Economics

‘สภาพัฒน์’ หั่นคาดการณ์เศรษฐกิจปีนี้โต 2.5-3.5% จากเดิมคาดโต 3.5-4.5%

“สภาพัฒน์ฯ” หั่นคาดการณ์เศรษฐกิจไทยปีนี้ขยายตัว 2.5-3.5% จากเดิมคาดโต 3.5-4.5% หลังราคาน้ำมันดันเงินเฟ้อพุ่ง เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอตัวจากสถานการณ์ความขัดแย้ง “รัสเซีย-ยูเครน”

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์ ปรับลดคาดการณ์ตัวเลขเศรษฐกิจไทยปี 2565 เหลือโต 2.5-3.5% โดยมีค่ากลางที่ 3% จากครั้งก่อนคาด 3.5-4.5% เนื่องจากเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอตัวจากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน รวมทั้งราคาพลังงานในช่วงที่ผ่านมาที่ส่งผลถึงไปอัตราเงินเฟ้อให้เพิ่มสูงขึ้นด้วย

สภาพัฒน์

หั่นคาดการณ์เศรษฐกิจไทย

ขณะที่สมมติฐานทางเศรษฐกิจอื่น ๆ ได้ปรับลดลงด้วยเช่นกัน โดยการเติบโตของเศรษฐกิจโลกในปีนี้ ปรับลดลงเหลือ 3.5% จากเดิม 4.5% ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน ด้านราคาน้ำมันดิบตลาดโลก ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 95-105 ดอลลาร์/บาร์เรล อัตราแลกเปลี่ยนทั้งปี อยู่ที่ระดับ 33.30-34.30 บาท/ดอลลาร์ จากเดิม 32.20-33.20 บาท/ดอลลาร์

สำหรับปัจจัยข้อจำกัดและปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญในปี 2565 ได้แก่

1.การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก และความผันผวนในตลาดการเงินโลก และการเคลื่อนย้ายเงินทุนระหว่างประเทศ จากผลความยืดเยื้อของสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน รวมทั้งมาตรการคว่ำบาตรจากหลายประเทศในยุโรป และสหรัฐที่ทำให้ราคาพลังงานและราคาสินค้าโภคภัณฑ์สูงขึ้น

สภาพัฒน์

2. เงื่อนไขด้านฐานะการเงินของภาคครัวเรือนและธุรกิจ จะจำกัดต่อการฟื้นตัวของอุปสงค์ภายในประเทศ ซึ่งภาระหนี้สินภาคเอกชนที่อยู่ในระดับสูง จะเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวของอุปสงค์ภายในประเทศ และความสามารถในการชำระหนี้ ภายใต้แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นในระยะต่อไป ประกอบกับตลาดแรงงานที่ยังฟื้นตัวได้ไม่เต็มที่

3. ความไม่แน่นอนของสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 จากแนวโน้มการกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัส ซึ่งอาจจะนำไปสู่การแพร่ระบาดระลอกใหม่อีกครั้ง

ห่วงปัญหาหนี้ครัวเรือน

อย่างไรก็ตาม นายดนุชา ยอมรับว่า ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้น คงเป็นปัญหาที่ไม่สามารถแก้ไขได้อย่างรวดเร็ว เนื่องจากเป็นปัญหาที่สะสมมาตลอด 2 ปีที่ผ่านมาจากการระบาดของโควิด ซึ่งปัญหาหนี้ครัวเรือนในปัจจุบันเกิดขึ้นกับหลายประเทศไม่เฉพาะไทยเท่านั้น ซึ่งการดำเนินมาตรการเข้ามาช่วยเหลือทั้งของภาครัฐ และธนาคารแห่งประเทศไทย ในการปรับโครงสร้างหนี้ให้กับภาคเอกชน จำเป็นต้องทำอย่างต่อเนื่อง

สภาพัฒน์

สำหรับความจำเป็นในการกู้เงินเพื่อมาใช้กระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศนั้น มองว่า การจะพิจารณากู้เงิน หรือการใช้มาตรการการคลังใด ๆ เพิ่มเติมนั้น ต้องพิจารณาปัจจัยให้รอบคอบ โดยเฉพาะข้อจำกัดในด้านทรัพยากรของประเทศ รวมถึงข้อจำกัดด้านฐานะการคลัง ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สภาพัฒน์ กระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะร่วมกันพิจารณาถึงความเหมาะสมว่าจะต้องดำเนินการในเรื่องนี้อย่างไร

“โดยปัจจุบัน พ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท ยังเหลือเม็ดเงินอยู่ราว 74,000 ล้านบาท แต่เงินก้อนนี้ ยังมีภาระที่จะต้องนำไปใช้ใน 2 เรื่องสำคัญ คือ การใช้เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก ราว 10,000 ล้านบาท ซึ่งกำลังอยู่ในขั้นตอนนำเสนอที่ประชุม ครม.เพื่อพิจารณาอนุมัติ ซึ่งจะเป็นการอัดฉีดเม็ดเงินลงทุนในทั่วประเทศ และ ค่าใช้จ่ายสำหรับการรักษาพยาบาลที่ต่อเนื่องจากโควิด อีกราว 16,000 ล้านบาท ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ดังนั้น จึงเท่ากับจะเหลือเม็ดเงินจริง ๆ อีกเพียง 48,000 ล้านบาท ที่จะต้องนำเงินก้อนนี้มาใช้จ่ายภายใน 2565” นายดนุชา กล่าว

สภาพัฒน์

สำหรับประเด็นการบริหารเศรษฐกิจที่ควรให้ความสำคัญ ได้แก่

  1. การรักษาแรงขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจจากการใช้จ่ายของภาคครัวเรือน
  2. การสนับสนุนการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวและบริการเกี่ยวเนื่อง
  3. การรักษาแรงขับเคลื่อนจากการส่งออกสินค้า
  4. การส่งเสริมการลงทุนภาคเอกชน
  5. การขับเคลื่อนการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ
  6. การดูแลการผลิตภาคเกษตรและรายได้เกษตรกร
  7. การติดตาม เฝ้าระวัง และเตรียมมาตรการรองรับความผันผวนของเศรษฐกิจและการเงินโลก

“ในสถานการณ์ที่เศรษฐกิจโลกอยู่ในภาวะที่ไม่ปกติและส่งผลกระทบมาถึงประเทศไทยเช่นนี้ ขอความร่วมมือประชาชนทุกคนให้จับจ่ายใช้สอยในสิ่งที่จำเป็น รวมถึงเน้นการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศก่อนเพื่อช่วยให้มีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ ส่วนการเดินทางไปต่างประเทศ ขอให้ไปเฉพาะในกรณีที่จำเป็นจริง ๆ” นายดนุชา กล่าว

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo