Economics

‘ใบขับขี่อัจฉริยะ’ สวยหรู….แต่ใช้ไม่ได้!

กลายเป็น Talk of The Town ไม่น้อย สำหรับการเปิดตัวแอพพลิเคชัน DLT QR Licence ของกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ที่ให้บริการ “ใบขับขี่ดิจิทัล หรือ ใบขับขี่อัจฉริยะ” ผ่านสมาร์ทโฟน เพราะแทนที่แอพพลิเคชันนี้จะสร้างความสะดวกสบายตามคอนเซ็ปต์ Thailand 4.0 แต่กลับสร้างความสับสนให้กับประชาชนแทน

กรมการขนส่งฯ แง้มว่าจะเปิดตัวแอพพลิเคชันนี้ตั้งแต่ปลายปี 2561 โดยชูจุดเด่นเรื่องการเชื่อมโยงข้อมูลในใบขับขี่ไปอยู่บนแอพพลิเคชัน ซึ่งใบขับขี่ดิจิทัลที่ปรากฏบนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ จะมีความเสมือนจริงทั้งด้านหน้าและด้านหลัง สามารถใช้แสดงเมื่อถูกเรียกตรวจ ซึ่งจะช่วยเพิ่มความคล่องตัวให้ผู้ถือใบขับขี่ทุกประเภท กรณีที่หลงลืม ไม่พกพาใบขับขี่ฉบับจริงไว้กับตัว

ในอนาคตคนไทยไม่จำเป็นต้องพกบัตรใบขับขี่ติดตัวอีกต่อไป โดยสามารถแสดงใบขับขี่ได้จากหน้าจอมือถือทันที คาดว่าจะเริ่มเปิดใช้ใบขับขี่อัจฉริยะในช่วงกลางเดือนมกราคม 2562 ส่วนด้านเจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถตรวจสอบความถูกต้องของบัตรได้โดยการสแกนคิวอาร์โค้ดในแอพพลิเคชัน นายพีระพล ถาวรศุภเจริญ อธิบดีกรมการขนส่งทางบก กล่าวไว้เมื่อเดือนธันวาคม 2561

ใบขับขี่

แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งเป็นผู้บังคับใช้กฎหมายหลักเกี่ยวกับใบขับขี่กลับออกปฏิเสธว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจจะไม่รับและเรียกตรวจใบขับขี่ดิจิทัล จะรับเฉพาะใบขับขี่ตัวจริงเท่านั้น ถ้าหากขอตรวจค้นแล้วไม่พบใบขับขี่ตัวจริง ก็จะโดนโทษฐานไม่พกใบขับขี่ตามระเบียบ!

แม้เริ่มมีสัญญาณดราม่ากรุ่นๆ แต่กรมการขนส่งฯ ยังเดินหน้าเปิดให้ผู้ถือใบขับขี่ที่มี QR Code อยู่ด้านหลังประมาณ 8 ล้านใบ จากทั้งหมด 33 ล้านใบทั่วประเทศ สามารถใช้ใบขับขี่ดิจิทัลผ่านแอพพลิเคชัน DLT QR Licence ได้ตั้งแต่วันที่ 15 มกราคมที่ผ่านมา

สังคมและชาวโซเชียลจึงเกิดความงงงวยและเมาท์กันสนั่นว่า เกิดอะไรขึ้นระหว่างทั้ง 2 หน่วยงาน เพราะเมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ยอมรับใบขับขี่ดิจิทัลแล้ว แอพพลิเคชันนี้จะมีประโยชน์อะไร? ทำไมกรมการขนส่งฯ กับตำรวจถึงไม่ประสานงานมาก่อนหน้านี้? รวมถึงการลงทุนทำใบขับขี่ดิจิทัลจะเป็นการเสียงบประมาณของรัฐบาลโดยเปล่าประโยชน์ (อีกครั้ง) หรือไม่?

2 5
ใบขับขี่ดิจิทัล

“จันทิรา บุรุษพัฒน์” ผู้อำนวยการสำนักงานขนส่งกรุงเทพมหานครพื้นที่ 5 กรมการขนส่งทางบก ออกมาอธิบายเรื่องนี้ว่า ประชาชนสามารถใช้ใบขับขี่ดิจิทัลแทนใบขับขี่จริง 100% เมื่อติดต่อกับกรมการขนส่งฯ ยกตัวอย่างเช่น ถ้าทำใบขับขี่หายหรือหมดอายุ ตามปกติก็ต้องนำบัตรประชาชนไปขอทำใบขับขี่ใหม่ แต่หลังจากนี้จะสามารถนำใบขับขี่ดิจิทัล ไปขอออกใบขับขี่ใหม่ได้โดยไม่ต้องพกบัตรประชาชนไปด้วย

นอกจากนี้ ใบขับขี่ดิจิทัลสามารถใช้ติดต่อกับเจ้าหน้าที่กรมการขนส่งฯ ได้สะดวกสบาย เช่น กรณีที่มีการตั้งด่านหรือเรียกตรวจต่างๆ แต่ยอมรับว่าผู้ที่ติดต่อกับเจ้าหน้าที่กรมการขนส่งฯ ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มผู้ขับรถขนส่งสาธารณะ เช่น รถแท็กซี่ รถเมล์ รถทัวร์ หรือรถบรรทุก ส่วนประชาชนจะใช้ใบขับขี่ติดต่อกับเจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นส่วนใหญ่

ส่วนสาเหตุที่ยังไม่สามารถใช้ใบขับขี่ดิจิทัลกับเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ในตอนนี้ เพราะต้องรอการแก้ไข พ.ร.บ.จราจร ฉบับใหม่เสียก่อน โดยต้องตัดมาตราที่ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องยึดใบขับขี่ตัวจริงออกไป ซึ่งล่าสุดการปรับปรุงกฎหมายฉบับนี้ก็อยู่ในวาระที่ 2 ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และเมื่อกฎหมายฉบับนี้บังคับใช้เรียบร้อย เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงสามารถใช้ใบขับขี่ดิจิทัลในการดูแลประชาชนได้

“ผู้ร่างกฎหมายก็เห็นด้วยที่จะต้องเปิดให้ใช้ใบขับขี่ดิจิทัล แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจจะต้องแก้ไขมาตรการยึดใบขับขี่ที่อยู่ใน พ.ร.บ.จราจร ฉบับใหม่เสียก่อน เพื่อจะได้ไม่ต้องยึดใบขับขี่จากผู้กระทำผิด หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจก็ต้องมาดูว่าจะใช้วิธีใดในการจับ ปรับ หรือทำโทษผู้กระทำผิดกฎหมายแทน”

รถเมล์4
รถเมลฺ์รุ่นเก่าที่วิ่งอยู่ในปัจจุบัน

แม้ใบขับขี่ดิจิทัลยังไม่สามารถใช้งานได้เต็มประสิทธิภาพ แต่ “จันทิรา” ก็ระบุว่า ในระหว่างนี้ประชาชนสามารถใช้ประโยชน์ของแอพพลิชัน DLT QR Licence ในด้านอื่นๆ ได้อีก เช่น แจ้งเตือนให้เจ้าของใบขับขี่มาดำเนินการขอต่ออายุใบอนุญาตขับรถล่วงหน้า โดยเฉพาะผู้ใช้ใบขับขี่สาธารณะที่ต้องต่ออายุทุกๆ 3 ปี เร็วกว่าผู้ใช้ใบขับขี่แบบทั่วไปซึ่งต้องต่ออายุทุกๆ 5 ปี รวมถึงยังมีข้อมูลที่นอกเหนือจากที่ปรากฏบนหน้าบัตร เช่น ประวัติการแพ้ยา หมายเลขโทรศัพท์ผู้ที่สามารถติดต่อได้ในกรณีฉุกเฉิน เป็นต้น

นอกจากนี้ ยืนยันว่าแอพพลิเคชัน DLT QR Licence เป็นแอพพลิเคชันถาวร ที่ไม่ทำมาแค่ประเดี๋ยวประด๋าว แต่ยังต้องรับรู้และสร้างความเข้าใจกับประชาชน รวมถึงการปรับปรุงกฎหมายเพื่อให้แอพพลิเคชันใช้งานได้สมบูรณ์ต่อไป

ตำรวจ

ด้าน “พล.ต.ต.เอกรักษ์ ลิ้มสังกาศ” รองผู้บัญชาการศึกษา สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้ให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อว่า เห็นด้วยกับการใช้ใบขับขี่ดิจิทัล แต่ยังติดปัญหาจากมาตรา 140 ของ พ.ร.บ.จราจร ที่กำหนดให้ตำรวจจราจรมีอำนาจเรียกเก็บใบขับขี่อยู่ โดยตอนนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจอยู่ระหว่างการแก้ไขกฎหมายเพื่อยกเลิกมาตรานี้แล้ว รวมถึงจะบูรณาการข้อมูลร่วมกับกรมการขนส่งฯ มากขึ้นด้วย

ในระหว่างที่การแก้ไขกฎหมายยังไม่แล้วเสร็จ ก็ขอให้ประชาชนพกใบขับขี่จริง ควบคู่กับใบขับขี่ดิจิทัลไปก่อน โดยคาดว่าต้องใช้เวลาอย่างน้อย 6 เดือน กฎหมายจึงแล้วเสร็จและสามารถใช้ใบขับขี่ดิจิทัลได้กว้างขวางมากขึ้น

ประชาชนก็ได้แต่หวังว่า “ใบขับขี่ดิจิทัล” จะใช้ได้ในเร็ววันนี้ เพื่อไม่ให้งบประมาณที่ลงทุนสร้างแอพพลิเคชันสูญเปล่า อย่างที่ชาวโซเชียลได้บางส่วนปรามาสกันไว้

Avatar photo