Economics

ความคืบหน้า สางปัญหา ‘แก้หนี้ 4 กลุ่ม’ 4 มาตรการช่วยเหลือ เช็กรายละเอียดที่นี่

ความคืบหน้า รัฐบาลเร่งสางปัญหา หนี้สินครัวเรือน ‘แก้หนี้ 4 กลุ่ม’ 4 มาตรการช่วยเหลือ ลดภาระประชาชน

วันนี้  20 กันยายน 2565 นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมการกำกับการแก้ไขหนี้สินของประชาชนรายย่อย ครั้งที่ 3/2565 เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2565 (ผ่านระบบ Video Conference) โดยมีนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน ได้หารือถึงความคืบหน้าการดำเนินการแก้ไขหนี้สิน สรุปรายละเอียดได้ดังนี้

แก้หนี้

รายละเอียด แก้หนี้ 4 กลุ่ม 4 มาตรการช่วยเหลือ

  1. ประเด็นหนี้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ที่ประชุมฯ หารือถึงความคืบหน้าการปรับโครงสร้างหนี้ของลูกหนี้ กยศ. ซึ่งพบว่ามีผู้ยื่นขอปรับโครงสร้างหนี้ 3.4 แสนราย (เพิ่มขึ้น 1.1 แสนราย) จากผู้มีสิทธิยื่น 2 ล้านราย โดย กยศ. อยู่ระหว่างทำระบบรองรับการปรับโครงสร้างหนี้ผ่านช่องทางออนไลน์

และล่าสุด สภาผู้แทนราษฎรมีมติเห็นชอบ พ.ร.บ. กยศ. ฉบับใหม่แล้ว เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2565 ซึ่งจะช่วยเหลือและบรรเทาภาระของผู้กู้ยืมเงินหรือผู้ค้ำประกันซึ่งทำสัญญาก่อนที่ร่างกฎหมายที่แก้ไขจะใช้บังคับใช้ ให้สามารถชำระเงินคืนกองทุนได้ โดยให้งดเว้นการเก็บดอกเบี้ย และคิดค่าปรับผิดนัดชำระ

  1. ประเด็นหนี้ข้าราชการ โดยเฉพาะข้าราชการครูและข้าราชการตำรวจ พบว่าแก้ไขหนี้สินสำเร็จแล้ว ร้อยละ 64 โดยแก้ไขหนี้ข้าราชการตำรวจสำเร็จ 6,145 ราย เพิ่มขึ้น 2,754 ราย สำหรับข้าราชการครู ธนาคารออมสินได้ลดดอกเบี้ยเงินกู้ของข้าราชการครูในทุกโครงการเหลือไม่เกิน 4.9% และมีโครงการสร้างโอกาสใหม่ให้ครูไทย ซึ่งมีผู้เข้าร่วม 41,126 ราย ไกล่เกลี่ยและปรับโครงสร้างหนี้แล้ว 3,623 ราย คิดเป็น 8.9% ของผู้เข้าร่วม พร้อมมีการอบรมให้ความรู้ทางการเงินผ่าน “KHURU Online” โดยมีผู้ผ่านการอบรมแล้ว 21,586 ราย

แก้หนี้

นอกจากนี้ ในด้านกฎหมายยังมีความคืบหน้าของร่างกฎกระทรวงการบริหารจัดการและกากับดูแลทางการเงินสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนียน พ.ศ. …. ซึ่งอยู่ระหว่างการจัดวาระเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรี

  1. ประเด็นหนี้เช่าซื้อ มีความคืบหน้าของ (ร่าง) พ.ร.ฎ. กำหนดให้การประกอบธุรกิจทางการเงินบางประเภทอยู่ภายใต้บังคับของพระราชบัญญัติธุรกิจสถาบันการเงิน พ.ศ. 2551 พ.ศ. …. ซึ่งอยู่ระหว่างเตรียมเสนอ คณะรัฐมนตรีพิจารณา และคณะกรรมการว่าด้วยสัญญาฯ มีมติเห็นชอบร่างประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญาฯ เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2565 และจะได้ส่งสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี เพื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษา ต่อไป
  2. ประเด็นหนี้บัตรเครดิต พบว่า ณ วันที่ 31 กรกฎาคม 2565 ลูกหนี้บัตรเครดิต/ สินเชื่อส่วนบุคคล 87,247 ราย ได้ลดดอกเบี้ย ผ่านคลินิกแก้หนี้ และทางธนาคารออมสินได้มีโครงการ “บ้านดี หนี้เบา” รวมหนี้ระหว่างสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยและสินเชื่อรายย่อยประเภทอื่น โดยใช้ประโยชน์จากที่อยู่อาศัยเป็นหลักประกัน วงเงินกู้ไม่เกิน 100% ของราคาประเมินหลักประกัน

แก้หนี้

นอกจากนี้ ทางด้านธนาคารอิสลาม ได้สนับสนุนวงเงินสินเชื่อเพื่อปิดบัญชีบัตรเครดิต วงเงินสูงสุด 5 ล้านบาทสำหรับผู้ที่มีหลักประกัน และ 1 ล้านบาทสำหรับผู้ที่ไม่มีหลักประกัน

  1. การปรับปรุงโครงสร้าง/ไกล่เกลี่ยหนี้ พบว่า ณ วันที่ 31 พฤษภาคม 2565 มีสถาบันการเงินเฉพาะกิจ (SFIs) จำนวน 6 แห่ง ปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้ลูกหนี้ 2,250,854 บัญชี คิดเป็น 958,025 ล้านบาท และทางธนาคารแห่งประเทศไทยมีมาตรการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ระยะยาว ช่วยเหลือลูกหนี้ 3.89 ล้านบัญชี คิดเป็น 2.98 ล้านล้านบาท พร้อมมีการจัดทางด่วนแก้หนี้ ช่วยเหลือสะสมได้ทั้งสิ้น 271,446 บัญชี เท่ากับ 74% ของคนที่เข้าเงื่อนไข เท่ากับเพิ่มขึ้น 9,129 บัญชี (จนถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2565)

มหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้ครัวเรือน 78 ครั้ง สามารถไกล่เกลี่ยสำเร็จ 72,331 ราย จาก 75,619 ราย คิดเป็น 95.6% ของผู้ขอไกล่เกลี่ย และการไก่เกลียจากศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาท 20,200 ราย รวมทั้งสิ้น 92,531 ราย

  1. การทบทวนโครงสร้างอัตราดอกเบี้ย/ มาตรการคุ้มครองลูกหนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทยอยู่ระหว่างศึกษาแนวทางและกลไกในการสนับสนุนการคิดอัตราดอกเบี้ยที่สะท้อนความเสี่ยงของลูกหนี้ที่แท้จริง (Risk-based Pricing) เพื่อลดการพึ่งพาเงินกู้นอกระบบ
  2. การแก้ไขการเข้าถึงแหล่งทุนของประชาชน/SMEs ทางบริษัท มีที่ มีเงิน จำกัด ได้ช่วยเหลือกลุ่มผู้ประกอบการ SMEs และประชาชนทั่วไป ให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนที่ถูกและแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ มีการแต่งตั้งกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารแล้ว อยู่ระหว่างพัฒนาระบบงาน คาดว่าจะเปิดให้บริการภายใน 1 ตุลาคม 2565
  3. การปรับปรุงกฎหมายเพื่อช่วยแก้ไขหนี้สิน ทางด้านสภาผู้แทนฯ มีมติรับหลักการ ร่าง พ.ร.บ. ล้มละลาย (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. เมื่อ 24 สิงหาคม 65 และได้แต่งตั้งคณะกรรมาธิการฯ เพื่อพิจารณาร่างฯ ดังกล่าว รวมทั้งร่าง พ.ร.บ. ยกเลิก พ.ร.บ. ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 ได้ส่งร่างฯ ไปยังคณะกรรมการประสานงานรัฐสภาแล้ว เมื่อ 6 กันยายน 2565 เพื่อเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนฯ ต่อไป

แก้หนี้

รัฐบาลเร่งแก้ไขปัญหาหนี้สินครัวเรือน เพื่อดูแลให้ประชาชนมีชีวิตที่มีคุณภาพ ลดภาระหนี้สินด้วยการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมในแต่ละกลุ่มของลูกหนี้ที่เป็นประชาชนรายย่อย ซึ่งรัฐบาลพร้อมดำเนินการต่อไปอย่างเร่งด่วน เพื่อช่วยเหลือประชาชนจากปัญหาหนี้สินให้ได้มากที่สุดและเร็วที่สุด

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo