Economics

ยอดคำสั่งซื้อพุ่ง! ดันส่งออกเดือน ก.พ. โต 16.2% คาดทั้งปีโต 5% ตามเป้า

“สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือ” เผยยอดคำสั่งซื้อสินค้าทุกกลุ่มอุตสาหกรรมปรับตัวดีขึ้น ดันส่งออกเดือนกุมภาพันธ์ขยายตัว 16.2% คาดไตรมาสแรกขยายตัว 8% ส่วนทั้งปีคาดโต 5% ตามเป้า

นายชัยชาญ เจริญสุข ประธาน สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เปิดเผยภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทยเดือน กุมภาพันธ์ 2565 มีมูลค่า 23,483 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 16.2% อานิสงส์จากคำสั่งซื้อสินค้าทุกกลุ่มอุตสาหกรรมปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะสินค้าเกษตร ซึ่งเป็นคำสั่งซื้อสินค้าที่มาจากช่วงปลายปี 2564-ต้นปี 2565 หรือช่วงก่อนเกิดสงครามรัสเซีย-ยูเครน และคาดว่าในเดือนมีนาคม จะยังเติบโตต่อเนื่อง โดยมีมูลค่าส่งออกอยู่ที่ 23,000-24,000 ล้านดอลลาร์ ใกล้เคียงกับปีก่อน ทำให้คาดว่าในไตรมาส 1/65 การส่งออกจะขยายตัว 8% เนื่องจากมีการยืนยันคำสั่งซื้อไว้แล้วล่วงหน้า

ส่งออกเดือนกุมภาพันธ์

ทั้งนี้ สรท. ติดตามและประเมินผลกระทบจากการสู้รบระหว่างรัสเซีย-ยูเครน และมาตรการตอบโต้ด้านการค้าและการเงินของประเทศสหรัฐและสหภาพยุโรป ซึ่งคาดการณ์เบื้องต้นว่า อาจมีผลกระทบต่อทั้งเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะการเพิ่มขึ้นของต้นทุนภาคการผลิต ทั้งจากราคาพลังงานและราคาวัตถุดิบปรับตัวสูงขึ้น อาทิ เหล็ก ธัญพืช เซมิคอนดักเตอร์ ซึ่งอาจส่งผลให้คำสั่งซื้อจากคู่ค้าลดลงบางส่วน

อย่างไรก็ตาม หากสถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครน ยังคงยืดเยื้อ อาจกระทบต่อการส่งออกในไตรมาส 2/65 โดยอาจมีคำสั่งซื้อลดลงประมาณ 4-5 พันล้านดอลลาร์ซึ่งจะส่งผลให้การส่งออกของไทยในไตรมาส 2/65 ขยายตัว 2-4% โดยอยู่ภายใต้สมมติฐาน ดังนี้

  1. ค่าเงินบาทต้องไม่ต่ำกว่า 33 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ
  2. ราคาพลังงานอยู่ระหว่าง 95-105 ล้านดอลลาร์/บาร์เรล
  3. คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ 0.5% ต่อเนื่องในช่วงฟื้นฟู
  4. เสริมสภาพคล่องให้ผู้ประกอบการต่อเนื่อง (Soft loan)
  5. กรณีพิพาทรัสเชีย-ยูเครน ไม่ปานปลายขยายวงกว้างไปมากกว่านี้

“ผู้ประกอบการทุกกลุ่มอุตสาหกรรม ขณะนี้ยังมีคำสั่งซื้อล่วงหน้าอยู่ที่ประมาณ 30% หลังจากช่วงไตรมาส 2/65 เป็นต้นไป ปริมาณคำสั่งซื้อจะลดลง แต่ราคาต่อหน่วยจะเพิ่มขึ้น 5-10% ตามราคาพลังงาน” นายชัยชาญ กล่าว

ส่งออกเดือนกุมภาพันธ์

ทั้งนี้ หากสถานการณ์การสู้รบระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ไม่ขยายวงกว้างไปมากกว่านี้ และอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทยังคงทรงตังอยู่ที่ระดับ 33 บาท/ดอลลาร์ สรท. ประเมินว่าการส่งออกของไทยปี 2565 จะยังเติบโตได้ที่ 5% (ณ เมษายน 2565) หรือทั้งปีส่งออกรวมมูลค่า 284,880 ล้านดอลลาร์ หรือเฉลี่ยต่อเดือนอยู่ที่ประมาณ 23,500 ล้านดอลลาร์ อย่างไรก็ดี ยังคงต้องจับตาแนวโน้มสถานการณ์ความขัดแย้งของรัสเซีย-ยูเครน ที่ยังคงไม่แน่นอน

สำหรับปัจจัยเสี่ยงที่เป็นอุปสรรคสำคัญ ได้แก่

1. สถานการณ์ข้อพิพาทระหว่างยูเครนและรัสเซีย ส่งผลกระทบโดยตรงต่อการค้าระหว่างประเทศและปัจจัยที่เกี่ยวเนื่อง ซึ่งอาจทำให้มีการหยุดชะงักหรือชะลอตัวในภาคการผลิตเพื่อส่งออก จึงมีความจำเป็นที่ต้องเฝ้าติดตามอย่างใกล้ชิด เช่น

  • ราคาพลังงาน (น้ำมันและก๊าซธรรมชาติ) ทรงตัวในระดับสูง แม้จะส่งผลให้หมวดหมู่สินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันมีมูลค่าสูงขึ้น ในทางกลับกันส่งผลต่อต้นทุนการผลิตสินค้าเกือบทุกประเภท รวมถึงต้นทุนการขนส่งที่ต้องปรับตัวสูงขึ้น ตามกลไกราคาพลังงานในตลาดโลก กระทบเป็นห่วงโซ่มายังราคาสินค้าอุปโภคบริโภคปรับตัวสูงขึ้นหลายเท่าตัวทั่วโลก
  • ปัญหาวัตถุดิบขาดแคลนและราคาผันผวน อาทิ เซมิคอนดักเตอร์, เหล็ก, แร่หายาก, โลหะหายาก เช่น นีออน แพลเลเดียม และแพลตตินัม, สินค้าธัญพืชที่เป็นวัตถุดิบ เช่น ข้าวสาลี, ข้าวโพด, ดอกทานตะวัน, วัตถุดิบที่ใช้ทำปุ๋ย เป็นต้น

2. ขาดแคลนแรงงานในภาคการผลิต และต้นทุนการจ้างงานปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง

3. ปัญหาความหนาแน่นภายในท่าเรือประเทศปลายทาง ทำให้ต้องใช้ระยะเวลานานในการขนถ่ายสินค้า รวมถึงปัญหา Space allocation ไม่เพียงพอ และค่าระวางเรือยังคงทรงตัวในระดับสูง ประกอบกับมาตรการล็อกดาวน์ของจีนอาจส่งผลกระทบเรื่อง Container circulation และความล่าช้าของตารางการเข้าเทียบท่า

4. การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน ในหลายประเทศมีการฉีดวัคซีนกระตุ้นเข็มที่สามและเข็มที่สี่ต่อเนื่อง และเริ่มมีการผ่อนคลายมาตรการสำหรับการเดินทางเข้าประเทศสะดวกมากขึ้น รวมถึงประเทศไทยด้วย ในทางกลับกันจีนประกาศล็อคดาวน์เซียงไฮ้ และเมืองสำคัญ เนื่องจากมีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้น และตามมาตรการ Zero covid อาจทำให้การค้าขายกับจีนมีการชะลอตัวไปบ้างเล็กน้อย อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องติดตามและประเมินสถานการณ์การอย่างใกล้ชิด

ส่งออกเดือนกุมภาพันธ์

สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย มีข้อเสนอแนะ ได้แก่

  1. สรท. ขอให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รักษาเสถียรภาพค่าเงินบาทไม่ให้ต่ำกว่า 33 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ ทั้งนี้ เพื่อไม่เป็นการซ้ำเติมผู้ประกอบการที่ต้องแบกรับต้นทุนในส่วนอื่น
  2. คงระดับอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.5% เพื่อประคองให้การฟื้นตัวภาคธุรกิจยังคงดำเนินการได้ต่อเนื่อง
  3. เร่งเสริมสภาพคล่องให้ภาคธุรกิจ ภาคส่งออก นำเข้า ภาคบริการ เพื่อเสริมให้เศรษฐกิจในภาพรวมเติบโตได้
  4. เร่งมองหาช่องทางขยายตลาดเพิ่มเติม ทั้งกลุ่มตลาดศักยภาพระดับรองที่อาจเป็นโอกาสของสินค้าไทย รวมถึงตลาดที่สามารถทดแทนกลุ่มสินค้าที่อาจได้รับผลกระทบจากการชะลอคำสั่งซื้อ จากกลุ่มประเทศกรณีพิพาท
  5. ขอให้ภาครัฐช่วยควบคุมต้นทุนภาคการผลิตตลอดโซ่อุปทาน อาทิ ค่าไฟ ค่าขนส่ง ค่าวัตถุดิบขั้นกลางสำหรับการผลิตสินค้าอุปโภคบริโภค
  6. หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ต้องพิจารณาเรื่องความมั่นคงในด้านต่างๆ มากขึ้น จากประเด็นกรณีพิพาทของรัสเซีย-ยูเครน ที่ส่งผลกระทบไปทั่วโลก อาทิ ความมั่นคง ด้านอาหาร ด้านพลังงานหรือพลังงานทางเลือก ด้านวัตถุดิบในการผลิตสำหรับสินค้าอุปโภคบริโภค ด้านการเงิน เป็นต้น

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo