Economics

ส่งออก-ท่องเที่ยว หนุนเศรษฐกิจไทยเดือน มี.ค. ยันเสถียรภาพเศรษฐกิจยังดี

ส่งออก-ท่องเที่ยว หนุนเศรษฐกิจเดือนมีนาคม 2565 ยันเสถียรภาพเศรษฐกิจยังดี ประเมินความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน กระทบต่อความเชื่อมั่นผู้บริโภคและระดับราคาสินค้าภายในประเทศ

นายวุฒิพงศ์ จิตตั้งสกุล ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการคลัง เปิดเผยถึง ภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือนมีนาคม 2565 ว่า เศรษฐกิจไทยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวต่อเนื่องของภาคการส่งออก และภาคการท่องเที่ยวที่ปรับตัวดีขึ้นทั้งจากนักท่องเที่ยวต่างชาติและผู้เยี่ยมเยือนชาวไทย อย่างไรก็ดี ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน ได้ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นผู้บริโภคและระดับราคาสินค้าภายในประเทศ

เศรษฐกิจเดือนมีนาคม

มีสัญญาณทรงตัว

เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชน มีสัญญาณทรงตัวจากเดือนก่อนหน้า โดยการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ระดับราคาคงที่ ในเดือนมีนาคม 2565 ขยายตัวจากช่วงเดียวกันปีก่อน 1.1% และเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล 1.3% ขณะที่การบริโภคสินค้าคงทน สะท้อนจากปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่ง ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ -1.4% แต่เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล 10.2% และรายได้เกษตรกรที่แท้จริง ในเดือนมีนาคม 2565 ขยายตัวเมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ 7.6%

อย่างไรก็ดี ปริมาณรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ -8.6% และลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลที่ -9.6% และดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในเดือน มี.ค. 2565 ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 42.0 เนื่องจากผู้บริโภคมีความกังวลเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 และผลกระทบจากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน ทำให้ราคาน้ำมันในตลาดโลกมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น และต้นทุนการผลิตสินค้าและระดับราคาสินค้าทั่วไปปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปับตัวลดลง

เศรษฐกิจเดือนมีนาคม

“ลงทุนภาคเอกชน” มีสัญญาณปรับตัวชะลอตัวลง

เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการลงทุนภาคเอกชน มีสัญญาณปรับตัวชะลอตัวลงจากเดือนก่อนหน้า โดยการลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สะท้อนจากปริมาณการนำเข้าสินค้าทุน ในเดือนมีนาคม 2565 ขยายตัวจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ 1.5% แต่ลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลที่ -2.0% และปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ 15.4% แต่ลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลที่ -4.8%

สำหรับการลงทุนในหมวดการก่อสร้าง สะท้อนจากปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ภายในประเทศ ในเดือนมีนาคม 2565 ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ -2.7% และลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลที่ -0.5% และภาษีธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ -14.6% และลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลที่ -14.8%

มูลค่าการส่งออกสินค้าขยายตัวต่อเนื่องจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า มูลค่าการส่งออกสินค้ารวมในรูปเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ ในเดือนมีนาคม 2565 อยู่ที่ 28,859.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวจากช่วงเดียวกันที่ 19.5% ซึ่งเป็นการขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 13 และหากพิจารณาเฉพาะมูลค่าการส่งออกสินค้าที่ไม่รวมน้ำมันและสินค้าที่เกี่ยวเนื่อง ทองคำ และยุทธปัจจัย พบว่า ขยายตัว 8.9% โดยสินค้าที่ขยายตัวได้ดี ได้แก่

มูลค่าการส่งออกสินค้าขยายตัวต่อเนื่อง

  1. สินค้าที่ได้รับอานิสงส์จากราคาพลังงานและโภคภัณฑ์ที่สูงขึ้น เช่น เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ น้ำมันดิบ น้ำมันสำเร็จรูป เคมีภัณฑ์ เม็ดพลาสติก ยางยานพาหนะ เป็นต้น
  2. สินค้าเกษตรและอาหาร โดยเฉพาะน้ำตาลทราย ข้าว อาหารสัตว์เลี้ยง และสิ่งปรุงรสอาหาร ที่ขยายตัว 204.3% 53.9% 15.5% และ 9.7% ตามลำดับ
  3. สินค้าที่เกี่ยวข้องกับการทำงานที่บ้าน อาทิ เครื่องคอมพิวเตอร์อุปกรณ์และส่วนประกอบ และเครื่องโทรสาร โทรศัพท์และอุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องใช้ภายในบ้าน อาทิ เตาอบไมโครเวฟ ตู้เย็น และเครื่องปรับอากาศ
  4. สินค้าที่เกี่ยวกับการป้องกันการติดเชื้อและลดการแพร่ระบาด เช่น เครื่องมือแพทย์และอุปกรณ์ และผลิตภัณฑ์เภสัชภัณฑ์ ที่ยังคงมีคำสั่งซื้อเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ เมื่อพิจารณามูลค่าการส่งออกสินค้า

เศรษฐกิจเดือนมีนาคม

โดยจำแนกเป็นรายตลาดคู่ค้าหลักของไทย พบว่า การส่งออกไปยังตลาดคู่ค้าหลักของไทยปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องในเกือบทุกตลาด โดยเฉพาะการส่งออกไปตลาดหลัก ได้แก่ อินเดีย อาเซียน 5 สหรัฐ และเกาหลีใต้ ที่ขยายตัวจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ 43.3% 34.8% 21.5% และ 14.5% ตามลำดับ

เครื่องชี้เศรษฐกิจไทยด้านอุปทาน มีสัญญาณปรับตัวดีขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยภาคเกษตร สะท้อนจาก ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตร ในเดือนมีนาคม 2565 ขยายตัวจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ 4.9% จากการเพิ่มขึ้นของผลผลิตสำคัญ เช่น ข้าวเปลือก ยางพารา และสินค้าในหมวดไม้ผล เป็นต้น

สำหรับด้านบริการด้านการท่องเที่ยว ในเดือนมีนาคม 2565 มีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทยรวม จำนวน 210,836 คน โดยส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวจากสหราชอาณาจักร เยอรมนี สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส และอินเดีย ตามลำดับ เช่นเดียวกับการท่องเที่ยวภายในประเทศที่มีผู้เยี่ยมเยือนชาวไทย ในเดือนมีนาคม 2565 จำนวน 15.4 ล้านคน คิดเป็นอัตราการขยายตัวจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ 42.4% และเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลที่ 26.6%

เสถียรภาพเศรษฐกิจยังอยู่ในเกณฑ์ดี

ขณะที่ภาคอุตสาหกรรม สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม ในเดือนมีนาคม 2565 ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 89.2 จากระดับ 86.7 ในเดือนกุมภาพันธ์ 2565 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิด-19 ในประเทศและต่างประเทศ ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจทยอยฟื้นตัวและความต้องการสินค้าอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น ประกอบกับผู้ประกอบการต่างเร่งผลิตสินค้าเพื่อให้ส่งมอบก่อนช่วงเทศกาลสงกรานต์ อย่างไรก็ดี ผู้ผลิตยังมีความกังวลจากความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน ที่ทำให้ราคาพลังงานในตลาดโลกสูงขึ้น และส่งผลให้ราคาต้นทุนการผลิตปรับตัวสูงขึ้น

เสถียรภาพเศรษฐกิจยังอยู่ในเกณฑ์ดี แม้มีปัจจัยกดดันจากระดับราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้น สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนมีนาคม 2565 อยู่ที่ 5.73% ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ 2.00% ส่วนสัดส่วนหนี้สาธารณะ ณ สิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2565 อยู่ที่ 60.2% ต่อ GDP ซึ่งยังอยู่ภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลังที่ตั้งไว้ตามพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 สำหรับเสถียรภาพภายนอกยังอยู่ในระดับที่มั่นคง และสามารถรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกได้ สะท้อนจากทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2565 อยู่ในระดับสูงที่ 242.4 พันล้านดอลลาร์

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo