Economics

ขึ้นก็เหมือนไม่ขึ้น! ‘อนุสรณ์ ธรรมใจ’ ระบุ ‘ขึ้นค่าแรง’ ต่ำกว่าเงินเฟ้อ ก็คือ ไม่ได้ปรับ

“อนุสรณ์” ระบุ ขึ้นค่าแรง ต่ำกว่าเงินเฟ้อ เท่ากับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่แท้จริง ไม่ได้ปรับเพิ่มขึ้น แนะ ธปท.ชะลอขึ้นดอกเบี้ย ซ้ำเติมเศรษฐกิจ

วันนี้ (28 ส.ค.) รศ.ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ ประธานกรรมการบริหารสถาบันปรีดี พนมยงค์ อดีตกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ สภาวิจัยแห่งชาติ สาขาเศรษฐศาสตร์ และอดีตผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนานโยบายสาธารณะ สำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า การปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ ในระดับที่ต่ำกว่าเงินเฟ้อของคณะกรรมการไตรภาคีนั้น เท่ากับว่า อัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่แท้จริงไม่ได้ปรับเพิ่มขึ้นเลย

โดยปรับขึ้นสูงสุด 354 บาท ต่ำสุด 328 บาท นั้น คิดเป็นอัตราค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 337 บาท เป็นการปรับเพิ่มขึ้นเพียง 5.02% ขณะที่เงินเฟ้อในเดือน กรกฎาคม ยังทรงตัวในระดับสูง เพิ่มขึ้น 7.61% แม้จะชะลอตัวลงจากเดือนก่อน ผลจากราคาพลังงาน และอาหารอยู่ในระดับสูง

ขึ้นค่าแรง

คาดการณ์ว่า แรงกดดันเงินเฟ้อ อาจปรับเพิ่มอีกในระยะต่อไป จากราคาน้ำมันที่อาจกลับมาทะลุระดับ 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลได้ จากการลดกำลังการผลิตของกลุ่มเอเปคพลัส การขาดแคลนปุ๋ย และราคาปุ๋ยแพง จะทำให้อุปทานของอาหาร และธัญพืชไม่เพียงพอต่อความต้องการ ดันให้ราคาขึ้นสูงรอบใหม่ได้

การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเพียง 5% ถือว่าไม่สอดคล้องกับค่าครองชีพ และจะกลับมาซ้ำเติมปัญหาหนี้ครัวเรือน ให้กลับไปทะลุระดับ 90% ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) อีกครั้งหนึ่ง จะทำให้ครอบครัวรายได้น้อยต้องก่อหนี้เพิ่ม การก่อหนี้เพิ่มเพื่อให้เพียงพอต่อการดำรงชีพในภาวะค่าครองชีพแพงเช่นนี้ จะถูกซ้ำเติมโดยดอกเบี้ยขาขึ้น

ทั้งนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จึงไม่จำเป็นต้องเร่งขึ้นดอกเบี้ยแต่อย่างใด ขอให้ดูการตัดสินใจของธนาคารกลางจีน และธนาคารกลางญี่ปุ่น ที่ยังคงใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย เพื่อประคับประคองเศรษฐกิจ โดยไม่ต้องกังวลแรงกดดันเงินเฟ้อมากเกินไป

เศรษฐกิจไทยช่องว่างระหว่างระดับของผลผลิตที่เกิดขึ้นจริง (Actual GDP) กับระดับผลผลิตที่ระดับศักยภาพเรียกว่า ช่องว่างการผลิต (Output Gap) ยังติดลบมากอุปสงค์ของประเทศขยายตัวไม่สูงมากนักแม้นกระเตื้องขึ้น ผลผลิตที่เกิดขึ้นจริงและระดับอุปสงค์ยังต่ำกว่าระดับความสามารถการผลิตของประเทศ (Excess Supply) หรือการใช้ ศักยภาพในการผลิตไม่เต็มที่ ส่งผลให้ Output Gap เป็นลบ

ขึ้นค่าแรง
อนุสรณ์ ธรรมใจ

การเปิดกว้างของเศรษฐกิจไทย หากเกิดเงินเฟ้อจากแรงดึงอุปสงค์ขึ้น ความต้องการส่วนเกินสามารถถูกทดแทนได้ด้วยการนำเข้าจากต่างประเทศ ทำให้ดุลการค้า และดุลบัญชีเดินสะพัดลดการเกินดุล หรือขาดดุล คาดการณ์ว่า ดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดจะเกินดุลเพิ่มขึ้น ฉะนั้นปัญหาเสถียรภาพราคาจากแรงดึงอุปสงค์จึงไม่ใช่ปัญหาของเศรษฐกิจไทยเวลานี้

ส่วนทางด้านส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ย และเงินไหลออก ก็ไม่ใช่เรื่องที่ต้องวิตกกังวลเกินไป ส่วนใหญ่เป็นเงินทุนระยะสั้นไหลออกจากภาคการเงินเพราะดอกเบี้ยเป็นเพียงปัจจัยหนึ่งในหลายๆปัจจัยที่ส่งผลต่อการเคลื่อนย้ายเงินทุนเท่านั้น และเงินทุนเคลื่อนย้ายส่วนใหญ่เป็นเงินทุนระยะสั้น

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo