Economics

ดันโรงงานผลิตรถไฟในไทยประหยัดเงินนำเข้าปีละ 6 หมื่นล้าน

ดันโรงงานผลิตรถไฟในไทย หวังประหยัดเงินนำเข้าปีละ 6 หมื่นล้านบาท โวญี่ปุ่น เกาหลี และเยอรมันสนใจลงทุน

นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า หลังจากรัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมขนส่งมวลชนระบบรางแล้ว ทางกระทรวงคมนาคมก็มีนโยบายส่งเสริมให้จัดตั้งโรงงานผลิตและประกอบรถไฟ รถไฟฟ้า และรถไฟความเร็วสูงในประเทศไทยด้วย

โดยผลการศึกษาชี้ว่า พื้นที่ที่เหมาะสมในการจัดตั้งโรงงานผลิตอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน) และคาดว่าในปี 2564 จะสามารถจัดตั้งโรงงานได้ 1 โรง กำลังการสั่งผลิตไม่น้อยกว่า 300 ตู้ต่อปี นอกจากนี้ผลการศึกษายังระบุว่า ประเทศไทยสามารถตั้งโรงงานผลิตได้สูงสุด 3 โรง มียอดการผลิตรวมสูงกว่า 900 ตู้ต่อปีในปี 2570 เปรียบเทียบกับประเทศญี่ปุ่นที่มีโรงงานผลิตและประกอบรถไฟ  5 โรงงาน

ไพรินทร์ ปรับ

“หากมีการจัดตั้งโรงงานผลิต ประกอบรถไฟในไทยได้ จะช่วยลดต้นทุนการนำเข้ารถไฟฟ้า อุปกรณ์ ชิ้นส่วนอุปกรณ์จากต่างประเทศได้ 10 เท่า จากเดิมที่มีการนำเข้ากว่า 70,000 ล้านบาท เมื่อมีโรงงานผลิต ประกอบในไทยจะลดการนำเข้าเหลือเพียง 7,000 ล้านบาทและยังลดค่าใช้จ่ายการซ่อม-บำรุงรักษา ได้อีกกว่าปีละ 1,000 ล้านบาท เพิ่มการจ้างงานได้ไม่น้อยกว่า 500 คน และจะผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตรถไฟในอาเซียนด้วย เหมือนเช่นครั้งหนึ่งไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์ หรือ ดีทรอย์ของเอเชีย” นายไพรินทร์กล่าว

ปัจจุบันนักลงทุนต่างชาติ ไม่ว่าจะเป็นญี่ปุ่น เกาหลี และเยอรมัน ได้แสดงความสนใจจะเข้ามาขอจัดตั้งโรงงานผลิตและประกอบรถไฟในประเทศไทย สำหรับกระทรวงคมนาคมได้ผลักดันการจัดตั้งโรงงานผลิตและประกอบรถไฟใน 2 ส่วน ได้แก่

1. เร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และการจัดตั้งกรมราง เพื่อให้เป็นมาตรฐานในการควบคุมระบบราง

2. กระทรวงคมนาคมร่วมกับคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน (กกร.) ช่วยกันพิจารณาออก พ.ร.ฎ.จัดตั้งสถาบันวิจัยเทคโนโลยีระบบราง เพื่อเป็นคนกลางของการถ่ายทอดเทคโนโลยี  ซึ่งหากดำเนินการสำเร็จประเทศไทยจะเป็นศูนย์กลางเทคโนโลยีระบบรางรถไฟใน ภูมิภาคอาเซียน

รถไฟฟ้า MRT สีม่วง 181129 0005

Avatar photo