Economics

 ซีพีเอฟ ชี้ผลดีราคาเนื้อหมูฟื้นทั้งไทย-เวียดนาม

93572

 

 

นายอดิเรก ศรีประทักษ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF คาดว่าผลประกอบการปี 2561 น่าจะปรับตัวดีขึ้นจากปีก่อน เนื่องจากธุรกิจอาหารสัตว์มีความแข็งแกร่ง และอาหารสำเร็จรูป ปัจจุบันบริษัทมีรายได้มาจากธุรกิจอาหารสัตว์ 45% ธุรกิจอาหารสำเร็จรูป 18% และธุรกิจกลางน้ำ ธุรกิจฟาร์มราว 37% ซึ่งมีแนวโน้มดีขึ้น
โดยไตรมาส 2/2561 ราคาเนื้อหมูทั้งในไทยและเวียดนามฟื้นตัว หลังจากได้รับผลกระทบเรื่องราคาช่วงปี 2560 รวมทั้งราคากุ้งก็ปรับตัวดีขึ้นด้วยเช่นกัน
“ธุรกิจอาหารสัตว์ของเราแข็งแรง มั่นคงมา 30-40 ปีแล้ว สินค้าอาหารสำเร็จรูปก็เติบโตดี ราคาหมูที่ไม่ค่อยดีเมื่อปี 2560 แต่ตอนนี้ราคากลับมาแล้วทั้งในไทยและเวียดนาม วงจรธุรกิจหมูใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 2 ปี ธุรกิจกุ้งก็กลับมาดี”
นายอดิเรก เชื่อว่าปีนี้ราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ ทั้งข้าวโพด, สาลี และถั่วเหลืองจะสูงขึ้น 3-5% ตามราคาน้ำมันโลก
นายอดิเรก กล่าวว่าบริษัทเตรียมความพร้อมขยายช่องทางการจำหน่ายผ่านอีคอมเมิร์ซ เพื่อให้การทำธุรกิจครบวงจรมากขึ้น รวมถึงหาแนวทางการขยายธุรกิจโลจิสติกส์ เพื่อสร้างความได้เปรียบด้านการแข่งขันในอนาคต แม้ แจ๊ค หม่า ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งอาลีบาบากรุ๊ป จะมีธุรกิจอีคอมเมิร์ซเป็นหลัก ปัจจุบันได้เริ่มหันมาลงทุนเปิดหน้าร้าน ซึ่งเป็นพื้นฐานเดิมของธุรกิจ
นายสุขวัฒน์ ด่านเสริมสุข ประธานคณะผู้บริหาร ธุรกิจอาหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่(ร่วม) กล่าวว่า บริษัทตั้งเป้ายอดขายจากธุรกิจอาหารแปรรูปเติบโตปีละ 5% โดยเน้นขยายธุรกิจอาหารแปรรูปเพิ่ม เช่น เนื้อสัตว์หมัก อาหารแปรรูปชิ้นส่วน จะขยายทั้งตลาดในประเทศและส่งออก
น.สพ.สุจินต์ ธรรมศาสตร์ ประธานผู้บริหารฝ่ายปฏิบัติการสายธุรกิจสัตว์น้ำ กล่าวว่าบริษัทเข้าไปขยายธุรกิจฟาร์มกุ้งและแปรรูปกุ้งในประเทศบราซิล เนื่องจากการบริโภคกุ้งมากถึง 1 แสนตันต่อปีแต่การผลิตยังไม่เพียงพอ ภาพรวมเศรษฐกิจดี การผลิตกุ้งยังน้อย และพันธุ์กุ้งยังพัฒนาไม่มาก ซีพีเอฟได้พันธมิตรที่ดี ซึ่งจะเป็นโอกาสในการนำเข้าพันธุ์กุ้ง และขยายโรงเพาะฟักกุ้งในบราซิลในอนาคต
ปัจจุบันบริษัทมีธุรกิจกุ้งอยู่ใน 4 ประเทศ ได้แก่ ไทย เวียดนาม อินเดีย และล่าสุดคือ บราซิล ในประเทศอินเดียและเวียดนาม มีการขยายตัวทางการผลิต โดยเฉพาะในอินเดียตั้งเป้าขยายการเลี้ยงกุ้งเป็น 1 ล้านตันภายในปี 2563 จากปัจจุบันมีการเลี้ยงภาพรวมอยู่ที่ 6 แสนตัน จึงเป็นโอกาสของซีพีเอฟที่มีธุรกิจผลิตอาหารสัตว์น้ำในอินเดียและเวียดนาม ส่วนในด้านการเลี้ยงกุ้ง ซีพีเอฟมีผลผลิตกุ้งในอินเดีย เพียง 2,000 ตันและ 5,000 ตันในเวียดนาม
ส่วนกำลังการผลิตกุ้งในไทยปีนี้จะอยู่ที่ 3 แสนตัน เติบโต 5-10% จากปีก่อน แม้ว่าผลผลิตกุ้งไทยจะขยายตัวกลับมาอย่างช้าๆ แต่ธุรกิจกุ้งจะเติบโตอย่างมั่นคง เพราะการเลี้ยงในปัจจุบันต้องมีการลงทุนในเทคโนโลยีใหม่ ใช้พันธุ์กุ้งต้านทานโรค และมีประสิทธิภาพสูงขึ้น
ขณะเดียวกันวานนี้ (24เมษายน) ที่ประชุมผู้ถือหุ้น CPF อนุมัติเพิ่มวงเงินการออกและเสนอขายหุ้นกู้อีก 5 หมื่นล้านบาท จากเดิมที่ประชุมผู้ถือหุ้นครั้งที่ 1/2559 อนุมัติวงเงิน 1 แสนล้านบาท รวมเป็นเงิน 1.5 แสนล้านบาท เพื่อสำรองเป็นแหล่งในการระดมทุนระยะยาวสำหรับใช้ในการดำเนินธุรกิจ และชำระคืนหนี้

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight