Economics

ศธ.เตรียมเปิดลงทะเบียน แก้หนี้ครู เฟส2 หลังเฟสแรก แห่สมัครกว่า 4 หมื่นคน

ศธ.เตรียมเปิดลงทะเบียน แก้หนี้ครู เฟส2 หลังเฟสแรก แห่สมัครกว่า 4 หมื่นคน พร้อมเผย 8 วิธีปรับโครงสร้างหนี้

นายสุทธิชัย จรูญเนตร ที่ปรึกษา รมว.ศึกษาธิการ ในฐานะ ประธานคณะกรรมการแก้ไขปัญหาหนี้สินครู กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาได้การจัดตั้งสถานีแก้ หนี้ครู ระดับจังหวัดและเขตพื้นที่การศึกษา และเปิดให้ครูทั้งประเทศลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการ “สร้างโอกาสใหม่ให้ครูไทย” ตั้งแต่วันที่ 14 ก.พ.-15 มี.ค. 2565

แก้หนี้ครู

เฟสแรก ครูแห่สมัครเข้าโครงการ 41,000 คน เตรียมเปิดเฟสสอง 

โดยขณะนี้มีครูและบุคลากรทางการศึกษา ลงทะเบียนแก้หนี้ตามโครงการดังกล่าวแล้วกว่า 41,000 ราย ซึ่งในจำนวนนี้มีปัญหาที่ต้องการความช่วยเหลือมากที่สุด คือ การลดดอกเบี้ยเงินกู้กว่า 30,000 ราย รองลงมา มีความเดือดร้อนจากการเป็นผู้ค้ำประกัน การขอปรับโครงสร้างหนี้ และการถูกดำเนินคดีที่ไม่มีความสามารถจะจ่ายหนี้ได้แล้ว

โดยจะส่งข้อมูลครูที่ลงทะเบียนแก้หนี้ไปยังเขตพื้นที่ และเรียกมาพูดคุย เพื่อให้ความช่วยเหลือต่อไป อย่างไรก็ตาม หลังจากเปิดลงทะเบียนแก้หนี้ครูในรอบแรกไปแล้ว จะใช้เวลาในการแก้ปัญหาช่วยเหลือครู ให้เสร็จสิ้นภายในระยะเวลา 1-2 เดือน จากนั้นจะเปิดลงทะเบียนแก้หนี้ครูในเฟสสองต่อไป เพราะได้รับทราบข้อมูลว่ามีครูสนใจอย่างมาก แต่ลงทะเบียนในรอบแรกไม่ทัน

แก้หนี้ครู

คุมยอดหนี้ ไม่ให้มากกว่า 70% ของรายได้ อีก 30% ให้ครูไว้ใช้จ่าย

ด้าน นายสุทิน แก้วพนา รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ  เปิดเผยว่า  หลังจากที่ กระทรวงศึกษาธิการ เปิดให้ครูทั้งประเทศลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการ “สร้างโอกาสใหม่ให้ครูไทย” ขณะนี้มีครูและบุคลากรทางการศึกษา ลงทะเบียนแก้หนี้ตามโครงการดังกล่าวแล้วกว่า 41,000 ราย

หลังจากประมวลผลข้อมูลแล้ว จะส่งข้อมูลให้สถานีแก้หนี้ ครูฯ เพื่อตรวจสอบข้อมูลอีกครั้ง จากนั้นจะเชิญลูกหนี้ และผู้ค้ำประกัน มาให้ข้อมูลครูรายบุคคล โดยให้ข้อมูลทั้งรูปแบบออนไลน์ และออนไซต์  เพื่อให้สถานีแก้ หนี้ครูฯ ใช้ข้อมูลเพื่อควบคุมยอดหนี้ทั้งหมดของผู้กู้ ไม่ให้มากกว่า 70% ของรายได้ เพื่อให้ครูมีเงินใช้จ่ายได้ 30% ของเงินเดือน

และติดต่อเจรจากับสหกรณ์ออมทรัพย์ครู และสถาบันการเงินของรัฐที่เป็นเจ้าหนี้ทุกราย รวมทั้ง เชิญลูกหนี้ และผู้ค้ำประกันทุกคน มาเจรจาไกล่เกลี่ยกับเจ้าหนี้ทุกราย

แก้หนี้ครู

สำหรับวิธีปรับโครงสร้างหนี้มี 8 วิธี ดังนี้

  • ยืดระยะเวลาผ่อนชำระหนี้ออกไป เพื่อให้ค่างวดลดลง
  • พักชำระเงินต้นช่วงระยะเวลาหนึ่ง เช่น 6 เดือน หรือ 12 เดือน
  • ลดอัตราดอกเบี้ยที่เคยตกลง หรือกำหนดไว้ในสัญญา เพื่อลดภาระดอกเบี้ยจ่าย
  • ยก หรือ ผ่อนปรนดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ เพื่อให้ค่างวดที่ผ่อนเข้ามา สามารถตัดเงินต้นได้มากขึ้น
  • เพิ่มเงินทุนหมุนเวียน เพื่อเสริมสภาพคล่อง และสำรองไว้ยามฉุกเฉิน
  • เปลี่ยนประเภทหนี้จากสินเชื่อดอกเบี้ยสูง เป็นสินเชื่อที่มีดอกเบี้ยต่ำกว่า
  • ปิดจบจ่ายหนี้เร็วขึ้น เพื่อลดภาระดอกเบี้ย
  • ถ้ามีเงินก้อน รีไฟแนนซ์ปิดสินเชื่อจากเดิม เพื่อใช้สินเชื่อที่ใหม่ที่มีเงื่อนไขดีกว่า

อ่านข่าวเพิ่มเติม

 

 

Avatar photo