Economics

คุยวันนี้! สางปัญหารถไฟฟ้าสายสีเขียว ‘ชัชชาติ’ เล็งคืนส่วนต่อขยายให้ รฟม.

จับตา กทม. หารือมหาดไทย สางปัญหารถไฟฟ้าสายสีเขียว เผยแนวทาง “ชัชชาติ” พร้อมโอนคืนส่วนต่อขยายให้ รฟม. ช่วย กทม.ไม่ต้องรับภาระหนี้กว่า 60,000 ล้านบาท สนับสนุนโมเดลโครงข่ายรถไฟฟ้า เจ้าของเดียว “One Owner” ภายใต้กำกับกระทรวงคมนาคม ผลักดันราคาเหมาะสม เดินทางเชื่อมต่อมีประสิทธิภาพ

วันนี้ (6 มิ.ย.) มีรายงานว่า นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) จะเข้าพบหารือกับพล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย โดยมีหลายประเด็น ซึ่งเป็นวาระที่จะหารือร่วมกัน โดยเฉพาะปัญหาเรื่องโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว รวมถึง ภาระหนี้ และการต่อขยายสัมปทาน ในส่วนของสัมปทานของบีทีเอสเดิม (หมอชิต-อ่อนนุช) ที่จะหมดอายุลงในปี 2572

นอกจากนี้ ยังมีเรื่องราคาค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียว ที่หลายฝ่ายต้องการเห็นการปรับลดราคาให้ถูกลง เกิดประโยชน์กับผู้ใช้บริการมากที่สุด

รถไฟฟ้าสายสีเขียว

รายงานระบุว่า นายชัชชาติ เห็นด้วยกับแนวคิดที่จะโอนโครงสร้างพื้นฐานส่วนต่อขยายสายสีเขียวทั้งด้านเหนือ และด้านใต้ คืนให้แก่การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย หรือ รฟม. หลังจากรัฐบาลได้เคยมีนโยบาย ให้ รฟม. โอน โครงการส่วนต่อขยายนี้ ให้ กทม. เมื่อปี 2562

นายชัชชาติ เห็นว่า การโอนคืนส่วนต่อขยายแก่ รฟม. จะเกิดประโยชน์กับทุกฝ่ายมากกว่า เช่น กทม. ก็ไม่ต้องรับภาระหนี้การก่อสร้างของ รฟม. และภาระหนี้อื่น ๆ กว่า 60,000 ล้านบาท

ส่วนภาระหนี้ค่าจ้างบีทีเอส เดินรถนั้น นายชัชชาติยืนยันว่าจะต้องเข้าไปตรวจสอบข้อกฎหมาย หลังก่อนหน้านี้ กระทรวงคมนาคม เคยระบุข้อมูลว่า การจ้างบีทีเอสเดินรถนั้น ไม่ได้ผ่านความเห็นชอบของสภา กทม.ในอดีต และเรื่องนี้คงต้องฟังความเห็นของสภา กทม .ชุดใหม่ ที่มาจากการเลือกตั้งพร้อมกับผู้ว่า กทม.ที่ผ่านมา

ที่สำคัญ การโอนโครงการส่วนต่อขยาย กลับไปให้ รฟม. ซึ่งอยู่ภายใต้กำกับของกระทรวงคมนาคม ก็จะทำให้โครงข่ายรถไฟฟ้าทุกระบบ มีสถานะมีเจ้าของ และผู้บริหารจัดการคนเดียว หรือ “One Owner” ซึ่งในอนาคตรัฐบาลสามารถผลักดันนโยบายทั้งในเรื่องของราคาค่าโดยสาร “ราคาเดียวทุกโครงข่าย” หรือปรับลดค่าโดยสารให้ถูกลงเพื่อจูงใจให้ประชาชนหันมาใช้ระบบขนส่งทางรางเพิ่มขึ้น

การโอนทรัพย์สินให้ รฟม. อาจครอบคลุมถึงโครงสร้างพื้นฐาน และระบบเดินรถไฟฟ้าสัมปทานเดิมของบีทีเอส หลังสัมปทานหมดลงในปี 2572 โดยเมื่อ รฟม. นำโครงการกลับไปบริหาร ก็สามารถแบ่งส่วนแบ่งรายได้จากการบริหารการเดินรถ คืนให้แก่ กทม. ปีละ 500-1,000 ล้านบาท เพื่อให้กทม นำเงินส่วนนี้ไปพัฒนาระบบรถเมล์โดยสาร และระบบขนส่งต่อเชื่อม หรือ feeder เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชนผู้เดินทางใน กทม.

ทางด้านนายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการ รฟม. ระบุว่า ในการรับโอนคืนส่วนต่อขยายสายสีเขียว จาก กทม. รวมทั้งสัมปทานเดิมหลังปี 2572 นั้น หากจะดำเนินการตามนโยบายของผู้ว่าราชการ กทม.คนใหม่นั้น จะต้องดำเนินการผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี และสภา กทม.

รถไฟฟ้าสายสีเขียว

แต่ที่สำคัญโดยเฉพาะในส่วนของการรับโอนคืนส่วนต่อขยายนั้น ต้องพิจารณาประเด็นสำคัญใน 2 เรื่อง คือ การรับโอนโครงสร้างพื้นฐานคืนในขณะที่ปัจจุบัน ระบบเดินรถเป็นของบีทีเอส การมีแต่โครงสร้างพื้นฐานกลับมา ก็เดินรถไม่ได้ หากจะเจรจาเพื่อขอซื้อระบบเดินรถจากบีทีเอส ก็คาดว่าต้องใช้เวลา และต้องพิจารณาต่อว่าจะทำอย่างไร งไม่ให้ผู้โดยสารได้รับผลกระทบ

อีกเรื่องหนึ่ง คือ ภาระหนี้ค่าจ้างเดินรถในส่วนต่อขยายที่ บริษัทกรุงเทพธนาคม จำกัด มีกับบีทีเอส. อีกประมาณ 30,000 ล้าน ในส่วนนี้จะแก้ไขปัญหาอย่างไร

ส่วนการที่ รฟม. จะรับโอนโครงการสัมปทานเดิม (หมอชิต-อ่อนนุช) มาจาก รฟม. ด้วยนั้น แนวทางนี้รัฐบาลคงต้องเข้ามาให้ความช่วยเหลือสนับสนุน เนื่องจากจะเป็น”บิ๊กดีล” ที่มีมูลค่าสูง เพราะหากจะประเมินมูลค่าของโครงข่ายรถไฟฟ้าสัมปทานเดิม ที่ขณะนี้มีผู้ใช้บริการจำนวนมาก โดยตัวเลขมูลค่าโครงการในปัจจุบัน มีมูลค่าสูงถึง 150,000 -200,000 ล้านบาททีเดียว

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo