Economics

ดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน ส.ค. ดีต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 สูงสุดในรอบ 8 เดือน

ดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนสิงหาคม 2565 ปรับตัวขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 43.7 จากระดับ 42.4 ในเดือนกรกฎาคม 2565 ดีต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 สูงสุดในรอบ 8 เดือน

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ประธานที่ปรึกษา ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ และอธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนสิงหาคม 2565 ปรับตัวขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 43.7 จากระดับ 42.4 ในเดือนกรกฎาคม 2565

ดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภค

ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือนสิงหาคม 2565 ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 และเป็นระดับที่สูงสุดในรอบ 8 เดือน นับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2565 ทั้งนี้ มองว่า หากความเชื่อมั่นยังคงฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะเริ่มฟื้นตัวชัดเจนมากขึ้นในไตรมาสที่ 4 ของปีนี้ โดยผู้บริโภคจะกลับมาบริโภคสินค้าและบริการโดดเด่นขึ้นในปลายไตรมาสที่ 3 ของปีนี้เป็นต้นไป

“ส่วนช่วงไตรมาส 4 ปีนี้ เห็นแนวโน้มที่ดีจากการขยายตัวของทั้งภาคการส่งออก การท่องเที่ยว และการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ซึ่งจะช่วยทำให้เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 4 สามารถขยายตัวได้ที่ระดับ 3.5-4% โดยมองว่าทั้งการส่งออกและการท่องเที่ยวจะยังเป็นพระเอกและพระรองในการช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย” นายธนวรรธน์ กล่าว

ดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภค

ปัจจัยบวกหนุนดัชนีปรับเพิ่มขึ้น ได้แก่

  • ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ผ่อนคลายมาตรการในการเดินทางระหว่างประเทศ ยกเลิกระบบ Thailand Pass , ปรับระดับพื้นที่โควิดเป็นสีเขียวทั่วประเทศ และการผ่อนคลายเรื่องการสวมหน้ากากอนามัยให้เป็นตามความสมัครใจ
  • การฉีดวัคซีนป้องกันโควิดในทั่วโลกที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น
  • คณะรัฐมนตรี (ครม.)อนุมติมาตการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม เช่น คนละครึ่ง เฟส 5, โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้กับผู้ถือบัตรคนจน เป็นต้น
  • สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์ รายงานเศรษฐกิจไทยไตรมาส 2/65 ขยายตัว 2.5% และทั้งปี 65 ยังเติบโตได้ 2.7-3.2%
  • การส่งออกเดือนกรกฎาคม 2565 ขยายตัวได้ 4.33%
  • คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25%
  • ราคาพืชผลทางการเกษตรหลายรายการปรับตัวเพิ่มขึ้น

ดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภค

ส่วนปัจจัยลบ ได้แก่

  • ผู้บริโภคมีความรู้สึกว่าเศรษฐกิจยังฟื้นตัวช้า ค่าครองชีพและราคาสินค้าทรงตัวในระดับสูง ทำให้รายได้ไม่สอดคล้องกับค่าใช้จ่าย
  • ความกังวลต่อสถานการณ์ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ยังเกิดขึ้นทั่วประเทศ
  • ความกังวลต่อภาวะสงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ที่ส่งผลต่อราคาน้ำมันในตลาดโลกให้มีแนวโน้มสูงขึ้น ซึ่งจะมีผลต่อต้นทุนสินค้าให้ปรับเพิ่มขึ้นตาม และอาจมีผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก รวมทั้งเศรษฐกิจไทย
  • ความกังวลต่อสถานการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ ซึ่งกระทบต่อเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวในพื้นที่

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo