Economics

มัดรวมมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ‘รัฐบาลบิ๊กตู่’ จัดหนัก จัดเต็ม ต่อลมหายใจ สู้โควิด!

มัดรวมมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรัฐบาล “พล.อ.ประยุทธ์” จัดหนัก จัดเต็ม ต่อลมหายใจ สู้สงครามโควิด ประกาศลั่นปี 2565 จะต้องเป็นปีที่ดีขึ้นกว่าเดิมของประเทศไทยแน่นอน

การแพร่ระบาดของ “โควิด” ที่ยืดเยื้อต่อเนื่อง ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยในปี 2564 ชะลอตัวลงอย่างเห็นได้ชัด นักวิเคราะห์หลายสำนักต่างฟันธงว่า เศรษฐกิจในปีนี้คงเดินหน้าไปอย่างยากลำบาก แม้ช่วงต้นปีสถานการณ์โควิดดูเหมือนจะเริ่มคลี่คลายขึ้น แต่เมื่อเจอคลัสเตอร์ทองหล่อ และสมุทรสาครเข้าไป ก็ดูว่าความหวังในการลืมตาอ้าปากของประชาชนดูจะเลือนลาง

มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ

รัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ต้องระดมความคิดเพื่อออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง หวังต่อลมหายใจประชาชนเพื่อสู้กับ “สงครามโควิด”

#TheBangkokInsight ได้รวบรวมมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของ “รัฐบาลลุงตู่” ที่ออกมาเพื่อหวังเรียกศรัทธาความเชื่อมั่น และต่อลมหายใจประชาชนมาให้ชมกันอีกครั้ง

“คนละครึ่ง” โครงการยอดนิยมอันดับ 1 ของประชาชน

มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ

โครงการ “คนละครึ่ง” มีวัตถุประสงค์เพื่อกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยภายในประเทศ บรรเทาภาระค่าใช้จ่ายให้ประชาชน และช่วยเพิ่มสภาพคล่องให้ร้านค้ารายย่อย เป็นการสนับสนุนเศรษฐกิจฐานรากและฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ ที่รัฐออกเงินให้ครึ่งหนึ่ง และประชาชนออกเองครึ่งหนึ่ง ผ่านรูปแบบวงเงินในแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” ไม่เกิน 150 บาท/คน/วัน หรือไม่เกิน 4,500 บาทตลอดโครงการ “คนละครึ่งเฟส 3” ได้รับการโหวตจากประชาชนในกรุงเทพโพลล์ว่า เป็นโครงการที่สุดแห่งปี

“คนละครึ่งเฟสแรก” เริ่มดีเดย์ครั้งแรกเมื่อเดือนตุลาคม 2563 โดยเปิดให้ลงทะเบียนจำนวน 10 ล้านสิทธิ วงเงิน 3,000 บาท ใช้จ่ายได้ถึงธันวาคม 2563 ผลตอบรับที่ดีเกินคาด พร้อม ๆ กับคลัสเตอร์ใหม่ รัฐบาลได้เปิด “คนละครึ่งเฟส 2” โดยเปิดให้ลงทะเบียนใหม่อีก 5 ล้านสิทธิ ได้วงเงิน 3,500 บาท ขณะที่ผู้ได้สิทธิเฟสแรกได้รับเงินเพิ่ม 500 บาท ใช้จ่ายในช่วงเดือนมกราคม-มีนาคม 2564

จากนั้น ในวันที่ 14 มิถุนายน 2564 รัฐบาลได้เปิดให้ลงทะเบียน “คนละครึ่งเฟส 3” ท่ามกลาง “สงครามโควิด” ที่ระบาดรุนแรงที่สุด โดยเปิดให้ลงทะเบียนกว่า 28 ล้านสิทธิ วงเงินคนละ 3,000 บาท ใช้จ่ายได้ถึง 31 ธันวาคม 64 และได้อนุมัติวงเงินเพิ่มอีก 1,500 บาท รวมทั้งโครงการเป็น 4,500 บาท โดยจะสิ้นสุดโครงการในวันพรุ่งนี้ (31 ธ.ค.)

มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ

“เราชนะ” จัดเต็ม 9,000 บาท

“โครงการเราชนะ” มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ความช่วยเหลือด้วยการลดภาระค่าครองชีพให้แก่ประชาชน เพื่อให้นำไปใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภค โดยเฉพาะอย่างยิ่งค่าใช้จ่ายสาธารณูปโภคที่จำเป็น และค่าใช้จ่ายสำหรับการเดินทาง อันจะก่อให้เกิดการหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจไทย

“เราชนะ” สนับสนุนวงเงินสิทธิ์ช่วยเหลือให้แก่ประชาชนผู้ได้รับสิทธิ์จำนวน 33.2 ล้านคน คนละไม่เกิน 9,000 บาท ได้ดำเนินโครงการสิ้นสุดลงแล้วเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2564 โดยมียอดใช้จ่ายทำให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ รวมทั้งสิ้น 273,475 ล้านบาท

มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ

“ม.33 เรารักกัน” : มนุษย์เงินเดือนถูกใจสิ่งนี้

“ม.33 เรารักกัน” เป็นโครงการของภาครัฐที่สนับสนุนวงเงินช่วยเหลือ ผู้ประกันตนประกันสังคมมาตรา 33 ซึ่งมีอยู่ราว 9 ล้านคนทั่วประเทศ เป็นการช่วยเหลือเยียวยาแบ่งเบาภาระค่าครองชีพ และเพิ่มกำลังซื้อช่วงโควิด โดยคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2564 โดยรัฐบาลจะจ่ายเงินช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับสิทธิ รายละ 4,000 บาท

ต่อมาเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2564 คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติเพิ่มวงเงินอีก 2,000 บาท และแบ่งจ่ายรายสัปดาห์ สัปดาห์ละ 1,000 บาท จนครบวงเงิน โดยต้องใช้จ่ายภายในวันที่ 30 มิถุนายน 2564

ทั้งนี้ หลังสิ้นสุดโครงการ มีผู้ประกันตนเข้าร่วมโครงการรวม 8.14 ล้านคน มีร้านค้าเข้าร่วมโครงการ 247,899 ร้านค้า และมียอดการใช้จ่ายเงินทั้งสิ้น 48,185,847,179.56 บาท

อย่างไรก็ตาม ล่าสุด ครม.ได้เห็นชอบเยียวยาผู้ประกันตน ม.33 ม.39 และ ม.40 อาชีพอิสระในสถานบันเทิง ที่ได้รับผลกระทบจากการไม่สามารถทำงานได้มาอย่างยาวนาน จำนวน 5,000 บาท เป็นเวลา 1 เดือน เริ่มโอน 29 ธันวาคม 2564 โดยใครที่ยังไม่อยู่ในระบบขอให้รีบสมัคร ม.40 และจ่ายเงินสมทบภายใน 14 มกราคม 65 เพื่อรับเงินเยียวยา

มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ

“ยิ่งใช้ยิ่งได้” มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่เงียบเหงาที่สุด

โครงการ “ยิ่งใช้ยิ่งได้” โครงการเพื่อกระตุ้นการบริโภค ผู้มีกำลังซื้อ และสนับสนุนผู้ประกอบการที่มีการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ระยะเวลาโครงการ 1 กรกฎาคม 2564-31 ธันวาคม 2564

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากโครงการไม่ได้รับการตอบรับที่ดีเท่าไหร่นัก รัฐบาลจึงได้ลดกลุ่มเป้าหมายเหลือ 1.4 ล้านสิทธิ และจูงใจมากขึ้นด้วยการเพิ่มใช้จ่ายสูงสุดเป็น 10,000 บาท/คน/วัน และขยายเวลาใช้จ่ายถึง 30 พฤศจิกายนแต่ก็ไม่ได้ช่วยกระตุ้นให้คนร่วมโครงการเพิ่มขึ้น ท้ายที่สุด… รัฐบาลจึงได้เพิ่มวงเงินใช้จ่ายอีกครั้ง เป็น 80,000 บาท และเพิ่ม e-Voucher เป็น 10,000 บาท ขยายเวลาใช้จ่ายถึง 31 ธันวาคม 2564

โดยล่าสุด ณ วันที่ 30 ธันวาคม 2564 ยังมีสิทธิ์คงเหลืออีกมากกว่า 5 แสนสิทธิ์

มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ

โครงการเพิ่มกำลังซื้อ “บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ-กลุ่มเปราะบาง”

โครงการเพิ่มกำลังซื้อแก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือที่เรียกกันติดปากว่า “บัตรคนจน” รัฐบาลมีวัตถุประสงค์เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและเพิ่มกำลังซื้อในกลุ่มผู้ถือบัตรคนจนประมาณ 14 ล้านคน ด้วยการเพิ่มวงเงินเดือนละ 500 บาท/คน นาน 3 เดือนช่วงตุลาคม-ธันวาคม 2563

อย่างไรก็ตาม เมื่อสถานการณ์โควิดในประเทศเริ่้มแย่ลง รัฐบาลจึงเดินหน้าขยายโครงการต่อในระยะที่ 2 เพิ่มวงเงินเดือนละ 500 บาท ต่อไปอีก 3 เดือน ตั้งแต่มกราคม-มีนาคม 2564 จากนั้นได้ต่อโครงการระยะที่ 3 โดยให้ครอบคลุม 2 กลุ่มเป้าหมาย คือ ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐราว 14 ล้านคน และกลุ่มเปราะบางหรือกลุ่มต้องการความเป็นพิเศษ ได้แก่ เด็กเล็ก, ผู้สูงอายุ, ผู้พิการ ใช้สิทธิผ่านบัตรประชาชน 2.5 ล้านคน เพิ่มวงเงินเป็นเวลา 6 เดือน แบ่งเป็น เดือนละ 200 บาท/คน ตั้งแต่กรกฎาคม-ตุลาคม 2564 และเดือนละ 500 บาท/คน ในเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม 2564

ทั้งนี้ ล่าสุด (14 ธ.ค.) พบว่า โครงการเพิ่มกำลังซื้อในกลุ่มผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ใช้สิทธิสะสม 13.55 ล้านคน ยอดใช้จ่ายสะสม 23,359.4 ล้านบาท และในกลุ่มเปราะบาง มีผู้ใช้สิทธิสะสม 1.49 ล้านคน ยอดใช้จ่ายสะสม 2,086.9 ล้านบาท

มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ

เราเที่ยวด้วยกัน

“เราเที่ยวด้วยกัน” เพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายภาคประชาชนผ่านการท่องเที่ยวภายในประเทศ ช่วยเพิ่มสภาพคล่องให้ผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรมและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง สนับสนุนการสร้างงานและฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศในองค์รวม โดยมีระยะเวลาโครงการ “เราเที่ยวด้วยกันเฟส 3” ระหว่างวันที่ 24 กันยายน 2564-31 มกราคม 2565

“เราเที่ยวด้วยกัน” รัฐบาลสนับสนุนค่าโรงแรม 40% ของราคาที่พักต่อห้องต่อคืน ทั้งนี้ไม่เกิน 3,000 บาท ต่อห้องต่อคืน โดยจำกัดสิทธิคนละไม่เกิน 15 ห้อง หรือ 15 คืน ทั้งนี้เมื่อจองที่พักแล้ว ไม่สามารถยกเลิกได้แต่สามารถเลื่อนวันเข้าพักได้ การเลื่อนเข้าพักต้องเป็นไปตามเงื่อนไขที่โครงการกำหนด

“เราเที่ยวด้วยกัน” มีทั้งหมด 3 เฟส ภายใต้กรอบวงเงิน 1.5 หมื่นล้านบาท โดยเฟส 3 ใช้วงเงิน 5.7 พันล้าน ข้อมูลล่าสุด (14 ธ.ค.) มีผู้ลงทะเบียนรับสิทธิครบ 2 ล้านคน มูลค่าการใช้จ่ายทั้งโครงการอยู่ที่ประมาณ 8,055.4 ล้านบาท มีจำนวนคนใช้สิทธิโรงแรม 363,449 ราย มูลค่าการใช้จ่ายโรงแรม 7009.5 ล้าน ยอดใช้จ่ายคูปองสะสม 913.3 ล้านบาท และมูลค่าตั๋วเครื่องบินทั้งสิ้น 132.69 ล้านบาท

ล่าสุด (21 ธ.ค.) ครม. ได้มีมติต่อโครงการเฟส 4 ขยายเวลาการใช้สิทธิจากเดิมที่สิ้นสุดวันที่ 31 มกราคม 2565 เป็นวันที่ 30 เมษายน 2565 และเพิ่มจำนวนห้องพักโครงการเราเที่ยวด้วยกันอีก 2 ล้านห้อง

ทั้ง 6 มาตรการถือเป็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจหลัก ๆ ของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ เพื่อต่อสู้กับสงครามโควิด โดย พล.อ.ประยุทธ์ ยืนยันว่า จะให้ความสำคัญกับการควบคุมโรคที่สมดุล กับการฟื้นฟูเศรษฐกิจ และการดำเนินชีวิตของพี่น้องประชาชน โดยเชื่อมั่นว่า ปี 2565 ที่กำลังจะเข้ามาถึง จะต้องเป็นปีที่ดีขึ้นกว่าเดิมของประเทศไทยอย่างแน่นอน

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo