Economics

คปภ.ออกมาตรการ ‘ป้องกัน-เยียวยา-ฟื้นฟู’ผู้ประสบภัย

คปภ. ออกมาตรการ “ป้องกัน-เยียวยา-ฟื้นฟู” พร้อมส่งหนังสือถึงสมาคมประกันชีวิต-วินาศภัยไทย บูรณาการความช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัย 

ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับ และส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า จากกรณีที่พายุโซนร้อน “ปาบึก” ได้เคลื่อนตัวเข้าสู่ประเทศไทย ส่งผลให้ภาคใต้บริเวณจังหวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส ระนอง พังงา ภูเก็ต และสตูล มีลมแรง ฝนตกเป็นบริเวณกว้างและตกหนักมากในหลายพื้นที่ทำให้เกิดน้ำป่าไหลหลาก น้ำท่วมฉับพลัน ดินโคลนถล่ม

mg 8780

ขณะนี้ได้รับรายงานว่าส่งผลกระทบต่อพืชสวน ไร่ นาข้าว ชีวิต และทรัพย์สินของประชาชนแล้ว สำนักงาน คปภ.ได้ประสานงานกับหน่วยงานในพื้นที่ทั้งภาครัฐ และเอกชน เพื่อติดตามดูแลในเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง

เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2562 สำนักงาน คปภ. ได้ส่งหนังสือถึงสมาคมประกันวินาศภัยไทย และสมาคมประกันชีวิตไทย เรื่องมาตรการในการดูแลสิทธิประโยชน์ของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติ โดยขอความร่วมมือสมาคมประกันวินาศภัยไทย และสมาคมประกันชีวิตไทย แจ้งให้ บริษัทประกันวินาศภัย และบริษัทประกันชีวิต ติดตามสถานการณ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิด เพื่อเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนที่ได้รับผลกระทบ และเยียวยาความเสียหายได้ทันท่วงที

โดยให้มีการประสานงานกับหน่วยงานในพื้นที่ต่างๆ ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบกับประชาชนผู้เอาประกันภัย เพื่อให้ติดตามสถานการณ์ และกำหนดมาตรการป้องกันความเสียหายแก่ชีวิต ร่างกาย ทรัพย์สินของประชาชน และเตรียมความพร้อมรองรับภัยพิบัติทางธรรมชาติที่อาจจะเกิดขึ้น

ทั้งนี้เมื่อมีความเสียหายเกิดขึ้นแก่ชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สินของผู้เอาประกันภัย ขอให้บริษัทประกันวินาศภัย บริษัทประกันชีวิต เร่งรัดตรวจสอบความเสียหาย และพิจารณาชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้เป็นไปอย่างถูกต้อง รวดเร็ว และเป็นธรรม

รวมทั้งขอให้สมาคมประกันวินาศภัยไทย สมาคมประกันชีวิตไทยกำชับให้บริษัทประกันวินาศภัย และบริษัทประกันชีวิต สรุปรายงานความเสียหาย และการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจากสถานการณ์ภัยธรรมชาติ นำส่งข้อมูลให้สายคุ้มครองสิทธิประโยชน์ สำนักงาน คปภ. เพื่อดำเนินการติดตาม และให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ รวดเร็วและเป็นธรรมต่อไป

mg 8748

นอกจากนี้ยังได้มีบันทึกสั่งการไปยัง สำนักงาน คปภ.ภาค 8 (สุราษฏร์ธานี) และ ภาค9 (สงขลา)  ให้ดำเนินการ ดังนี้

1. บูรณาการการทำงาน และอำนวยความสะดวกให้แก่หน่วยงานในพื้นที่ต่างๆ ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบกับประชาชน ผู้เอาประกันภัย เพื่อติดตามสถานการณ์ และกำหนดมาตรการเยียวยาความเสียหายแก่ชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สินของประชาชน และเตรียมความพร้อมรองรับภัยพิบัติทางธรรมชาติที่อาจจะเกิดขึ้น

2. กรณีความเสียหายเกิดขึ้นแก่ชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สินของผู้เอาประกันภัย ให้ประสานบริษัทประกันวินาศภัย และบริษัทประกันชีวิตในพื้นที่ เพื่อเร่งรัดตรวจสอบความเสียหาย และพิจารณาชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้เป็นไปอย่างถูกต้อง รวดเร็ว และเป็นธรรม

3. ติดตาม และรายงานผลความเสียหาย พร้อมเสนอความเห็น เพื่อรวบรวมเสนอต่อเลขาธิการต่อไป

