Economics

สหภาพฯ กทพ. ส่งสัญญาณถอย ถ้า ‘รัฐบาล’ สั่งเจรจาขยายสัมปทานทางด่วน

สหภาพฯ กทพ. ยื่นหนังสือค้านขยาย “สัมปทานทางด่วน” แต่เริ่มส่งสัญญาณถอยหาก “รัฐบาล”สั่งให้เดินหน้าเจรจา BEM ต่อไป

นายชาญชัย โพธิ์ทองคำ ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (สร.กทพ.) เปิดเผยว่าวันนี้  (16 ม.ค.) ทางสหภาพฯ และพนักงานการทางพิเศษฯ ประมาณ 200 คน ได้เดินทางไปที่กระทรวงคมนาคมและสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) กระทรวงคลัง เพื่อยื่นหนังสือคัดค้านการขยายสัมปทานทางพิเศษ (ทางด่วน) ให้กับบริษัททางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM เพื่อแลกกับการล้างหนี้สินที่เกิดจากข้อพิพาทระหว่าง 2 หน่วยงาน

ทั้งนี้ จุดยืนของสหภาพฯ คือไม่เห็นด้วยกับแนวทางการขยายสัญญาสัมปทานทางด่วนอุดรรัถยา ช่วงบางปะอิน-ปากเกร็ด และทางด่วนศรีรัช (ทางด่วนขั้นที่ 2) ของ BEM ออกไปอีก 37 ปี เพื่อแลกกับหนี้สิน 137,000 ล้านบาท เนื่องจากศาลมีคำพิพากษาให้การทางพิเศษฯ จ่ายค่าชดเชยแก่ BEM เพียงคดีเดียว วงเงิน 4,300 ล้านบาท ไม่ใช่ 137,000  ล้านบาท

สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการทางพิเศษแห่งประเทศไทย1

ขณะเดียวกัน สหภาพฯ ได้เสนอแนวทางแก้ไขปัญหา โดยขอให้การทางพิเศษฯ จ่ายเงินค่าชดเชย 4,300 ล้านบาท แก่บริษัทลูกของ BEM ตามที่ศาลมีคำพิพากษา ส่วนข้อพิพาทที่เหลือให้นำไปสู้คดีในชั้นศาลทั้งหมด ด้านทางด่วนขั้นที่ 2 และทางด่วนอุดรรัถยาก็ขอให้การทางพิเศษฯ นำกลับมาบริหารเอง หลังจากหมดสัมปทานกับ BEM แล้ว

“แต่ถ้าถึงที่สุดแล้วถ้ารัฐบาลสั่งให้เจรจากับเอกชน ก็ต้องดำเนินการด้วยความรอบคอบ” นายชาญชัย ระบุ

ชาญชัย โพธิ์ทองคำ ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการทางพิเศษแห่งประเทศไทย
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ออกมารับหนังสือจากนายชาญชัย โพธิ์ทองคำ ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการทางพิเศษแห่งประเทศไทย

นายชาญชัย กล่าวต่อว่าในการยื่นหนังสือวันนี้ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้ออกมารับหนังสือจากสหภาพฯ ด้วยตัวเอง โดยนายอาคมระบุว่า จะดูแลประเด็นดังกล่าวด้วยความรอบคอบ ด้านตัวแทนจาก สตง. กระทรวงการคลัง ที่ออกมารับหนังสือก็ระบุว่า จะต้องพิจารณารายละเอียดและเนื้อหาของสัญญาสัมปทานก่อน ทาง สตง. จึงแสดงความเห็นเรื่องการขยายสัมปทานทางด่วนได้

นายกฤชเทพ สิมลี รองปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่าวันนี้ที่ประชุมคณะกรรมการกำกับโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 2 ได้รับทราบผลการศึกษาแนวทางการบริหารทางด่วนขั้นที่ 2 หลังจากหมดสัญญาสัมปทานกับ BEM ซึ่งมีทั้งหมด 3 แนวทาง แต่ที่ประชุมเห็นว่ายังไม่มีความชัดเจนว่า ควรใช้แนวทางใด

ดังนั้นที่ประชุมจึงขอให้การทางพิเศษฯ นำเรื่องเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการ(บอร์ด) วันที่ 23 มกราคมนี้ เพื่อสรุปแนวทางให้ชัดเจน ก่อนนำเสนอกระทรวงคมนาคมพิจารณาต่อไป ส่วนแนวทางแก้ไขยุติข้อพิพาทระหว่างการทางพิเศษฯ และ BEM ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ยังไม่มีความคืบหน้า เพราะไม่มีวาระหารือในการประชุมครั้งนี้

ทางด่วน1
ภาพจาก exat.co.th

Avatar photo