Economics

‘ศักดิ์สยาม’ สั่ง ‘รฟท.’ เร่งสำรวจ-ปรับปรุง ทางรถไฟ รับน้ำหนักเพิ่ม หนุนขนส่งสินค้า-เดินทางเร็วขึ้น

“ศักดิ์สยาม” สั่งการ รฟท.เร่งสำรวจปรับปรุง สะพานรถไฟ-แผนก่อสร้างรถไฟทางคู่ระยะที่ 2 ให้รองรับการเดินรถไฟขนส่งสินค้า น้ำหนักกดลงเพลา 20 ตัน/เพลา จากเดิมรองรับได้ที่ 16 ตัน/เพลา มั่นใจช่วยเพิ่มศักยภาพการขนส่งสินค้าได้อีก 20% พร้อมไฟเขียวให้เร่งจัดสรรงบดำเนินการในปี 67-69 เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งทางรางทั่วไทย

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุม การเตรียมการรองรับการเดินรถไฟขนส่งสินค้า น้ำหนักกดลงเพลา 20 ตัน/เพลา ว่า ในปัจจุบันเส้นทางรถไฟ ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ได้มีการก่อสร้างปรับปรุงทางรถไฟ ให้สามารถรองรับรถจักรบรรทุกสินค้าขนาด 20 ตัน/เพลาแล้ว แต่ก็ยังมีไม่ครอบคลุม

shutterstock 1077721433

ดังนั้น ตนจึงได้สั่งการเพิ่มเติม ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีการตรวจสอบข้อมูล สะพานรถไฟข้ามแม่น้ำโขงแห่งใหม่ จังหวัดหนองคาย ที่จะมีการสร้างให้ออกแบบใหม่รองรับ 20 ตัน/เพลา เพียงพอหรือไม่ โดยประสานตรวจสอบว่า สะพานในโครงการรถไฟลาว-จีน ออกแบบรองรับกี่ตัน/เพลา เพื่อให้มีความสอดคล้องและรองรับปริมาณการขนสินค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นอกจากนี้ ยังให้ รฟท. พิจารณาตรวจสอบว่า สะพานรถไฟในประเทศไทย มีจุดใดที่ต้องดำเนินการปรับปรุงซ่อมแซม และบำรุงรักษาอย่างเร่งด่วน เพื่อให้เดินรถได้อย่างปลอดภัย โดยให้พิจารณาขอรับการจัดสรรงบกลาง หรืองบประมาณเหลือจ่ายของ รฟท. และให้ดำเนินการภายในปี 2565

การจัดหารถจักรและล้อเลื่อนเพิ่มเติม ให้ รฟท. จัดทำข้อมูลโดยพิจารณาแนวทางการลงทุนหลากหลายรูปแบบ เช่น งบประมาณ เงินกู้ การเอาท์ซอร์สให้กับเอกชน หรือการให้เอกชนร่วมลงทุน (PPP)

ในการจัดหาหัวรถจักร ให้พิจารณาเป็นหัวรถจักรไฟฟ้า หรือระบบไฮบริด (hybrid) โดยเฉพาะในย่านสถานีกลางบางซื่อ และให้ รฟท. จัดทำแผนปฏิบัติการ ในการดำเนินงานรองรับการใช้งานสถานีกลางบางซื่อให้ชัดเจนด้วย

598995
ศักดิ์สยาม ชิดชอบ

นายศักดิ์สยาม บอกด้วยว่า แม้ในขณะนี้ เส้นทางรถไฟซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของ รฟท. ได้ก่อสร้างปรับปรุงทางรถไฟ ให้สามารถรองรับรถจักรบรรทุกสินค้าขนาด 20 ตัน/เพลาแล้ว เช่น เส้นทางสายตะวันออกเฉียงเหนือ (กรุงเทพฯ – หนองคาย) สายตะวันออก (กรุงเทพฯ – ระยอง) และสายเหนือ (กรุงเทพฯ – เชียงใหม่) แต่ยังมีสะพานรถไฟในบางสายทาง ยังไม่ได้รับการปรับปรุงให้รองรับน้ำหนักกดลงเพลา 20 ตัน/เพลา

โดยเฉพาะในเส้นทางสายใต้ ซึ่งสะพานรถไฟส่วนใหญ่รองรับน้ำหนักบรรทุกได้เพียง 16 ตัน/เพลา และมีสะพานรถไฟ ซึ่งถึงกำหนดต้องบำรุงรักษาตามระยะเวลา เช่น สะพานหอในสายเหนือ 2 แห่งที่จังหวัดลำปาง  สะพานรถไฟสายใต้ที่จังหวัดชุมพร จังหวัดสุราษฎร์ธานี และจังหวัดนครศรีธรรมราช จำนวน 8 แห่ง สะพานรถไฟช่วงวงเวียนใหญ่ – มหาชัย จำนวน 19 แห่ง และสะพานรถไฟช่วงหนองปลาดุก – สุพรรณบุรี จำนวน 23 แห่ง

2 สะพานทรุดโทรม

ดังนั้น ทางกระทรวงคมนาคมจะเร่งรัดดำเนินการปรับปรุงสะพานรถไฟโดยใช้งบประมาณปี 2566 ที่เสนอขอรับการจัดสรรจากสำนักงบประมาณ เพื่อให้ประชาชนที่เดินทางด้วยรถไฟ ได้รับความปลอดภัยสูงสุด และลดระยะเวลาในการเดินทาง รวมทั้งส่งเสริมการขนส่งสินค้า ให้รองรับปริมาณการขนส่งที่เพิ่มขึ้น

จากเดิมรถจักรน้ำหนักกดลงเพลา 16 ตัน/ เพลา รองรับการขนส่งสินค้าได้ ขบวนละ 2,100 ตัน หากปรับปรุงสะพานรถไฟให้รองรับการใช้รถจักรน้ำหนักกดลงเพลา 20 ตัน/เพลา จะรองรับเพิ่มขึ้นเป็นขบวนละ 2,500 ตัน หรือเพิ่มขึ้น 20% และสามารถใช้ความเร็วผ่านสะพานได้สูงสุดถึง 70 กิโลเมตรต่อชั่วโมง จากเดิมที่รถจักรจะผ่านสะพานรถไฟ ด้วยความเร็วไม่เกิน 30 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

สำหรับสะพานรถไฟในส่วนที่เหลือ กระทรวงคมนาคมจะดำเนินการขอรับการจัดสรรงบประมาณปี 2567-2569 ตามลำดับความจำเป็นในการปรับปรุง เพื่อปรับปรุงสะพานรถไฟทั่วประเทศให้รองรับน้ำหนักบรรทุก 20 ตัน/เพลา  ส่วนสะพานที่อยู่ในเส้นทางที่มีแผนก่อสร้างรถไฟทางคู่ระยะที่ 2 จะดำเนินการปรับปรุงสะพานให้รองรับน้ำ 20 ตัน/เพลา ไปพร้อมกัน

1 น้ำหนักกดลงเพลา

นายศักดิ์สยาม กล่าวต่อว่า สำหรับสถานะรถจักรดีเซลไฟฟ้าของรฟท.ในปัจจุบันนั้น มีรถจักรดีเซลไฟฟ้า ซึ่งอยู่ในสภาพพร้อมใช้งานจำนวน 219 คัน แบ่งเป็นรถจักรดีเซลไฟฟ้า (CSR) รุ่นใหม่ น้ำหนักกดลงเพลา 20 ตัน/เพลา จำนวน 20 คัน ใช้สำหรับขนส่งสินค้า

ส่วนรถจักรที่มีน้ำหนักกดลงเพลา 15-16 ตัน/เพลา ได้แก่ รถจักรดีเซลไฟฟ้า (GEA) จำนวน 36 คัน รถจักรดีเซลไฟฟ้า (Hitachi) จำนวน 21 คัน รถจักรดีเซลไฟฟ้า (Alsthom) จำนวน 97 คัน และรถจักรดีเซลไฟฟ้า (GE) จำนวน 45 คัน โดย รฟท. ได้ดำเนินการจัดหารถจักรดีเซลไฟฟ้าพร้อมอะไหล่เพิ่มเติมอีก 50 คัน เพื่อทดแทนรถจักร GE เดิม ที่มีอายุการใช้งานกว่า 55 ปื

รถจักรดีเซลไฟฟ้า 20 คันแรกจะมาถึงไทยกลางเดือนมกราคม 2565 ก่อนนำมาทดสอบ และจะนำมาวิ่งให้บริการได้ประมาณกลางปี 2565  และอีก 30 คันจะได้รับมาในปี 2566

รฟท. ยังอยู่ระหว่างติดตั้งระบบป้องกันการชนอัตโนมัติ หรือ ATP (Automatic Train Protection) ให้กับรถจักร CSR และ Alsthom จำนวน 70 คัน คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2566 ซึ่ง ATP จะช่วยควบคุมระยะห่างของขบวนรถแต่ละคัน ให้อยู่ในระยะที่ปลอดภัย

4 รถจักร

กรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน รถจักรจะเบรกอัตโนมัติ เป็นการเพิ่มความปลอดภัยให้แก่ผู้โดยสารมากยิ่งขึ้น ซึ่งสามารถนำมาใช้ในทางรถไฟ ร่วมกับรถไฟชานเมืองสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชันได้อย่างปลอดภัย

ทั้ง รฟท. อยู่ระหว่างเตรียมประกวดราคาการปรับปรุงรถจักรให้มีสภาพใหม่ (Refurbish) รวมทั้งติดตั้งระบบ ATP ให้กับรถจักร GEA และ Hitachi อีก 57 คัน  เพื่อยกระดับการให้บริการ และเพิ่มความปลอดภัย ให้กับประชาชนผู้โดยสารระบบรางต่อไป

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo