Economics

ของแพง-น้ำมันพุ่ง! ดันเงินเฟ้อเดือน เม.ย. อยู่ที่ 4.65% คาด พ.ค. ยังขยายตัวต่อเนื่อง

“กระทรวงพาณิชย์” เผยอัตราเงินเฟ้อเดือนเมษายน 2565 อยู่ที่ 4.65% หลังราคาน้ำมันแพง ราคาสินค้าพุ่งสูงขึ้น ประเมินเดือนพฤษภาคมยังมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง จากราคาน้ำมันที่ยังคงอยู่ในระดับสูง

นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ ผู้อำนวยการ สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคของไทย เดือนเมษายน 2565 เท่ากับ 105.15 (ปี 2562 = 100) สำหรับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ 4.65% (YoY) เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ปัจจัยหลักยังคงเป็นราคาพลังงาน อาหารสด และต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น ส่งผลให้ราคาอาหารสำเร็จรูปสูงขึ้น

เงินเฟ้อเดือนเมษายน

อัตราเงินเฟ้อเดือนเมษายน 2565 อยู่ที่ 4.65%

ขณะที่ส่วนหนึ่งมาจากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน และมาตรการคว่ำบาตร ส่งผลต่อห่วงโซ่อุปทานการผลิต การค้า และการขนส่ง ราคาสินค้าและบริการในประเทศจึงปรับสูงขึ้น และส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นในที่สุด ซึ่งเป็นทิศทางเดียวกับหลายประเทศที่ประสบอยู่ในปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม ราคาต้นทุนหรือราคาหน้าโรงงานของไทยที่สูงขึ้นค่อนข้างมาก สะท้อนได้จากดัชนีราคาผู้ผลิต ที่สูงขึ้นถึงร้อยละ 12.8 (YoY) ยังไม่ส่งผ่านไปยังราคาขายปลีกมากนัก เนื่องจากมาตรการของภาครัฐ และความต้องการที่ยังไม่ฟื้นตัวจากวิกฤติโควิด-19 โดยมีรายละเอียด สรุปดังนี้

เงินเฟ้อเดือนเมษายน

สินค้าสำคัญที่ทำให้เงินเฟ้ออยู่ที่ระดับ 4.65 (YoY) อาทิ

  • สินค้าในกลุ่มพลังงาน สูงขึ้น 21.07%
  • สินค้าในกลุ่มอาหาร สูงขึ้น 4.83%
  • สินค้าอื่น ๆ ที่ปรับสูงขึ้น

สินค้าจำเป็นอีกหลายรายการราคายังคงลดลง อาทิ

  • กลุ่มข้าวแป้ง และผลิตภัณฑ์จากแป้ง ลดลง 3.64%
  • กลุ่มผลไม้สด ลดลง 1.05%
  • เครื่องนุ่งห่มและรองเท้า ลดลง 0.17%
  • การศึกษา ลดลง 3.14%

เงินเฟ้อเดือนเมษายน

ทั้งนี้ ดัชนีราคาผู้บริโภคในเดือนนี้ เมื่อเทียบกับเดือนมีนาคม 2565 อยู่ที่ 0.34% (MoM) ซึ่งต่ำกว่าเดือนมีนาคม 2565 ที่อยู่ 0.66% จากราคาของผักสด ผลไม้สด เนื้อสุกร และไข่ไก่ ที่สูงขึ้นเล็กน้อย ขณะที่น้ำมันเชื้อเพลิงราคาปรับลดลง ส่วนอาหารสำเร็จรูปบางรายการราคาสูงขึ้นในอัตราที่น้อยลง ส่วนหนึ่งเป็นผลจากมาตรการตรึงราคาน้ำมัน และมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพของกระทรวงพาณิชย์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะการกำกับดูแลราคา และการขอความร่วมมือภาคเอกชนตรึงราคาสินค้าที่จำเป็น และเฉลี่ย 4 เดือน (ม.ค.-เม.ย.) ปี 2565 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน อยู่ที่ 4.71% (AoA)

แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อ เดือนพฤษภาคม 2565

มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง จากราคาน้ำมันที่ยังคงอยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ประกอบกับมาตรการตรึงราคาและการปรับลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล ได้สิ้นสุดลงในเดือนเมษายนและปลายเดือนพฤษภาคมนี้ และการปรับราคาสูงขึ้นแบบขั้นบันไดของก๊าซหุงต้ม หรือ LPG ในเดือนเมษายน – พฤษภาคม 2565 รวมทั้งสินค้าอุปโภคบริโภค โดยเฉพาะอาหารสดและอาหารสำเร็จรูปยังมีแนวโน้มปรับสูงขึ้นตามต้นทุนการผลิตและวัตถุดิบ นอกจากนี้ ราคาพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์โลก มาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ และพันธมิตร และการแพร่ระบาดของโควิด-19 รวมถึงความไม่แน่นอนของสภาพอากาศ ยังคงเป็นปัจจัยที่จะส่งผลให้เงินเฟ้อของประเทศสูงขึ้นได้ในระยะต่อไป ซึ่งจะต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด

เงินเฟ้อเดือนเมษายน

แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อ ปี 2565

แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อ ปี 2565 กระทรวงพาณิชย์ คาดการณ์ว่าเงินเฟ้อทั่วไปของไทย ปี 2565 จะเคลื่อนไหวในกรอบ 4.0 – 5.0% (ค่ากลางอยู่ที่ 4.5) ซึ่งเป็นระดับที่เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน และหากสถานการณ์เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญจะมีการทบทวนอีกครั้ง

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo