Economics

‘ผู้ว่าฯ ธปท.’ มองเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวชัดเจนขึ้น ลั่น ‘กนง.’ นัดพิเศษยังไม่จำเป็น!

“ผู้ว่าฯ ธปท.” ยันไม่จำเป็นต้องประชุม “กนง.” นัดพิเศษ ชี้ปัจจัยเศรษฐกิจยังอยู่ในกรอบที่คาด ประเมินเงินเฟ้อไตรมาส 3/65 อยู่ที่ 7.5% ก่อนย่อตัวลงในไตรมาส 4/65

ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ขณะนี้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวชัดเจนขึ้น จากการบริโภคภาคเอกชนและภาคการท่องเที่ยว หลังภาครัฐผ่อนคลายมาตรการต่าง ๆ จากสถานการณ์โควิด-19 และคาดว่าการฟื้นตัวจะเป็นไปอย่างต่อเนื่อง โดยคาดเศรษฐกิจไทย 2565 ขยายตัว 3.3% และปี 2566 ขยายตัว 4.2%

ธปท.

การฟื้นตัวในแต่ละภาคเศรษฐกิจยังไม่ทั่วถึง

ทั้งนี้ภาครัฐ และ ธปท. จึงต้องผสมผสานนโยบายการคลังและการเงินอย่างเต็มที่ เพื่อช่วยให้เศรษฐกิจทยอยฟื้นตัวได้และระบบสถาบันการเงิน ยังทำงานได้ตามปกติ ซึ่งที่ผ่นมาทำได้ดี สะท้อนจากสินเชื่อระบบธนาคารพาณิชย์ไทยในปี 2563-2564 ยังโตได้ดีที่ 5-6% เทียบกับก่อนโควิดที่ 4-5%

อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวในแต่ละภาคเศรษฐกิจยังไม่ทั่วถึง (K-shaped) กลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวกับการส่งออกฟื้นตัวได้ดีเกินกว่าช่วงก่อนโควิดไปแล้ว ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวแม้ฟื้นตัวเร็วกว่าคาด แต่ยังต่ำกว่าระดับก่อนโควิดค่อนข้างมา ปีนี้คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวจะอยู่ที่ 6 ล้านคน หรือ 15% ของจำนวนก่อนโควิด

ด้านอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มปรับสูงขึ้นจากปัจจัยราคาน้ำมันที่ปรับสูงขึ้นจากสงครามรัสเซีย-ยูเครนเป็นหลัก และส่งผ่านไปยังต้นทุนในประเทศมากขึ้น ทั้งราคาอาหารสดและก๊าซหุงต้มที่ส่งผ่านไปราคาอาหารสำเร็จรูป ต้นทุนเคมีภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์ และ ค่าขนส่งที่ โดยเงินเฟ้อในไตรมาส 3/65 อยู่ที่ 7.5% ก่อนย่อตัวลงในไตรมาส 4/65 อยู่ที่ 5.9% ทำให้ปี 2565 คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปใอยู่ที่ 6.2% และจะลดลงในปี 2566 อยู่ที่ 2.5%

ธปท.

ไม่จำเป็นต้องประชุม “กนง.”นัดพิเศษ

“ขอย้ำว่า ยังไม่มีความจำเป็นที่ต้องประชุมกนง.นัดพิเศษ เพราะปัจจัยเศรษฐกิจต่างๆ ยังอยู่ในกรอบที่เราคาดไว้ ซึ่งรวมไปถึงเงินเฟ้อด้วย” ดร.เศรษฐพุฒิ กล่าว

สำหรับเป้าหมายสำคัญของการดำเนินนโยบายในช่วงนี้ เพื่อให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวต่อเนื่องไม่สะดุด ประกอบด้วย 2 ส่วนหลัก คือ

  1. เงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำ ไม่ผันผวน หรือมีเสถียรภาพด้านราคา เพราะเงินเฟ้อที่สูงจะส่งผลต่อความอยู่ของประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางอย่างผู้มีรายได้น้อย ดังนั้น หากเงินเฟ้อสูงต่อเนื่องนาน จะทำให้คนคิดว่าเงินเฟ้อจะสูงต่อไปเรื่อย ๆ และ ยากที่จะปรับลดลง ผู้ประกอบการจึงอาจปรับขึ้นราคาสินค้า และ ลูกจ้างอาจขอขึ้นค่าจ้างต่อเนื่อง ซึ่งจะยิ่งทำให้เงินเฟ้อเพิ่มเร็วขึ้น
  2. ระบบการเงินและระบบสถาบันการเงิน ทำงานได้ตามปกติ เพราะเศรษฐกิจไทยยังพึ่งพาภาคธนาคารเป็นหลัก จากสินเชื่อจากธนาคารและ non-banks รวมถึงการทำหน้าที่เป็นกลไกส่งผ่านการช่วยเหลือไปยังลูกหนี้เปราะบางและสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ซึ่งปัจจุบันสินเชื่อระบบธนาคารพาณิชย์ยังโตได้ดี ขณะที่ NPL ต้องไม่เร่งขึ้นเร็วจนทำให้บริหารจัดการไม่ได้ ซึ่งปัจจุบันสัดส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPL ratio) ยังต่ำต่อเนื่อง

“เมื่อเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวการคงมาตรการการเงินที่ส่งผลเป็นวงกว้างไว้นานเกินไป อาจบิดเบือนกลไกการทำงานและ ลดทอนประสิทธิภาพของระบบสถาบันการเงิน ในระยะยาวได้ เช่น การคงมาตรการลดอัตราเงินนำส่งเข้ากองทุน FIDF ออกไปอีก อาจทำให้สถาบันการเงินบริหารความเสี่ยงไม่เหมาะสม อีกทั้งยังกระทบภาระทางการคลัง ขณะที่การจำกัดการจ่ายปันผลเป็นเวลานานอาจกระทบความเชื่อมั่นของนักลงทุน” ผู้ว่าฯ ธปท. กล่าว

ธปท.

ส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ย

ทั้งนี้ ภายใต้ภาวะที่เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวชัดเจน ท่ามกลางเงินเฟ้อที่สูง มองว่านโยบายดอกเบี้ยไม่สามารถจัดการได้เงินเฟ้อที่สูงได้โดยตรง แต่จะช่วยสร้างความมั่นใจกับประชาชนว่านโยบายการเงินจะดูแลเงินเฟ้อไม่ให้สูงขึ้นต่อในระยะข้างหน้า แต่ในทางกลับกันหากยังไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย จะทำให้ต้นทุนการกู้ยืมที่แท้จริงลดลงไปอีก ซึ่งปัจจุบันดอกเบี้ยที่แท้จริงยังติดลบที่ 5.70% และ ธุรกิจมีต้นทุนการกู้ยืมที่แท้จริงผ่านการออกตราสารหนี้ติดลบที่ 4.3% ต่ำกว่าสิ้นปีก่อนมากที่ 0.2%

อย่างไรก็ตาม การขึ้นดอกเบี้ยที่จะไม่ทำให้เศรษฐกิจสะดุด ควรทำแต่เนิ่น ๆ เมื่อเห็นสัญญาณ เพราะการส่งผ่านนโยบายการเงินหากช้าเกินไป อาจทำให้เครื่องยนต์เงินเฟ้อติด และ ต้องเร่งขึ้นดอกเบี้ยแรงขึ้นอีก เพื่อดูแลภายหลัง ซึ่งจะเป็นผลเสียต่อเศรษฐกิจ และ ประชาชนมากขึ้น แต่การขึ้นดอกเบี้ยควรทำแบบค่อยเป็นค่อยไป เพื่อไม่ให้ต้นทุนทางการเงินสูงเร็วไป จนประชาชนและภาคธุรกิจปรับตัวไม่ทัน และ ทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจสะดุด

“การปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของไทยไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับต่างประเทศ เพราะบริบทเศรษฐกิจการเงินต่างกัน เช่น เศรษฐกิจสหรัฐฯ ฟื้นตัวกลับมาดีกว่าช่วงก่อนโควิดแล้วตั้งแต่ครึ่งแรกของปี 64 และ เงินเฟ้อสูงขึ้นมากจากอุปสงค์ ในประเทศที่ขยายตัวดีจึงต้องเร่งขึ้นดอกเบี้ยเพื่อดูแลให้เศรษฐกิจไม่ร้อนแรง และ เกิด soft landing ขณะที่ไทยเพิ่งเริ่มฟื้นตัวการขึ้นดอกเบี้ยจึงต้องทำแบบค่อยเป็นค่อยไป เพื่อให้เป็น smooth take-off” ดร.เศรษฐพุฒิ กล่าว

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo