Economics

เรื่องใหญ่ของคนโคราช! ชงแบบก่อสร้างรถไฟทางคู่ 2 ทางเลือก

“การรถไฟฯ” สั่งที่ปรึกษาเขียนแบบก่อสร้าง “รถไฟทางคู่ มาบกะเบา-จิระ” 2 ทางเลือก  “ทุบ-ไม่ทุบ” สะพานสีมาธานี คาดชงเข้าบอร์ดให้ตัดสินใจได้ภายใน 2 เดือนนี้

รายงานข่าวจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยว่า บริษัทที่ปรึกษาได้ปรับแบบ โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ เส้นทางมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ สัญญาที่ 2 ช่วงคลองขนานจิตร-ถนนจิระ ระยะทาง 70 กิโลเมตรเสร็จแล้ว

แบบใหม่ได้ปรับเส้นทางช่วงที่ผ่านตัวเมืองนครราชสีมา (โคราช)  จากทางระดับดิน ให้เป็นทางยกระดับตามที่ประชาชนในพื้นที่เรียกร้อง แต่ยอมรับว่าการปรับแบบยังไม่สะเด็ดน้ำดี เนื่องจากประชาชนมีความเห็นเรื่องการทุบสะพานสีมาธานี ซึ่งเป็นสะพานสำคัญในตัวเมืองโคราช แตกต่างกัน

โดยในช่วงแรกที่มีการปรับแบบ การรถไฟฯ และผู้เกี่ยวข้องวางแผนจะทุบสะพานสีมาธานี เพื่อจะก่อสร้างรถไฟทางคู่แบบยกระดับ แต่ต่อมาโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ได้ขยับสถานีรถไฟความเร็วสูงในบริเวณดังกล่าวออกไป 200-300 เมตร ส่งผลให้สามารถก่อสร้างรถไฟทางคู่แบบยกระดับ โดยไม่ต้องทุบสะพานสีมาธานี

อย่างไรก็ตาม ประชาชนและผู้บริหารในพื้นที่บางส่วนเห็นว่าควรทุบสะพานสีมาธานีตามแนวคิดแรก โดยอ้างเหตุผลเรื่องการพัฒนาเมืองและความเจริญ แต่กรมทางหลวง (ทล.) ไม่ต้องการให้ทุบสะพานดังกล่าว เนื่องจากสะพานยังใช้การได้และเสียดายงบประมาณในการก่อสร้างสะพานอื่นมาทดแทน

รถไฟทางคู่ จิระ ขอนแก่น การรถไฟ

การรถไฟฯ จึงขอให้ที่ปรึกษาออกแบบเส้นทางไว้ทั้ง 2 แบบ เพื่อเป็นทางเลือกให้ผู้เกี่ยวข้องพิจารณา ดังนี้

  1. ทุบสะพานสีมาธานี และปรับแบบรถไฟทางคู่ จากเส้นทางระดับดิน เป็นเส้นทางยกระดับยาว 5.1 กิโลเมตร
  2. ไม่ทุบสะพานสีมาธานี และปรับแบบรถไฟทางคู่ จากเส้นทางระดับดัน เป็นเส้นทางยกระดับยาว 3.7 กิโลเมตร

โดยปัจจุบันการรถไฟฯ อยู่ระหว่างนำแบบก่อสร้างดังกล่าวไปคำนวณมูลค่างานโยธาใหม่ ซึ่งเบื้องต้นประเมินว่า การปรับแบบจะส่งผลให้มูลค่างานโยธาเพิ่มขึ้น 3,400 ล้านบาท เป็นประมาณ 10,500 ล้านบาท จากนั้นจะสรุปเรื่องและเสนอให้ที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) พิจารณาในเดือนกุมภาพันธ์หรือมีนาคมนี้

“การรถไฟฯ ขอให้ที่ปรึกษาออกแบบเส้นทางไว้ 2 แบบ คือแบบไม่ทุบและทุบสะพานสีมาธานี ซึ่งก็จะเสนอข้อดีข้อเสียของทั้ง 2 แบบ ให้ผู้เกี่ยวข้องพิจารณา นอกจากเสนอบอร์ดแล้ว ก็ต้องขอความเห็นจากกระทรวงคมนาคม สภาพัฒน์ กระทรวงการคลัง ก่อนเสนอให้ ครม. พิจาณาในขั้นตอนสุดท้าย แต่การรถไฟฯ ก็ต้องมีข้อเสนอแนะให้หน่วยงานต่างๆ พิจารณาด้วยว่าควรเลือกแบบใด” แหล่งข่าวกล่าว

รถไฟ 1

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ เส้นทางมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ สัญญาที่ 2 ช่วงคลองขนานจิตร-ถนนจิระ ถูกบรรจุอยู่ในโครงการก่อสร้างไฟทางคู่เฟสที่ 1 จำนวน 7 เส้นทางและได้เปิดประมูลช่วงกลางปี 2560

แต่ต่อมารัฐบาลได้สั่งการให้ปรับแบบก่อสร้างทางรถไฟทางคู่ช่วงที่ผ่านตัวเมืองโคราชใหม่ จากทางระดับพื้นดิน เป็นทางยกระดับ เพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องรถไฟผ่าเมืองเป็น 2 ฝั่งตามที่ประชาชนเรียกร้อง ซึ่งการตัดสินใจดังกล่าวส่งผลให้การประมูลโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ เส้นทางมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ สัญญาที่ 2 ต้องยุติลง เพราะต้องเข้าสู่กระบวนการออกแบบและขออนุมัติโครงการใหม่ทั้งหมด

Avatar photo