Economics

แลนด์มาร์กแห่งใหม่!! ‘ศักดิ์สยาม’ เปิด ‘สะพานพระราชวังจันทน์’ มั่นใจสร้างรายได้ชุมชน

“ศักดิ์สยาม” เปิด “สะพานพระราชวังจันทน์” ข้ามแม่น้ำน่าน สะพานเหล็กโค้งแห่งแรกของไทย ยกเป็น “แลนด์มาร์กแห่งใหม่” จังหวัดพิษณุโลก มั่นใจเป็นแหล่งท่องเที่ยวสร้างรายได้ชุมชน

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานในพิธีเปิด “สะพานพระราชวังจันทน์” (โครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำน่าน) อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก ว่า เพื่อมอบเป็นของขวัญปีใหม่ 2565 ให้กับประชาชน และจากนโยบายของรัฐบาล ภายใต้การบริหารงานของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

สะพานพระราชวังจันทน์

ในการมุ่งมั่นพัฒนาโครงข่ายคมนาคมขนส่งทั่วประเทศอย่างบูรณาการ ทั้งทางบก ราง น้ำ และอากาศ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ สร้างความอยู่ดีกินดีให้กับพี่น้องประชาชนมาโดยตลอด รวมทั้งสร้างความเชื่อมั่นในการเดินทางบนถนน และสะพานที่อยู่ในความดูแลของกระทรวงคมนาคม

ประกอบกับกระทรวงคมนาคมได้เดินหน้าพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และบริการด้านคมนาคมในเชิงรุก โดยมุ่งเน้นการบูรณาการระหว่างรูปแบบการขนส่ง การกำกับดูแลการพัฒนาระบบคมนาคมให้มีความสะดวก ปลอดภัย ตรงเวลา เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว กระจายรายได้สู่ชุมชน รวมถึง การแก้ไขปัญหาจราจร เพื่อให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี และสนับสนุนการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน

สะพานพระราชวังจันทน์

จึงมอบหมายให้ กรมทางหลวงชนบท (ทช.) ดำเนินการก่อสร้างสะพานพระราชวังจันทน์ (โครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำน่าน) อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก ใช้งบประมาณในการก่อสร้างทั้งสิ้น 79.950 ล้านบาท

สะพานดังกล่าวตั้งอยู่บริเวณด้านหน้าศูนย์ประวัติศาสตร์พระราชวังจันทน์ เชื่อมต่อไปยังฝั่งตะวันออกของแม่น้ำน่าน ซึ่งเป็นที่ตั้งของวัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร วัดนางพญา และวัดราชบูรณะ

ตัวสะพานมีความยาวรวม 116 เมตร แบ่งเป็น 5 ช่วงความยาว ผิวทางกว้าง 7 เมตร รองรับการจราจร 2 ช่องจราจร (ไป-กลับ) แต่ละด้านของสะพาน มีทางเท้า และทางจักรยานกว้างด้านละ 3 เมตร

โครงสร้างสะพานช่วงข้ามแม่น้ำมีลักษณะเป็นสะพานเหล็กโค้ง (Steel Arch Bridge) ความยาวช่วง 80 เมตร เพื่อหลีกเลี่ยงการก่อสร้างเสาตอม่อในแม่น้ำ อันอาจจะเป็นอุปสรรคต่อประเพณีการแข่งเรือยาวที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี

สะพานพระราชวังจันทน์

ในช่วงระหว่างการก่อสร้าง ทช. ยังได้มีมาตรการเร่งรัดงาน โดยการผลิตโครงสร้างเหล็กของสะพานแยกเป็นส่วน ๆ ในโรงงาน แล้วนำมาประกอบติดตั้งในพื้นที่ก่อสร้าง  ซึ่งมาตรการดังกล่าว นอกจากจะทำให้ก่อสร้างได้แล้วเสร็จตามแผนที่วางไว้แล้ว ยังสามารถช่วยลดผลกระทบจากการก่อสร้างต่อประชาชนในพื้นที่ได้

สำหรับส่วนประกอบอื่น ๆ ของสะพาน ได้แก่ ราวสะพาน และเสาไฟฟ้าแสงสว่าง ได้ออกแบบให้มีความสวยงาม โดยนำรูปแบบทางจิตรกรรมของท้องถิ่นมาประยุกต์  ประกอบกับลักษณะทางโครงสร้างของสะพาน ที่แตกต่างจากสะพานอื่น และสถาปัตยกรรมที่มีความสวยงาม ทำให้สะพานแห่งนี้เป็นแลนด์มาร์ก (Landmark) ใจกลางเมืองพิษณุโลกที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งด้วย

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันการก่อสร้างสะพานแห่งนี้ได้ดำเนินการแล้วเสร็จสมบูรณ์ จึงได้กำหนดเปิดใช้สะพาน ในวันที่ 27 ธันวาคม 2564 เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับประชาชนในพื้นที่จังหวัดพิษณุโลก รวมทั้งเป็นการยกระดับการคมนาคม ในจังหวัดพิษณุโลก รองรับการเดินทางท่องเที่ยวของประชาชน ในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2565

สะพานพระราชวังจันทน์

ตามนโยบาย “คมนาคมสีสัน สร้างสรรค์ประเทศไทย” ในการอำนวยความสะดวกการเดินทางแก่ประชาชน ส่งเสริมทัศนียภาพระหว่างการเดินทาง ช่วยหนุนการท่องเที่ยวภายในประเทศ กระตุ้นเศรษฐกิจในท้องถิ่น และกระจายรายได้สู่ชุมชนอย่างยั่งยืน

พร้อมกันนี้ ได้ปล่อยขบวนชมรมรถจักรยานจังหวัดพิษณุโลก และรถอำนวยความสะดวกการจราจรในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2565 ซึ่งประชาชนจำนวนมากเดินทางกลับภูมิลำเนา หรือท่องเที่ยวไปยังพื้นที่ต่าง ๆ ของประเทศ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ประชาชนได้รับความสะดวกปลอดภัยในการเดินทาง ป้องกัน ลดจำนวนอุบัติเหตุ ลดความสูญเสีย โดยเป็นการสร้างการรับรู้ ประชาสัมพันธ์ให้แก่ประชาชน ลดพฤติกรรมเสี่ยงขับขี่และเสริมสร้างความร่วมมืออันดี สอดคล้องกับนโยบาย “คมนาคม UNITED”

สะพานพระราชวังจันทน์

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo