Economics

‘สภาผู้ส่งออก’ คาดส่งออกเดือน ม.ค. โต 6-7% วอนคุมเงินบาท-ต้นทุนพลังงาน

“สภาผู้ส่งออก” คาดส่งออกเดือนมกราคมโต 6-7% สั่งจับตาโอไมครอน-การขาดแคลนแรงงานในภาคการผลิต วอน “แบงก์ชาติ” คุมเงินบาท ดูแลต้นทุนพลังงาน

นายชัยชาญ เจริญสุข ประธาน สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) หรือ สภาผู้ส่งออก คาดว่า การส่งออกในเดือนมกราคม 2565 น่าจะมีมูลค่าอยู่ที่ 21,000 ล้านดอลลาร์ หรือเติบโตอยู่ที่ 6-7% ซึ่งมากกว่าเดือนมกราคม 2564 ที่อยู่ที่ 19,000 ล้านดอลลาร์ ส่วนไตรมาส 1/2565 คาดว่าจะอยู่ที่ 5% จากการวิเคราะห์ว่าถ้าเราผ่านเดลตาที่หนักมาก ๆ มาได้ เชื่อว่าจะผ่านโอไมครอนไปได้ ประกอบกับผู้ส่งออกได้เร่งส่งออก เนื่องจากปีนี้วันตรุษจีนมาไวกว่าปีก่อน ๆ ส่วนทั้งปี 2565 ยังคงคาดการณ์เดิมเติบโตอยู่ที่ 5-8%

สภาผู้ส่งออก

ทั้งนี้ สรท. ยังคงคาดการณ์เดิมว่า ส่งออกในปี 2564 ของไทยอยู่ที่ 15% โดยคาดว่าในเดือนธันวาคม 2564 จะอยู่ที่ 15-16% มูลค่าอยู่ที่ 21,000-22,000 ล้านดอลลาร์ อย่างไรก็ตาม ถึงแม้จะมีการแพร่ระบาดของโควิดสายพันธุ์โอไมครอน แต่เชื่อมั่นว่าประสิทธิภาพของวัคซีนจะสามารถช่วยลดความรุนแรงได้ในระดับหนึ่ง

ส่วนในเดือนพฤศจิกายนเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน (YoY) พบว่า การส่งออกมีมูลค่า 23,647.9 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 24.7% ซึ่งไทยสามารถส่งออกได้ดี และคาดว่าจะมีแรงส่งต่อเนื่อง

สำหรับปัจจัยบวกที่สำคัญ ได้แก่

  1. เศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญ เช่น สหรัฐอเมริกา จีน และญี่ปุ่น ฟื้นตัวต่อเนื่อง และอุปสงค์ยังคงทรงตัวในระดับสูง รวมถึงดัชนีผู้จัดการฝ่ายการผลิตโลก (World PMI Index) ของประเทศคู่ค้าสำคัญที่ยังคงทรงตัวอยู่ ณ ระดับ 50 ถึง 60 สะท้อนการฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งของกิจกรรมการผลิตและเศรษฐกิจโลก
  2. ค่าเงินยังคงมีทิศทางอ่อนค่า จากปัจจัยความกังวลต่อการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดสายพันธุ์ใหม่โอมิครอน รวมถึงการลด ปริมาณเงินในมาตรการ QE Tapering และแผนปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้น 3 ครั้งในปี 2565 ของธนาคารกลางสหรัฐ

สภาผู้ส่งออก

สำหรับปัจจัยลบและความเสี่ยงสำคัญ ได้แก่

  1. สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 โอไมครอนทั่วโลกรวมถึงไทย จากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดสายพันธุ์ใหม่ ที่มีการพบจำนวนผู้ติดเชื้อมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศ สหภาพยุโรป และสหรัฐฯ ซึ่งเป็นประเทศคู่ค้าหลักของไทย แม้รายงานผลกระทบจากการติดเชื้อยังคงไม่รุนแรงนัก แต่รัฐบาลหลายประเทศต้องพิจารณาทบทวนเรื่องการกลับมาใช้มาตรการล็อกดาวน์ว่าจำเป็นมากน้อยเพียงใด และหากนำกลับมาใช้อีกจะต้องเข้มงวดในระดับไหน ซึ่งส่งผลต่อความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจ และการค้าระหว่างประเทศอย่างมีนัยสำคัญ
  2. แรงงานในภาคการผลิตขาดแคลนต่อเนื่อง ประกอบกับต้นทุน การจ้างงานปรับตัวสูงขึ้น กระทบการผลิตเพื่อการส่งออกที่กำลังฟื้นตัว โดยมองว่า ปีนี้ไทยน่าจะประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานในทุกภาคอุตสาหกรรม เช่น ภาคการส่งออกที่ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น ในภาพรวมไทยจึงต้องการแรงงานอยู่ที่ 200,000-400,000 คน จึงจะเพียงพอ
  3. ปัญหาความหนาแน่นภายในท่าเรือประเทศปลายทาง ทำให้ต้องใช้ระยะเวลานานในการขนถ่ายสินค้า รวมถึงปัญหา Space allocation ไม่เพียงพอ ทำให้ไม่สามารถจองระวาง ตลอดจนค่าระวางเรือยังคงสูงขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะยุโรป และสหรัฐฯ มีแนวโน้มที่จะทรงตัวสูงยาวจนถึงปลายปี 65
  4. ปัญหาวัตถุดิบขาดแคลนและราคาผันผวน เช่น เซมิคอนดักเตอร์ เหล็ก และน้ำมัน ส่งผลให้ภาคการผลิตเพื่อส่งออกยังคง ประสบปัญหาอย่างต่อเนื่อง

ดังนั้น สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย จึงมีข้อเสนอแนะ คือ

  1. ขอให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รักษาเสถียรภาพค่าเงินบาทและคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้อยู่ในระดับเหมาะสม
  2. ขอให้กระทรวงพลังงาน ควบคุมต้นทุนพลังงานให้อยู่ในระดับเหมาะสม ไม่เป็นการซ้ำเติมผู้ประกอบการที่อยู่ในช่วงการฟื้นฟูหลังได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคไวรัสโควิด-19
  3. ขอให้กระทรวงแรงงาน เร่งช่วยเหลือเรื่องปัญหาการนำเข้าแรงงานต่างด้าวในภาคการผลิต
  4. เร่งเจรจากรอบความตกลงการค้าเสรี ระหว่างประเทศไทยและยุโรป

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo