลที่เพิ่มขึ้นของแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียต่อกำลังซื้อ โดย 65% ของนักช้อปช่วงเทศกาลระบุว่า โซเชียลมีเดียเป็นช่องทางการค้นพบที่พบบ่อยที่สุด ขณะที่ 73% ของนักช้อปชาวไทยในช่วงเทศกาลค้นพบแบรนด์หรือสินค้าในช่วงเทศกาลผ่านแพลตฟอร์ม Meta และนักช้อปรุ่นใหม่ 66% ใช้แพลตฟอร์ม Meta ในการพิจารณาสินค้าและส่งผลต่อการตัดสินใจซื้อถึง 78%
นอกจากนี้ ผู้บริโภคแสดงให้เห็นถึงความต้องการประสบการณ์เฉพาะบุคคล (Personalized Experience) อย่างชัดเจน โดย 71% ของนักช้อปในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก แสดงความชื่นชอบในการค้นพบสินค้าที่สนใจ ซึ่งพวกเขาไม่ได้ตั้งใจค้นหาอย่างจริงจังในตอนแรก และ 74% ของนักช้อปช่วงเทศกาลกล่าวว่า พวกเขาซื้อสินค้าที่ค้นพบผ่านโฆษณาที่นำเสนอได้ตรงตามความต้องการเฉพาะบุคคล (personalized ads) บนโซเชียลมีเดีย
การใช้เวลาบนโลกออนไลน์ของผู้บริโภคเองก็เพิ่มมากขึ้น โดย 66% ของนักช้อปช่วงเทศกาลในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเผยว่า พวกเขาใช้เวลาออนไลน์มากขึ้นในช่วงนี้ 88% หาข้อมูลสินค้าออนไลน์ และ 79% หาข้อมูงผ่านโทรศัพท์ ที่สำคัญคือ 86% ของนักช้อปช่วงเทศกาลยังซื้อสินค้าต่าง ๆ ผ่านช่องทางออนไลน์ทั้งหมด
2. Mega Sales Days ช่วยบรรเทาสถานการณ์ความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ
จากแรงกดดันทางเศรษฐกิจและความกังวลเกี่ยวกับความมั่นคงทางการเงิน นักช้อปมองว่า เทศกาลลดราคาMSD เป็นวิธีที่จะใช้งบประมาณให้คุ้มค่าที่สุด และเข้าถึงสินค้าที่ต้องการได้ในราคาที่ถูกลง นอกจากนี้ เดือนตุลาคมถึงพฤศจิกายน กลายเป็นช่วงเวลาสำคัญในการวางแผนซื้อสินค้าสำหรับช่วงเทศกาล โดย 51% ของนักช้อปจะค้นพบสินค้าและข้อเสนอต่าง ๆ และท้ายที่สุด คนไทยจะทำการซื้อในเดือนธันวาคม ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่สำคัญที่สุดสำหรับการซื้อสินค้า
ข้อสังเกตที่น่าสนใจคือ แม้ผู้บริโภคจะมีความกังวลทางการเงิน แต่การใช้จ่ายในช่วงเทศกาลยังค่อนข้างคงที่เมื่อคำนึงถึงอัตราเงินเฟ้อ โดยนักช้อปในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกใช้จ่ายเฉลี่ย 338 ดอลลาร์ ในช่วงเทศกาล และในประเทศไทย กว่า 75% ของนักช้อปส่วนใหญ่มักจะใช้เงินซื้อประสบการณ์ เช่น การท่องเที่ยว เพลง และวิดีโอเกมออนไลน์ ในขณะที่การซื้อสินค้าในร้านค้า จะเป็นสินค้าประเภทอาหารและเครื่องดื่ม
3, การส่งข้อความเชิงธุรกิจเปิดโอกาสใหม่ ๆ
การค้าผ่านการพูดคุยหรือส่งข้อความ (conversational commerce) ที่แพร่หลายมากขึ้นกำลังปรับเปลี่ยนวิธีที่ธุรกิจมีปฏิสัมพันธ์กับผู้บริโภคโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วง MSD
ปัจจุบัน 61% ของนักช้อปในเอเชียแปซิฟิก เลือกที่จะสื่อสารกับธุรกิจผ่านแอปพลิเคชันแชทต่าง ๆ และ 75% มองว่าการส่งข้อความเชิงธุรกิจ บวกกับคำแนะนำจากครีเอเตอร์มีอิทธิพลมากที่สุดต่อการตัดสินใจซื้อของพวกเขา ขณะที่นักช้อปชาวไทยถึง 90% เลือกสื่อสารกับผู้ขายผ่านแชทระหว่างการตัดสินใจซื้อ และ 41% ของนักช้อปชาวไทยกล่าวว่า พวกเขาจะซื้อสินค้าซ้ำในมูลค่าที่สูงขึ้นหากได้รับการปรึกษาแบบตัวต่อตัวที่ดี
4, การค้าข้ามพรมแดน หนุนเติบโตเพิ่ม 2 เท่า
การค้าข้ามพรมแดน (Cross-border Commerce – CBC) กลายเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับผู้ประกอบการหลายรายที่มองหาความได้เปรียบเชิงกลยุทธ์ โดยเกือบครึ่งหนึ่งของกลุ่มตัวอย่างนักช้อปในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกมีการซื้อสินค้าข้ามพรมแดนในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา
การเติบโตของการจับจ่ายข้ามพรมแดนกำลังสร้างบรรทัดฐานใหม่ที่จะกลายเป็นสากลให้กับธุรกิจค้าขายทั่วโลก เนื่องจากธุรกิจต่างๆ มีการเติบโตขึ้นจากการค้าข้ามพรมแดนมากกว่าการค้าขายภายในประเทศถึงสองเท่า คาดการณ์ว่าการค้าออนไลน์ข้ามพรมแดนจะมีมูลค่าสูงถึง 3.3 ล้านล้านดอลลาร์ ภายในปี 2571
เหตุผลที่นักช้อปซื้อสินค้าจากต่างประเทศ ได้แก่ สินค้าที่มีราคาถูกกว่า การเข้าถึงแบรนด์ที่ไม่มีจำหน่ายในประเทศที่ตนอาศัยอยู่ได้ง่ายกว่า และสินค้ามีคุณภาพสูงกว่า โดย 71% ของนักช้อปข้ามพรมแดนเปิดรับการซื้อสินค้าจากแบรนด์ใหม่ๆ และ 61% ชื่นชอบที่พวกเขามีตัวเลือกสินค้าที่หลากหลายมากขึ้นให้เลือก
5. ครีเอเตอร์และวิดีโอ Reels ผลักดันการค้นพบสินค้าและการซื้อ
ครีเอเตอร์ยังคงมีอิทธิพลต่อการซื้อของผู้บริโภคอย่างชัดเจน โดย 71% ของนักช้อปเชื่อถือคำแนะนำจากครีเอเตอร์ และ 74% ตัดสินใจซื้อสินค้าภายในไม่กี่วันหลังจากเห็นคอนเทนต์เกี่ยวกับสินค้าจากครีเอเตอร์บนแพลตฟอร์มของ Meta ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงผลลัพธ์ของการร่วมมือเชิงกลยุทธ์กับครีเอเตอร์ในการสร้างการรับรู้แบรนด์ ความไว้วางใจ และการผลักดันยอดขายให้เติบโต
นอกจากนี้ คอนเทนต์วิดีโอยังมีอิทธิพลอย่างมาก 90% ของนักช้อปชาวไทยเปิดเผยว่าพวกเขารับชมวิดีโอออนไลน์ในช่วงเทศกาลวันหยุด ส่งผลให้วิดีโอต่างๆ โดยเฉพาะวิดีโอสั้น มีผลต่อการตัดสินใจซื้อสินค้าในช่วงวันหยุดของนักช้อปมากกว่า 70% โดย 79% กล่าวว่าพวกเขาซื้อสินค้าหรือบริการหลังจากรับชม Reels บนแพลตฟอร์มของ Meta
แพร ดำรงค์มงคลกุล Country Director ประจำ Facebook ประเทศไทย กล่าวว่า การช้อปปิ้งช่วงเทศกาลเป็นปรากฎการณ์ที่มีสีสันมาโดยตลอดสำหรับการค้าบนโลกออนไลน์ เรามองเห็นสิ่งที่น่าสนใจสำหรับนักช้อปชาวไทยว่าการจับจ่ายซื้อของได้กลายมาเป็นประสบการณ์ที่ดำเนินอย่างต่อเนื่องและคนไทยก็รู้สึกสนุกและตื่นเต้นกับการได้ช้อปช่วงเทศกาลมากเป็นพิเศษ
สำหรับช่วงไฮซีซันที่กำลังจะมาถึงนี้ ธุรกิจสามารถใช้ประโยชน์จากเครื่องมือการโฆษณาที่ขับเคลื่อนด้วยระบบ AI ของเรา อย่างชุดเครื่องมือ Meta Advantage ในการเสริมประสิทธิภาพของแคมเปญ หรือโซลูชั่นอย่าง Advantage+ Shopping Campaigns ที่ได้รับความนิยมก็สามารถสร้างผลตอบแทนได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงขึ้นกว่า 4 เท่า
อ่านข่าวเพิ่มเติม
- LINE SHOPPING เปิดอินไซต์ 4 พฤติกรรมนักช้อปออนไลน์
- นักช้อปออนไลน์รอเฮ!! สคบ. ออกกฎหมาย เช็กของได้ก่อนจ่าย-ขอเงินคืนได้ใน 5 วัน
- ขาช้อปมีหนาว! จ่อเก็บภาษีช้อปออนไลน์สินค้านำเข้าไม่เกิน 1,500 บาท คาดมีผล พ.ค. นี้
ติดตามเราได้ที่
เว็บไซต์: https://www.thebangkokinsight.com/
Facebook: https://www.facebook.com/TheBangkokInsight
X (Twitter): https://twitter.com/BangkokInsight
Instagram: https://www.instagram.com/thebangkokinsight/
Youtube: https://www.youtube.com/channel/UCYmFfMznVRzgh5ntwCz2Yxg