Economics

ครัวเรือนใช้ไฟพุ่ง! วางกฎบังคับ ‘บ้านต้องประหยัดพลังงาน’ เท่านั้น

สมาร์ทโฟน  ออนไลน์ 24 ชม. ทั้งเล่นโซเชียลมีเดีย ดูหนัง ฟังเพลง คอมพิวเตอร์ประจำบ้าน ไหนจะสมาร์ททีวี ตู้เย็น แอร์ ทำให้บ้านอยู่อาศัยวันนี้ ใช้ไฟเป็นสัดส่วนอันดับ 3 ของประเทศราว 20% และกำลังไล่ตามติดการใช้ไฟในภาคอุตสาหกรรมที่การใช้ไฟฟ้าอยู่ในสัดส่วน 36-37% ขณะที่ภาคขนส่งใช้ไฟเป็นอันดับ 1 สัดส่วน 40%

นอกจากนี้ยังมีปัจจัยจากการขยายตัวของเมือง ทำให้จำนวนบ้านอยู่อาศัยเพิ่มขึ้นปีละ 5 แสนหลัง จากวันนี้ที่มีอยู่แล้ว 25 ล้านหลังทั่วประเทศ ทั้งหมดนี้ทำให้การใช้ไฟฟ้าแต่ละปี มีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่องปีละ 3%  หรือเฉลี่ยแล้ว ปัจจุบันบ้านอยู่อาศัยขนาดทั่วไป 100-120 ตรม.จะใช้ไฟประมาณ 500 หน่วยค่าไฟ 1,000-3,000 บาทต่อเดือน

ข้อมูลจาก กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) กระทรวงพลังงาน ระบุว่า สัดส่วนจำนวนบ้านเรือนที่มีการใช้ไฟเกินทั่วประเทศเฉลี่ยราว 40 % เลยทีเดียว คิดเป็นมูลค่าความสิ้นเปลืองราว 10,000 ล้านบาท ซึ่งมีสาเหตุหลักจากการใช้พลังงานในระบบปรับอากาศที่เกินความจำเป็น

วันนี้พพ. เลยกำลังคิดออกกฎควบคุมการใช้พลังงานในบ้านอยู่อาศัยคล้ายควบคุมอาคารที่่มีกฎหมายบังคับ โดยให้ต้องเป็นบ้านอนุรักษ์พลังงาน ผูกโยงกับกฎระเบียบการขอแบบก่อสร้างบ้าน แนวทางที่พพ.จะทำก็คือ หากไม่เป็นบ้านอนุรักษ์พลังงาน กทม.หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น  (อปท.) จะไม่อนุมัติอนุญาตให้ก่อสร้างบ้าน เป็นต้น แต่กว่าจะไปถึงขึ้นบังคับได้ คาดว่ากฎข้อบังคับจะใช้ในอีก  5 ปีข้างหน้า

ผอ.สาร์รัฐ พพ.
สาร์รัฐ ประกอบชาติ

นายสาร์รัฐ ประกอบชาติ ผู้อำนวยการ สำนักส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน พพ. บอกว่า ในเบื้องต้นจะมุ่งเน้นการส่งเสริม และการสร้างความร่วมมือก่อน  โดยจะทำเป็นขั้นเป็นตอน 4 ลำดับ ดังนี้

  1. ให้ข้อมูลกับประชาชน เพื่อ การรับรู้ถึงการมีส่วนร่วมประหยัดพลังงาน
  2. สร้างความมั่นใจว่าบ้านอนุรักษ์พลังงานทำได้จริงในทางปฏิบัติ
  3. ขยายผล ทำให้มีบ้านประหยัดพลังงานมากขึ้น โดยจะร่วมมือกับสมาคมต่างๆ ผู้ประกอบการบ้านจัดสรร และผู้ประกอบการรับสร้างบ้าน รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กทม. และอปท. เป็นต้น
  4. ร่วมมือกับสถาบันการเงิน เพื่อจัดเงินกู้อัตราพิเศษให้บ้านประหยัดพลังงาน

ภาพประกอบข่าว 2

“เป้าหมายของเรา คือ การประหยัดพลังงานให้กับประเทศ  โดยตั้งเป้าลดปริมาณการใช้พลังงานภาคที่อยู่อาศัยรวมลงประมาณ 13,633 กิกะวัตต์ชั่วโมงภายในปี 2579 ซึ่งจะถูกบรรจุในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (พีดีพี) ฉบับใหม่ด้วย” นายสาร์รัฐ กล่าว

สำหรับข้อกังวลของผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์นั้น นายสาร์รัฐ บอกว่า เป็นเรื่องต้นทุนการก่อสร้างบ้านประหยัดพลังงานแต่ละหลังที่สูงขึ้น และความไม่มั่นใจว่าจะมีตลาดรองรับมากพอ แต่จริงแล้วไม่น่าจะเป็นอุปสรรค เพราะทุกคนทราบดีว่าการประหยัดพลังงานเป็นเทรนด์ของโลก ปัจจุบันคนทั่วโลก รวมถึงคนไทยมีความตระหนักถึงการมีส่วนร่วมประหยัดพลังงานมากขึ้น  ทำให้ความต้องการบ้านประหยัดพลังงานสูงตามลำดับ นอกจากนี้ยังเชื่อว่าการมุ่งเน้นบ้านประหยัดพลังงาน ยังจะเป็นการส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีให้กับผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์อีกด้วย

แบบบ้านรักษ์พลังงาน 3
แบบบ้านรักษ์พลังงาน

สำหรับกลุ่มบ้านประหยัดพลังงานที่จะออกเป็นมาตรการบังคับในอนาคตนั้น จะมุ่งเน้นบ้านขนาดใหญ่ที่มีการใช้ไฟฟ้าสูงในแต่ละเดือน เช่น ค่าไฟฟ้าราว 10,000 บาท ส่วนบ้านอยู่อาศัยขนาดปานกลางถึงเล็กก็จะทำในรูปแบบการส่งเสริม โดยปัจจุบันพพ.มีแบบบ้านประหยัดพลังงานให้ดาวนโหลดฟรี พร้อมพิมพ์เขียวสามารถนำไปสร้างได้เลยถึง 12 แบบ ใช้เงินค่าก่อสร้างตั้งแต่ 7 แสนบาทจนถึงประมาณ 2 ล้านบาท

ส่่วนในระยะยาว พพ.กำลังวิจัยศึกษา พร้อมรับฟังข้อเสนอแนะจากกลุ่มต่างๆ  เพื่อให้มีข้อมูลการใช้ไฟฟ้าในบ้านอยุู่อาศัยมากพอ ที่จะนำไปพัฒนากฎเกณฑ์ในอนาคต โดยล่าสุดได้มอบให้ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ทำ “โครงการศึกษาเพื่อจัดทำเกณฑ์มาตรฐานประสิทธิภาพพลังงานของบ้านอยู่อาศัย” โดยใช้งบจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน วงเงิน 10 ล้านบาท โดยวันนี้ ( 22 ม.ค.) ได้มีการนำเสนอข้อสรุปผลการศึกษา

สำหรับร่างหลักเกณฑ์ที่มีการศึกษานั้น สาระสำคัญได้วางกรอบ ที่อยู่อาศัยที่จะได้ชื่อว่า “บ้านประหยัดพลังงาน” ควรมีเกณฑ์ ดังนี้

  • บ้านเดี่ยว ควรมีค่าประสิทธิภาพการใช้พลังงานไฟฟ้าไม่เกิน 25 กิโลวัตต์-ชั่วโมง/ตร.ม.-ปี
  • ห้องแถว ทาวน์เฮาส์ บ้านแฝด ควรมีค่าประสิทธิภาพการใช้พลังงานไฟฟ้าไม่เกิน 44 กิโลวัตต์-ชั่วโมง/ตร.ม.-ปี

นอกจากนี้เสนอให้มีการร่างเกณฑ์มาตรฐานประสิทธิภาพพลังงานของบ้านอยู่อาศัย สำหรับปี 2562 – 2564 ให้ใช้กับบ้านเดี่ยว บ้านแฝด และบ้านแถว (ทาวส์เฮ้าส์) ที่ยื่นขออนุญาตก่อสร้างในปี 2562 เป็นต้นไป

ส่วนบ้านขนาดเล็กไม่อยู่ในขอบข่ายของเกณฑ์มาตรฐานนี้ คือ บ้านที่ไม่มีแอร์ หรือมีการใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 13 กิโลวัตต์ชั่วโมงต่อตรม.ต่อปี สร้างก่อนปี 2562 มีลักษณะการใช้งานเชิงพาณิชย์ อาคารชุด คอนโดมิเนียม หรือ อพาร์ทเม้นท์

20190122 135622
รุ่งโรจน์ วงศ์มหาศิริ

ขณะเดียวกันทีมศึกษายังได้ยังพัฒนา“โปรแกรมคำนวนการใช้พลังงานในบ้าน” โดยคำนวณค่าพลังงานไฟฟ้าตลอดทั้งปี ในระบบปรับอากาศและระบบไฟฟ้าแสงสว่างของบ้าน เทียบกับพื้นที่ใช้สอยที่มีการใช้อุปกรณ์ไฟฟ้า แล้วเปรียบเทียบกับตัวเลขมาตรฐานประสิทธิภาพพลังงาน

ทั้งนี้เพื่อให้เป็นตัวช่วยประชาชน พิจารณาสภาพการใช้ไฟฟ้าในบ้าน บนดิจิทัลแพลตฟอร์มง่ายๆ ด้วยบิลค่าไฟย้อนหลัง และแปลนบ้านอีโค่ออนไลน์ เพื่อเป็นแนวทางการออกแบบบ้านอนุรักษ์พลังงานที่เหมาะกับสภาพแวดล้อมประเทศไทย

ประชาชนสามารถดาวน์โหลดใช้งานได้ง่ายๆ ผ่านดิจิทัลแพลตฟอร์มที่ www.dede.go.th หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมพัฒนาพลังงานทดแทน และอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) กระทรวงพลังงาน โทรศัพท์ 02-223-0021 หรือเข้าไปที่ www.dede.go.th และเฟซบุ๊กแฟนเพจ  www.facebook.com/dedefthailand

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ รุ่งโรจน์ วงศ์มหาศิริ อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง หัวหน้าโครงการศึกษาเพื่อจัดทำเกณฑ์มาตรฐานประสิทธิภาพพลังงานของบ้านอยู่อาศัย ยืนยันว่า หนึ่งในเทรนด์บ้านที่กำลังมาแรง แน่นอนเป็น บ้านที่มีระบบการจัดการพลังงานที่เหมาะสม หรือ บ้าน“อีโค่” ที่รองรับกับความต้องการของตลาดเทคโนโลยีที่อยู่อาศัย และความจำเป็นในการจัดสรรพลังงาน เพื่อไปบริหารเทคโนโลยีใหม่ๆ อาทิ ระบบพลังงานทดแทน AI ในบ้านอยู่อาศัย รถพลังงานไฟฟ้า ฯลฯ

อย่างไรก็ตามการออกแบบบ้านในประเทศส่วนใหญ่ ยังตกอยู่ภายใต้กลไกทางการตลาด ที่เน้นความสวยงาม ดังนั้นก่อนการตัดสินใจเลือกซื้อบ้านใหม่ จึงควรพิจารณาข้อสังเกตง่ายๆ ที่จะทำให้ทราบว่าบ้านดังกล่าว มีระบบการจัดการพลังงาน และการออกแบบที่เหมาะสม 5 หัวข้อ ได้แก่

แบบบ้านรักษ์พลังงาน 1
แบบบ้านอนุรักษ์พลังงาน

1.ชายคาขั้นต่ำ 2 เมตร หรือการบังแดดให้ผนัง – ช่องเปิดอาคารด้วยวิธีอื่นๆ 

เนื่องจากสาเหตุหลักของการใช้ไฟเกินของระบบปรับอากาศ มาจากโครงสร้างบ้านที่ไม่มีร่มเงาจากต้นไม้ หรือ ชายคาบังแดดให้กับตัวบ้าน โดยระยะชายคาที่เหมาะสม ควรไม่ต่ำกว่า 2 เมตร เนื่องจากจะช่วยบังแดดให้ได้ทั้งตัวบ้าน ช่วยให้ระบบปรับอากาศทำงานได้อย่างเหมาะสม

2.หลังคาทรงสูง พร้อมฉนวนกันความร้อน

หลังคาที่อยู่อาศัยส่วนใหญ่มักเป็นทรงเตี้ย ซึ่งนอกจากจะระบายความร้อนได้ยากกว่าแล้ว ยังเป็นปัจจัยให้เกิดน้ำซึมหลังคา โดยควรพิจารณาหลังคาบ้านที่ทำมุมเป็นทรงสูง ไม่ต่ำกว่า 30-35 องศา พร้อมมีการใช้วัสดุฉนวนกันความร้อนบริเวณเหนือฝ้าเพดานในช่องว่างใต้หลังคา เทียบเท่าฉนวนใยแก้ว ความหนา 3 นิ้ว เป็นอย่างน้อย

3.กระจกบ้าน

ควรเลือกใช้กระจกที่เป็นสีชา หรือสีเขียว ที่ช่วยกรองแสงได้ในระดับหนึ่ง และกรอบหน้าต่างจากวัสดุไวนิล ที่นำความร้อนได้น้อยกว่ากรอบหน้าต่างจากเหล็ก

4.ตำแหน่งหน้าต่าง จะช่วยระบายความร้อน 

จากการศึกษาพบว่า ห้องที่มีหน้าต่างเพียงบานเดียว จะมีการระบายความร้อนที่น้อยกว่าห้องที่มีหน้าต่างหลายบาน โดยควรพิจารณาตำแหน่งหน้าต่างให้อยู่ตรงข้ามกัน หรืออย่างน้อยควรทำมุม 90 องศา เพื่อให้มีการไหลเวียนเข้าออกของอากาศ

5.เครื่องใช้ไฟฟ้ามาตรฐานพลังงาน

ควรเลือกใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าทุกชนิดที่ได้รับฉลากเบอร์ 5 และการออกฉลากรับรองมาตรฐานบ้านประหยัดพลังงาน และมีจำนวนที่เหมาะสม ไม่มากหรือน้อยเกินความจำเป็น

Avatar photo