4. กรณีมีเรื่องเร่งด่วนที่จำเป็นต้องสั่งการโดยเร็ว ให้ผู้อำนวยการ สำนักงาน คปภ.ภาค 8 และ 9 ติดต่อกับเลขาธิการโดยตรง

นอกจากนี้ยังได้มีการประชุมวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ระหว่างสำนักงาน คปภ.ส่วนกลาง กับ สำนักงาน คปภ.ภาค 8-9 เพื่อซักซ้อมการปฏิบัติให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด และติดตามสถานการณ์ เพื่อให้ความช่วยเหลือประชาชนด้านประกันภัยที่ได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติในครั้งนี้

โดยกำหนดมาตรการไว้ 3 แนวทางหลักๆ คือ

1.มาตรการป้องกัน ให้ประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐ และเอกชนในพื้นที่ที่รับผิดชอบ เพื่อติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดยพื้นที่ที่ยังไม่ถูกน้ำท่วมให้เร่งประสานกับภาคเอกชน เช่น หอการค้าจังหวัด ชมรมประกันภัยจังหวัด เพื่อจัดหาพื้นที่จอดรถที่น้ำท่วมไม่ถึงให้กับประชาชน อันเป็นการลดผลกระทบกรณีรถยนต์ถูกน้ำท่วม

2.มาตรการเยียวยา ในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติในครั้งนี้ ให้สำนักงาน คปภ.จังหวัด ในการกำกับของสำนักงานคปภ. ภาค 8-9 บูรณาการทำงานร่วมกัน เพื่อเยียวยาผู้ประสบภัย และประสานความร่วมมือด้านข้อมูลการจัดทำประกันภัย ประสานงานการสำรวจภัย และการประเมินความเสียหาย

รวมทั้งรวบรวมข้อมูลความเสียหาย ประสานติดตาม เร่งรัดให้มีการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนอย่างรวดเร็ว ถูกต้องและเป็นธรรม พร้อมได้เน้นย้ำให้ยึดถือแนวทางการจ่ายค่าสินไหมทดแทนประกันภัยรถยนต์ที่เคยปฏิบัติ เกี่ยวกับการซ่อมรถยนต์ที่ถูกน้ำท่วมเมื่อปี 2554 เพื่อป้องกันการเอาเปรียบผู้ทำประกันภัยที่รถยนต์ถูกน้ำท่วมได้รับความเสียหาย

mg 8790

3.มาตรการฟื้นฟู ซึ่งหากพื้นที่ใด มีความจำเป็น ต้องออกคำสั่งนายทะเบียน เพื่อผ่อนผันเงื่อนไขกรมธรรม์ประกันภัยในเขตพื้นที่ประสบวาตภัย เพื่อช่วยเหลือประชาชนผู้เอาประกันภัย

อาทิเช่น มาตรการในการขยายระยะเวลาการผ่อนผันการชำระเบี้ยประกันภัยให้กับผู้เอาประกันภัย หรือการออกประกาศ สำนักงาน คปภ. เพื่ออนุญาตให้ตัวแทนประกันชีวิต ตัวแทนประกันวินาศภัย นายหน้าประกันชีวิต นายหน้าประกันวินาศภัยในพื้นที่ที่เกิดเหตุวาตภัยที่ใบอนุญาตสิ้นอายุให้สามารถขอขยายระยะเวลาพร้อมขอต่ออายุใบอนุญาต หรือ การเลื่อนวันสอบใบอนุญาตของตัวแทนประกันวินาศภัย นายหน้าประกันชีวิต นายหน้าประกันวินาศภัยในพื้นที่ที่เกิดเหตุวาตภัย ก็ให้รีบเสนอมาเพื่อให้เลขาธิการพิจารณาออกคำสั่ง

กรณีมีความจำเป็นในการมอบเครื่องอุปโภค บริโภค ต่างๆ เพื่อเป็นการฟื้นฟู ให้สำนักงานภาค 8 และ 9 ประสานเข้ามายังส่วนกลางได้ทันที

“ผมขอย้ำว่า สำนักงาน คปภ.จะใช้สรรพกำลังและเครือข่ายภายใต้กรอบอำนาจหน้าที่เพื่อช่วยเหลือเยียวยาด้านประกันภัยให้กับผู้เอาประกันภัย รวมถึงประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากวาตภัยในครั้งนี้อย่างเต็มที่” ดร.สุทธิพล กล่าว

Avatar photo