Economics

‘การบินไทย’ ยื่นแก้ไข ‘แผนฟื้นฟูกิจการ’ รับธุรกิจการบินฟื้นตัว-รายได้พุ่ง

ฟื้นฟูรุดหน้า “การบินไทย” ยื่นขอแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการ สร้างความเชื่อมั่นรับธุรกิจการบินฟื้นตัว รายได้เติบโตแบบก้าวกระโดด ส่งผลสภาพคล่องสูงสุดในรอบ 24 เดือน

บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า จากความสำเร็จในการบริหารจัดการวิกฤติสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ของประเทศไทย ที่ดำเนินมาตรการต่าง ๆ ได้อย่างชัดเจนเป็นรูปธรรม และมีประสิทธิภาพมาโดยลำดับ

ตั้งแต่การนำมาตรการ Test and Go มาใช้ในการคัดกรองผู้โดยสารที่เดินทางเข้าประเทศ การทยอยผ่อนคลายมาตรการควบคุมการเดินทางต่าง ๆ เรื่อยมาจนถึงการเปิดประเทศอย่างเต็มรูปแบบในวันนี้ (1 ก.ค.) ประกอบกับภาพรวมของสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั่วโลกที่เริ่มคลี่คลาย ส่งผลให้ประเทศต่าง ๆ ทยอยผ่อนคลาย และยกเลิกมาตรการควบคุมการเดินทางมาตั้งแต่ปลายปี 2564 เช่นเดียวกัน

การบินไทย

บริษัทจึงได้เพิ่มจำนวนเที่ยวบิน และ เส้นทางบิน ที่ให้บริการเพื่อรองรับปริมาณความต้องการเดินทางของผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้มีการเติบโตด้านรายได้อย่างมีนัยสำคัญมาตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2564 เป็นต้นมา

ในช่วงวันที่ 1-27 มิถุนายนที่ผ่านมา จำนวนผู้โดยสารรวมเฉลี่ยในแต่ละวันของบริษัท และสายการบินไทยสมายล์ ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 12,568 คน และ 12,257 คนต่อวัน จาก 269 คน และ 4,929 คนต่อวัน ในช่วงเดือนเมษายน-ตุลาคม 2564

อัตราการบรรทุกผู้โดยสาร (Cabin Factor) ในส่วนของการบินไทยช่วงดังกล่าว ปรับตัวขึ้นมาอยู่ที่ 75% และมีอัตราการสำรองที่นั่งล่วงหน้าในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปี 2565 ที่เติบโตขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน

ในช่วงไตรมาสที่ 1 และ 2 ปี 2565 บริษัทได้เพิ่มจุดบิน และความถี่ เพื่อรองรับการฟื้นตัวของปริมาณการเดินทาง ได้แก่ เดลี มุมไบ เจนไน เบงกาลูรู ละฮอร์ การาจี อิสลามาบัด ฮานอย โฮจิมินห์ พนมเปญ เมลเบิร์น ลอนดอน จาการ์ตา ธากา แฟรงก์เฟิร์ต ไทเป สิงคโปร์ โคเปนเฮเกน มิวนิก ซูริก ฯลฯ และช่วงไตรมาสที่ 3 มีแผนเพิ่มความถี่เที่ยวบิน ได้แก่ จาการ์ตา ไทเป สิงคโปร์ โคเปนเฮเกน มิวนิก ซูริก โซล

การบินไทย

นอกจากนี้ ยังเปิดให้บริการเส้นทางบินเพิ่มเติม เพื่อให้ครอบคลุมเส้นทางหลัก ไปยังจุดหมายปลายทางในภูมิภาคต่าง ๆ ที่สำคัญ ได้แก่ โตเกียว (สนามบินฮาเนดะ) บรัสเซลส์ เจดดาห์

ขณะที่รายได้จากการขนส่งสินค้าและไปรษณียภัณฑ์ของบริษัท ทั้งในส่วนของการขนส่งในเที่ยวบินโดยสารตามตารางบิน และเที่ยวบินเช่าเหมาลำขนส่งสินค้ารวมในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา มีจำนวน 2,104 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเวลาเดียวกันในปี 2562 คิดเป็นสัดส่วน 41%

การบินไทย ประสบความสำเร็จ-คืบหน้า ฟื้นฟูกิจการ 

ประกอบกับความสำเร็จ และคืบหน้าในการฟื้นฟูกิจการส่วนอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นการปรับโครงสร้าง และขนาดองค์กรให้มีความเหมาะสม ต่อสภาวะการแข่งขันในอุตสาหกรรมการบิน

การยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันเพื่อรองรับ การเติบโตอย่างยั่งยืน ไม่ว่าจะเป็นการหาประโยชน์จากทรัพย์สินครอง ที่ไม่ได้อยู่ในแผนดำเนินธุรกิจทั้งจากการจำหน่าย และให้เช่าที่ สร้างกระแสเงินสดให้แก่บริษัทรวมเป็นเงินโดยประมาณกว่า 9,000 ล้านบาท ที่นำมาใช้ในการดำรงกิจการในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา โดยไม่สร้างภาระแก่ผู้ถือหุ้นและเจ้าหนี้

การปรับลดต้นทุนค่าใช้จ่ายในด้านต่างๆ อาทิ ต้นทุนอากาศยาน การซ่อมบำรุงอากาศยาน และเครื่องยนต์อากาศยาน การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำมันเชื้อเพลิง ในการปฏิบัติการบิน บุคลากร และสิทธิประโยชน์บุคลากร การบริหารช่องทางการจัดจำหน่าย รวมถึงการเพิ่มประสิทธิภาพ และโอกาสในการหารายได้ ได้แก่ การปรับปรุงกระบวนการทำงานด้านการพาณิชย์ การปฏิรูปด้านดิจิทัล

การบินไทย

การสร้างรายได้ใหม่จากหน่วยธุรกิจการบิน อาทิ การจัดทำความร่วมมือทางธุรกิจกับคู่ค้าที่มีศักยภาพ ในการขยายช่องทางการจัดจำหน่ายสินค้า การพัฒนาสินค้า และผลิตภัณฑ์ใหม่ออกสู่ตลาด อาทิ ปาท่องโก๋การบินไทย และการเปิดให้บริการภัตตาคาร “อร่อยล้นฟ้า” ของหน่วยธุรกิจครัวการบิน

การให้บริการเที่ยวบินเช่าเหมาลำ สำหรับขนส่งสินค้าของฝ่ายพาณิชย์สินค้า และไปรษณียภัณฑ์ การพัฒนาศักยภาพการให้บริการซ่อมบำรุงอากาศยานและเครื่องยนต์อากาศยาน ทำให้บริษัทมีระดับกระแสเงินสดในการดำเนินกิจการที่เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ส่งผลให้ระดับความต้องการสินเชื่อใหม่ลดลงจากเดิม

คณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการจึงได้ยื่นคำร้องขอแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในวันนี้ (1 ก.ค.) โดยมีรายละเอียดสาระสำคัญในการแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการในประเด็นต่าง ๆ ดังนี้

จัดหาสินเชื่อใหม่แบบสินเชื่อระยะยาว (Term Loan)

ไม่เกิน 6 ปี และ/หรือตราสารหนี้ ที่มีอายุการไถ่ถอนไม่น้อยกว่า 6 ปี เป็นจำนวนไม่เกิน 12,500 ล้านบาท บริษัทยังได้เตรียมการจัดหาสินเชื่อหมุนเวียน (Revolving Facility) ในวงเงินไม่เกิน 12,500 ล้านบาทเผื่อไว้อีกด้วย

ดำเนินการเพิ่มทุนจดทะเบียนจำนวนประมาณ 31,500 ล้านหุ้น

โดยมีเป้าหมาย ที่จะทำให้ส่วนทุนเป็นบวก เพื่อทำให้โครงสร้างทางการเงินของบริษัทมีความมั่นคง และเพื่อให้หลักทรัพย์ของบริษัท สามารถกลับไปซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ได้อีกครั้ง ด้วยแนวทางต่อไปนี้

การบินไทย

  • ให้สิทธิผู้สนับสนุนสินเชื่อใหม่ มีสิทธิซื้อหุ้นเพิ่มทุน ในจำนวนเดียวกับจำนวนหนี้สินเชื่อใหม่ ที่บริษัทเบิกใช้จริง (Drawdown Amount)

เป็นจำนวนเงินประมาณ 12,500 ล้านบาท

  • จัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุน เพื่อชำระหนี้เดิมของเจ้าหนี้ทางการเงิน ตามแผนด้วยหุ้นสามัญเพิ่มทุน

โดยกระทรวงการคลังซึ่งเป็นทั้งเจ้าหนี้ทางการเงิน และผู้ถือหุ้นหลักเดิม จะได้รับชำระหนี้ด้วยการแปลงหนี้เงินต้น ทั้งจำนวนเป็นทุน

ในขณะที่เจ้าหนี้ทางการเงินกลุ่มอื่น ๆ และเจ้าหนี้ผู้ถือหุ้นกู้จะได้รับชำระหนี้ด้วยการแปลงหนี้เงินต้นจำนวน 24.5% เป็นทุน โดยหนี้เงินต้นส่วนที่เหลือในอัตรา 75.5 % จะได้รับชำระหนี้จากกระแสเงินสดของการบินไทย ตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ในแผนเดิม

การแปลงหนี้เป็นทุนนี้จะทำให้การบินไทยสามารถมีส่วนทุนเพิ่มเติมและลดภาระหนี้ตามแผนลงได้ประมาณ 37,800 ล้านบาท

  • จัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุน เพื่อรองรับการใช้สิทธิแปลงหนี้ดอกเบี้ยตั้งพักตามแผนเป็นทุน

ที่ราคา 2.5452 บาทต่อหุ้น ซึ่งทำให้การบินไทยอาจสามารถลดภาระการชำระหนี้ดอกเบี้ยตั้งพักไปได้ประมาณ 4,845 ล้านบาท

การบินไทย

  • จัดสรรและเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุน โดยการออกหุ้นสามัญเพิ่มทุนใหม่

ในราคาที่ผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการเห็นสมควรและไม่ต่ำกว่า 2.5452 บาทต่อหุ้น เพื่อเสนอขายให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมตามสัดส่วนการถือหุ้นเดิม

ในกรณีที่ไม่มีผู้ถือหุ้นเดิมใช้สิทธิซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุน หรือผู้ถือหุ้นเดิมใช้สิทธิซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนไม่เต็มจำนวน ให้นำหุ้นส่วนที่เหลือ มาเสนอขายให้แก่พนักงานบริษัท และหรือบุคคลในวงจำกัด (Private Placement) ซึ่งคาดว่าจะสามารถระดมทุนให้แก่การบินไทยเพิ่มเติมได้อีกประมาณ 25,000 ล้านบาท

รวมเป็นส่วนทุนที่คาดว่าจะได้รับจากการปรับโครงสร้างหนี้ และโครงสร้างทุนตามข้อเสนอขอแก้ไขแผนประมาณ 80,000 ล้านบาทเศษ โดยการบินไทยคาดหมายว่าจะสามารถดำเนินการปรับโครงสร้างทุนข้างต้นให้แล้วเสร็จภายในปี 2567

หากการดำเนินการเป็นไปตามข้อเสนอข้อแก้ไขแผน ส่วนของทุนจะกลับมาเป็นบวกในปี 2567 และหลักทรัพย์ของบริษัทน่าจะสามารถกลับมาทำการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ได้ในปี 2568

การบินไทย

แก้ไขและเพิ่มเติมรายละเอียดการแผนการชำระหนี้ของเจ้าหนี้บางกลุ่ม

เพื่อให้เกิดความชัดเจนต่อการปฏิบัติตาม และให้บริษัทมีความคล่องตัวในการดำเนินกิจการในภาวะที่อุตสาหกรรมการฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว โดยที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสิทธิและการชำระหนี้ของเจ้าหนี้เดิมตามแผนฟื้นฟูกิจการฉบับปัจจุบัน

แก้ไขรายละเอียดในส่วนของผลสำเร็จของแผนฟื้นฟูกิจการส่วนที่ไม่มีความจำเป็น และไม่สอดคล้องกับบริบทและข้อเท็จจริงในปัจจุบัน

ทั้งนี้ ผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการมีความมั่นใจว่า การยื่นคำร้องขอแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการในครั้งนี้ จะยกระดับความเชื่อมั่นแก่เจ้าหนี้ ผู้ถือหุ้น ผู้โดยสาร ลูกค้า ต่อการฟื้นฟูกิจการของบริษัท และเป็นก้าวย่างสำคัญ ในการวางรากฐานเพื่อการเติบโต และสร้างผลกำไรอย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคต เพื่อให้บริษัทเป็นสายการบินแห่งชาติ ที่คนในชาติภาคภูมิใจ เป็นสายการบินหลักที่นำรายได้เข้าสู่ประเทศ เป็นกำลังสำคัญสนับสนุน และขับเคลื่อนการฟื้นตัวเศรษฐกิจของประเทศ ในระยะเวลาอันใกล้นี้

การบินไทย

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo