Economics

‘ปลัดคลัง’ ยันเพดานหนี้ภาครัฐไม่เกินกรอบ 35% มั่นใจจัดเก็บรายได้เกินเป้า!

“ปลัดคลัง” ยันเพดานหนี้ภาครัฐ ตามมาตรา 28 ไม่เกินกรอบ 35% แน่นอน คาดจัดเก็บรายได้ปีงบประมาณ 2565 ได้เกินเป้าหมายอย่างน้อย 4-6 หมื่นล้านบาท

นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวยืนยันว่า เพดานหนี้ตามมาตรา 28 จะลดลงมาต่ำกว่า 35% แน่นอนปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 34% กว่า ๆ ส่วนจะลดลงมาเหลือเท่าไรยังตอบไม่ได้ เนื่องจากขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดกำลังอยู่ระหว่างการพิจารณารายละเอียดและตัวเลขทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง พ.ศ. 2561 ในมาตรา 28

เพดานหนี้ภาครัฐ

ยันเพดานหนี้ภาครัฐไม่เกินกรอบ 35%

ก่อนหน้านี้ รัฐบาลได้มีการขยายกรอบอัตรายอดคงค้างของภาระหนี้ที่รัฐบาลต้องชดเชยจาก 30% เพิ่มเป็น 35% ของกรอบงบประมาณรายจ่ายประจำปี เป็นระยะเวลา 1 ปี ซึ่งการขยายกรอบเพดานหนี้ตามมาตรา 28 ดังกล่าวจะครบกำหนดภายใน 30 ก.ย. 65

“เฉพาะธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เองก็มีกว่า 96 โครงการแล้ว ขณะที่หน่วยงานก็ต้องไปดูว่ามีโครงการไหนที่ทำจบแล้ว ยังไม่ได้ปิดโครงการก็ต้องไปเร่งปิดโครงการและคืนตัวเลขในส่วนดังกล่าวมา ตรงนี้เป็นไปตามกรอบระยะเวลา เราต้องกลับเข้าสู่วินัยการคลังจริง ๆ โดยหน่วยงานต่าง ๆ ต้องทยอยปิดโครงการและส่งคืนตัวเลขก่อนสิ้น ก.ย. นี้” นายกฤษฎา กล่าว

นายกฤษฎา กล่าวอีกว่า ในปีงบประมาณ 2566 ชัดเจนแล้วว่าการใช้กรอบเพดานหนี้ตามมาตรา 28 นั้นจะลดลงอย่างแน่นอน เพราะมีโครงการบางส่วนที่เอาไปใส่ไว้ในงบประมาณปกติแล้ว โดยในปีงบประมาณ 66 รัฐบาลได้มีการตั้งงบชำระคืนในส่วนดังกล่าว วงเงินประมาณ 1.04 แสนล้านบาท อีกทั้งคาดหวังว่าราคาสินค้าเกษตรจะดีกว่าปีนี้ ก็จะเป็นปัจจุบันที่ช่วยเสริมทำให้ตัวเลขตามมาตรา 28 มีช่องว่างมากขึ้น

เพดานหนี้ภาครัฐ

จัดเก็บรายได้เกินเป้าหมาย

สำหรับภาพรวมการจัดเก็บรายได้ในปีงบประมาณ 2565 นั้น เบื้องต้นคาดว่าจะสามารถจัดเก็บได้เกินเป้าหมายอย่างน้อย 4-6 หมื่นล้านบาท จากปัจจุบันจัดเก็บได้เกินเป้าหมายราว 1 แสนล้านบาท ซึ่งในส่วนนี้จะส่งผลให้ ณ สิ้นปีงบประมาณ คาดว่าเงินคงคลังจะขยับขึ้นไปแตะระดับ 5.5 แสนล้านบาท ตรงนี้ถือเป็นสภาพคล่องของรัฐบาลที่สามารถนำไปใช้จ่ายได้ โดยในช่วงต้นปีงบประมาณจะมีความต้องการใช้เงิน เพราะรายได้จากภาษีจะยังไม่เข้ามาเต็มที่ โดยจะเข้ามาช่วงเดือน มี.ค.-เม.ย. ดังนั้นจึงต้องมีเงินคงคลังสำรองไว้

“ตอนนี้ภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลจัดเก็บได้ต่ำกว่าเป้าหมาย เพราะมีการลดภาษีเพื่อช่วยเหลือและบรรเทาภาระค่าครองชีพให้ประชาชน ซึ่งถือเป็นเรื่องของนโยบายรัฐบาล ดังนั้นก็ต้องมีการปรับลดเป้าหมายการจัดเก็บให้กรมสรรพสามิต ตามรายได้ที่กรมฯ เสียไปจากการลดการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลในช่วงที่ผ่านมาทั้งหมด ซึ่งหากบวกในส่วนนี้เข้าไป กรมสรรพสามิตก็จัดเก็บรายได้เกินเป้าหมายอยู่แล้ว ส่วนจะมีการขยายเวลาการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลต่ออีกหรือไม่ คงต้องคุยร่วมกับกระทรวงพลังงานด้วย รวมทั้งพิจารณาปัจจัยหลาย ๆ อย่างประกอบ ทั้ง ราคาน้ำมัน ณ วันนั้นเป็นเท่าไหร่ สถานะของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงว่าตอนนั้นเป็นอย่างไร ตอนนี้ยังมีเวลาอีกพอสมควร” ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าว

เพดานหนี้ภาครัฐ

ส่วนกรณีการออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ให้อำนาจกระทรวงการคลังค้ำประกันการชำระหนี้ของสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. และการกู้ยืมเงินของสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) วงเงิน 1.5 แสนล้านบาทนั้น ปลัดกระทรวงการคลัง ระบุว่า การกู้เงินต้องดูสภาพคล่องของหน่วยงานเป็นหลัก เพราะไม่ใช่ว่าขาดเท่าไรก็กู้เท่านั้น แต่เป็นเรื่องของกระแสเงินสดของหน่วยงานที่มีทั้งเข้าและออก ดังนั้นก็อาจจะไม่จำเป็นต้องกู้ถึง 1.5 แสนล้านบาท ส่วนหนี้ของ สกนช. นับเป็นหนี้สาธารณะ แต่หน่วยงานจะต้องมีหน้าที่ในการชำระคืนเอง ซึ่งเป็นไปตามหลักการของกฎหมาย

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo