‘ธปท.’ ห้ามใช้สินทรัพย์ดิจิทัล ‘ทุกประเภท’ ชำระสินค้า-บริการ เว้นลงทุน ชี้มีความผันผวนสูง อาจใช้เป็นเครื่องมือฟอกเงิน และจะส่งต่อเสถียรภาพระบบการเงินและระบบเศรษฐกิจโดยรวม
นางสาวสิริธิดา พนมวัน ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายระบบการชำระเงินและเทคโนโลยีทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า หลังจากธปท. สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และกระทรวงการคลัง ได้หารือร่วมกันถึงประโยชน์และความเสี่ยงของสินทรัพย์ดิจิทัล (ดิจิทัล แอสเซท) และเห็นความจำเป็นในการกำกับดูแลและควบคุมการนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้เป็นสื่อกลางในการชำระค่าสินค้าและบริการ (Means of Payment)
แนวทางกำกับดูแลการนำสินทรัพย์ดิจิทัล มาใช้เป็นสื่อกลางชำระค่าสินค้าและบริการ โดยธปท. มีจุดยืนคือ ห้ามนำสินทรัพย์ดิจิทัลทุกประเภท มาใช้เป็นสื่อกลางในการชำระสินค้าและบริการ ยกเว้นการใช้เพื่อลงทุนเท่านั้น เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบต่อเสถียรภาพทางการเงินและระบบเศรษฐกิจของประเทศนั้น
ความเสี่ยงจากความผันผวนของมูลค่าสินทรัพย์ดิจิทัล ที่มีการเคลื่อนไหวขึ้นลงแตกต่างกันสูงมาก ทำให้มีความเสี่ยงหากนำไปชำระสินค้าและบริการ ลองนึกภาพถึงการนำสินทรัพย์ดิจิทัลไปซื้อสินค้าที่มีราคาเท่ากัน อาจต้องใช้สินทรัพย์ดิจิทัลในจำนวนที่แตกต่างกันในแต่ละวัน ตามการขึ้นลงของราคาสินทรัพย์ดิจิทัล
รวมถึงหากนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาเป็นตัวกลางในการรับชำระสินค้าและบริการ อาจทำให้เกิดระบบการรับชำระเงินในหลายๆ ระบบ จนเกิดหน่วยวัดมูลค่าหรือหน่วยการตั้งราคานอกเหนือจากสกุลเงินบาท ซึ่งจะเป็นต้นทุนต่อผู้ใช้บริการ จากการที่มีการแลกเปลี่ยนสกุลเงินต่างๆ ไปมา สุดท้ายต้นทุนเหล่านั้นจะกระทบกับต้นทุนการชำระเงินของประเทศ
โดยในกรณีหากระบบการเงินเหล่านั้นเกิดวิกฤตสภาพคล่อง กลไกในการเข้าช่วยเหลือด้านสภาพคล่องอาจไม่สามารถช่วยเหลือได้ เนื่องจากระบบมีการกระจายตัวหลายๆ ระบบ และสื่อที่ใช้ก็ไม่ใช่เงินบาทด้วย
นางสาวสิริธิดา กล่าวว่า ปัจจุบันผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลได้ขยายขอบเขตการประกอบธุรกิจ ในลักษณะให้บริการ ชักชวนหรือแสดงจุดยืน ว่าพร้อมจะให้บริการแก่ร้านค้าและผู้ประกอบการในธุรกิจต่างๆ อาทิ จัดทำระบบและโฆษณาเชิญชวน และอาจส่งผลให้เกิดการนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้เป็นสื่อกลางในการชำระค่าสินค้าและบริการเป็นวงกว้าง นอกเหนือไปจากวัตถุประสงค์เพื่อการลงทุน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพระบบการเงินและระบบเศรษฐกิจโดยรวม
รวมถึงเป็นความเสี่ยงต่อประชาชนและธุรกิจ อาทิ ความเสี่ยงจากการสูญมูลค่าที่เกิดจากความผันผวนของราคา ความเสี่ยงจากการถูกโจรกรรมทางไซเบอร์ ความเสี่ยงข้อมูลส่วนบุคคลรั่วไหล หรือการถูกใช้เป็นเครื่องมือของการฟอกเงิน
นางสาวสิริธิดา กล่าวว่า หน่วยงานกำกับดูแลต่างตระหนักถึงความเสี่ยงและผลกระทบดังกล่าว จึงพิจารณาใช้อำนาจตามกรอบกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อควบคุมไม่ให้เกิดการนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้เป็นสื่อกลางในการชำระค่าสินค้าหรือบริการในวงกว้าง และจะมีแนวทางกำกับดูแลที่เหมาะสม
ทั้งนี้ สำหรับบริการที่เกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลบางประเภท ที่เป็นประโยชน์ต่อนวัตกรรมทางการเงินและไม่สร้างความเสี่ยงเชิงระบบ โดยคำนึงถึงทั้งการเพิ่มศักยภาพของระบบการเงินของประเทศ และประโยชน์ของผู้ใช้บริการเป็นสำคัญ โดยหน่วยงานกำกับดูแลจะรับฟังความคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้องและประชาชนต่อไป
อ่านข่าวเพิ่มเติม
- ‘กรมบัญชีกลาง’ ดีเดย์ 1 ก.พ. เปิดใช้ระบบ Digital Pension บูรณาการข้อมูลบำเหน็จบำนาญ
- ‘ซีเค พาวเวอร์’ ตั้งเป้า 3 ปี ธุรกิจโตสองเท่า ผ่าน 3 การลงทุนใหม่ในต่างประเทศ เน้นพลังงานหมุนเวียน
- ‘IRPC’ ร่วมเสวนาเวที ‘UN Women’ ส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศ-ศักยภาพสตรี