Economics

‘นฤมล’ ชี้ ‘เงินบาท-สถาบันการเงิน’ ไทย ยังดีอยู่ ไร้แววซ้ำรอย ‘วิกฤติต้มยำกุ้ง ‘

“นฤมล” ช่วยคลายกังวล ชี้ “เศรษฐกิจไทย” ปัจจุบัน แตกต่างจากเมื่อครั้งเกิด “วิกฤติต้มยำกุ้ง”  ระบุ “เงินบาท” ลอยตัวแบบมีการจัดการ “สถาบันการเงิน” แข็งแกร่ง ช่วยให้ผ่านสถานการณ์ “เศรษฐกิจถดถอย” ไปได้ แม้จะมีความเสี่ยงจาก “หนี้ครัวเรือน”

วันนี้ (5 ส.ค.) ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ เหรัญญิก พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กเพจ ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ กล่าวถึงข้อสงสัยของหลายคนในเรื่องที่ว่า เศรษฐกิจไทย จะตกอยู่ในภาวะเดียวกับวิกฤติต้มยำกุ้ง เมื่อปี 2540 หรือไม่ โดยระบุว่า 

วิกฤติต้มยำกุ้ง

#ไม่มีต้มยำกุ้ง แต่อาจมีต้มข่าไก่

เมื่อวาน ธนาคารกลางอังกฤษ ประกาศขึ้นดอกเบี้ย 0.5% ไปอยู่ที่ 1.75% เป็นการเพิ่มสูงสุดในรอบ 27 ปี เพื่อจัดการกับอัตราเงินเฟ้อที่สูงถึง 9.4% และคาดว่าเดือนตุลาคมนี้ อัตราเงินเฟ้อของอังกฤษ จะไปแตะระดับสูงสุดที่ 13.3% แล้วจะค่อย ๆ ลดลงสู่กรอบเงินเฟ้อ 2% ในเวลาอีก 3 ปีข้างหน้า

ของไทยเรา คาดว่า ขึ้นอัตราดอกเบี้ยแน่ แต่จะขึ้นเท่าไร รอผลการประชุม กนง. สัปดาห์หน้า วันนี้ กระทรวงพาณิชย์ประกาศอัตราเงินเฟ้อ ลดลงจากเดือนที่แล้วเล็กน้อยมาอยู่ที่ 7.61% ต่ำกว่าเดิมที่คาดการณ์ไว้ที่ 8.0%

ดูตัวเลขแล้ว หลายคนถามมาว่า เศรษฐกิจโลกถดถอย เงินเฟ้อสูง ดอกเบี้ยขาขึ้น หลายประเทศสถานะการคลังย่ำแย่ ของไทยเรา จะเกิดวิกฤติต้มยำกุ้งเหมือนปี 2540 ไหม

ในการบริหารความเสี่ยง คงต้องมองทั้งด้านบวกและด้านลบ

ด้านลบ ที่เป็นจุดเปราะบาง คือ หนี้ครัวเรือน ดอกเบี้ยขาขึ้นนำไปสู่ภาระหนี้ที่เพิ่มขึ้น ฉุดรั้งกำลังซื้อในตลาด และเสี่ยงต่อการเกิดหนี้เสีย ก็ได้เห็นความพยายามของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปช่วยเหลือให้ความรู้ และแนะนำแนวทางป้องกันหนี้เสียให้ภาคครัวเรือนในระดับหนึ่งแล้ว

วิกฤติต้มยำกุ้ง
ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์

หันมาดูด้านบวก ในสถานการณ์ปัจจุบันของไทย มีปัจจัยบวก 2 จุดสำคัญ ที่จะไม่ทำให้ไทยเกิดวิกฤติต้มยำกุ้งแบบปี 2540 คือ

1. เงินบาทตอนช่วงวิกฤติต้มยำกุ้งยังใช้ระบบ peg คือ ผูกกับค่าเงินดอลลาร์แบบตายตัว แต่วันนี้ ค่าเงินบาทลอยตัวแบบมีการจัดการ (managed float) และค่าเงินดอลลาร์ตอนนั้นอ่อนค่ามาก แต่ปัจจุบันเงินดอลลาร์แข็งค่า

2.สถาบันการเงินของไทยยังมีผลการดำเนินงาน และสถานะการเงินที่เข้มแข็ง อัตราส่วนที่วัดค่าความเสี่ยงด้านต่าง ๆ ของธนาคารยังอยู่ในระดับที่ดีมาก ไม่ได้มีอาการที่จะเสี่ยงล้มเหมือนในอดีต

แต่ในครั้งนี้ สองจุดบวกที่ว่า หากรัฐบาล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าใจ และพิจารณาให้ละเอียด นำมากำหนดนโยบายการเงินการคลังที่เหมาะสม พร้อมกับวางนโยบายเศรษฐกิจ เพื่อการฟื้นตัวในระยะยาวมากกว่าการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ระยะสั้น เราจะผ่านสถานการณ์นี้ไปได้อย่างแน่นอน

ถ้ากำหนดนโยบายอย่างเข้าใจ และแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง รอบนี้ไม่มีต้มยำกุ้งนะคะ

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo