Economics

‘ส.อ.ท.’ เผยยอดส่งออกรถยนต์เดือน ก.พ. เฉียด 8 หมื่นคัน ลดลง 0.02%

“ส.อ.ท.” เผยยอดส่งออกรถยนต์เดือนกุมภาพันธ์อยู่ที่ 79,451 คัน ลดลง 0.02% เหตุขาดแคลนชิปและชิ้นส่วน ทำให้การส่งออกลดลงในตลาดเอเชีย ออสเตรเลีย อเมริกากลาง และอเมริกาใต้

นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ยอดส่งออกรถยนต์สำเร็จรูปในเดือนกุมภาพันธ์ 2565 อยู่ที่ 79,451 คัน ลดลง 0.02% จากเดือนกุมภาพันธ์ 2564 และลดลง 13.77% จากเดือนมกราคม 2565 จากการชะลอผลิตรถยนต์นั่งบางรุ่นเพราะขาดแคลนชิปและชิ้นส่วน ทำให้การส่งออกลดลงในตลาดเอเชีย ออสเตรเลีย อเมริกากลาง และอเมริกาใต้ ขณะที่มีมูลค่าการส่งออก 45,539.12 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.70% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

ยอดส่งออกรถ

สำหรับการส่งออกรถยนต์สำเร็จรูปในช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-ก.พ.65) อยู่ที่ 149,284 คัน ลดลง 2.81% จากช่วงเดียวกันของปี 64 แต่มีมูลค่าการส่งออก 88,312.14 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.49% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

“เป้าส่งออกปีนี้ที่ตั้งไว้ 1 ล้านคันไม่รู้ว่าจะมีผลกระทบจากปัญหาการขาดแคลนชิปหรือไม่ เพราะรัสเซียและยูเครนเป็นผู้ผลิตสินแร่ที่นำมาใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตชิปและแบตเตอรี่ ซึ่งทำให้ราคาสูงขึ้นจากเดิมไม่น้อยกว่า 50% ขอรอดูสถานการณ์อีก 1-2 เดือน” นายสุรพงษ์ กล่าว

สำหรับการผลิตรถยนต์ทั้งหมดในเดือนกุมภาพันธ์ 2565 อยู่ที่ 155,660 คัน เพิ่มขึ้น 0.30% จากเดือนกุมภาพันธ์ 2564 และเพิ่มขึ้น 2.58% จากเดือนมกราคม 2565 เนื่องจากการผลิตรถกระบะขายในประเทศและผลิตส่งออกที่เพิ่มขึ้น 27.82% และ 10.95% ตามลำดับ แต่ยังผลิตรถยนต์นั่งลดลงจากการการขาดแคลนชิปและชิ้นส่วนในบางรุ่น และยังกังวลการขาดแคลนชิปและชิ้นส่วนที่อาจรุนแรงขึ้นจากสงครามยูเครนจึงต้องติดตามอย่างใกล้ชิดต่อไป ขณะที่จำนวนรถยนต์ที่ผลิตได้ในช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้อยู่ที่ 307,407 คัน เพิ่มขึ้น 1.35% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยยังคงเป้าการผลิตปีนี้ไว้ที่ 1.8 ล้านคัน

ยอดส่งออกรถ
นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์

“ผลกระทบจากสถานการณ์สู้รบในยูเครนมีผลกระทบต่อการผลิตรถยนต์แน่นอน ช่วงสองเดือนแรกของปีนี้ที่ยังไม่เกิดเหตุก็มีผลกระทบจากปัญหาขาดแคลนชิปอยู่แล้ว ต้องดูว่าสถานการณ์ยืดเยื้อหรือลุกลามบานปลายหรือไม่ แม้ก่อนหน้านี้จะประเมินว่าจะเกิดปัญหาความขัดแย้ง แต่ไม่คิดว่าจะเกิดเร็วจากที่คาดไว้ว่าจะเป็นช่วงไตรมาสที่ 3-4 ของปีนี้” นายสุรพงษ์ กล่าว

ขณะที่ยอดขายรถยนต์ภายในประเทศ อยู่ที่ 74,489 คัน เพิ่มขึ้น 7.25% จากเดือนมกราคม 2564 และเพิ่มขึ้น 26.3 จากเดือนเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากรัฐบาลอนุญาตให้จัดกิจกรรมด้านเศรษฐกิจมากขึ้น การช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 การรับประกันรายได้เกษตรกร การกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลเช่นคนละครึ่ง เราเที่ยวด้วยกัน ฯลฯ การเปิดประเทศต้อนรับนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศ การส่งเสริมการขายของผู้จำหน่ายรถยนต์ และงานบางกอกอินเตอร์เนชั่นแนลมอเตอร์โชว์ จะช่วยเพื่มยอดขายรถยนต์ในเดือนมีนาคม-เมษายน 2565 โดยเฉพาะรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งคาดว่าการจัดงานปีนี้จะมียอดจองเกิน 3 หมื่นคัน

ยอดส่งออกรถ

สำหรับยานยนต์ไฟฟ้าป้ายแดงในเเดือนกุมภาพันธ์ 2565 แบบแบตเตอรี่ (BEV) จดทะเบียนใหม่มีจำนวน 873 คัน เพิ่มขึ้น 137.23% แบบผสม (HEV) มีจำนวน 5,363 คัน เพิ่มขึ้น 35.81% และผสมแบบเสียบปลั๊ก (PHEV) มียอดจดทะเบียนใหม่ 957 คัน เพิ่มขึ้น 50.47% จากจากช่วงเดียวกันของปีก่อน

นายสุรพงษ์ กล่าวว่า ยอดจดทะเบียนยานยนต์ไฟฟ้ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด โดยคาดว่ายอดจดทะเบียนจะเพิ่มขึ้นจาก 1,900 คันในปี 2564 เป็น 4,000-5,000 คันในปีนี้ แต่ผู้บริโภคยังมีความกังวลเกี่ยวกับสถานีชาร์จไฟที่ไม่เพียงพอ และราคาที่ยังสูงอยู่ หากมีการนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าที่มีราคาประมาณคันละ 6 แสนบาท มีความเป็นไปได้ที่ยอดจดทะเบียนปีนี้จะเพิ่มเป็น 8,000-10,000 คัน

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo