Economics

ไม่ได้ทุบ! คมนาคมยัน แค่ลดบทบาท ‘หัวลำโพง’ เริ่ม 23 ธ.ค. เหลือรถไฟเข้า 22 ขบวน

“คมนาคม” ยืนยัน ไม่มีแผนทุบทิ้งหัวลำโพง เปิดแผนลดบทบาท จ่อปรับขบวนรถชานเมืองบริการเหลือ 22 ขบวน เริ่ม 23 ธันวาคมนี้  ดัน “สถานีกลางบางซื่อ” เป็นศูนย์กลางเดินทางใหม่  

การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเวทีรับฟังควดามคิดเห็นในหัวข้อ “อนาคตสถานีหัวลำโพงประวัติศาสตร์คู่การพัฒนา” โดยมีผู้ร่วมเสวนามาจากหลายภาคส่วน ทั้งผู้แทนกระทรวงคมนาคม รฟท. นักวิชาการ และภาคประชาสังคม

ddd

นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าวยืนยันว่า กระทรวงคมนาคมได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมาบริหารจัดการเดินรถ และการจัดการรถไฟฟ้าสายสีแดง สถานีกลางบางซื่อ ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ซึ่งทุกครั้งที่มีการประชุม ไม่เคยมีการพูดว่าจะปิดหัวลำโพง แต่เป็นเพียงการลดบทบาทเท่านั้น

โดยจะยังมีการเดินรถขบวนชานเมือง เข้าสูหัวลำโพงอยู่ ส่วนรถทางไกลจะสิ้นสุดขบวนที่สถานีกลางบางซื่อ กระทรวงคมนาคมยืนยันว่า ได้เตรียมพร้อมการจัดการเดินรถ และความพร้อมด้านอื่นมาเป้นระยะเวลา 7 เดือน แต่ก็จะนำผลการเสวนาวันนี้ ไปประกอบการพิจารณา ก่อนถึงวันที่ 23 ธันวาคม

ขณะที่ ดร.พิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ รองอธิบดีกรมขนส่งทางราง กระทรวงคมนาคม กล่าวว่าตามแผนการลดบทบาทหัวลำโพง จะลดจำนวนขบวนรถไฟ จาก 128 ขบวน เหลือ 22 ขบวน เฉพาะขบวนรถไฟชานเมืองเท่านั้น เป็นไปตามแผนแม่บทเพื่อตอบโจทย์ การแก้ไขปัญหาจราจร ซึ่งปัจจุบันมีจุดตัด 7 จุด หากมีขวบนรถเข้าหัวลำโพง จะมีการปิดเครื่องกั้นกว่า 800 ครั้ง เมื่อลดลงเหลือ 22 ขบวน จะลดจุดตัดลงไปถึง 84%

ขณะที่ นายอนันต์ โพธิ์นิ่มแดง ผู้ช่วยผู้ว่าการด้านปฏิบัติการ รฟท.กล่าวว่า สถานีกลางบางซื่อเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์ เต็มรูปแบบเมื่อวันที่ 1 ธันวาคมที่ผ่านมา ขณะนี้พร้อมแล้วที่จะรองรับการเดินทางของรถไฟระบบอื่น เช่น รถไฟทางไกลที่จะมาสิ้นสุดที่นี่ และได้เตรียมระบบเดินทางต่อเชื่อมไว้รองรับการเดินทางของประชาชนแล้ว

นางไตรทิพย์ ศิวะกฤษณ์กุล กรรมการ รฟท. และรักษาการกรรมการผู้จัดการ บริษัท เอสอาร์ที แอสเสท จำกัด กล่าวว่า เอสอาร์ทีฯ ตั้งตามมติ ครม. โดย รฟท.ถือหุ้น 100% เพื่อบริหารจัดการสินทรัพย์ของ รฟท.ที่ไม่ใช่รางรถไฟ ยืนยันว่า พร้อมที่จะเข้าบริหารที่ดินทุกแปลงของการรถไฟ เพื่อให้เกิดรายได้ และผลตอบแทนกับการรถไฟฯ

ส่วนพื้นที่หัวลำโพง 120 ไร่ ในอนาคตจะพัฒนาตามแนวทางทีโอดี ให้เกิดประโยชน์ทั้งต่อผู้ใช้บริการ และชุมชนโดยรอบ ทั้งพัฒนาเป็นพื้นที่ประวัติศาสตร์ ปรับทัศนียภาพ เพิ่มพื้นที่สีเขียว พื้นที่เชื่อมต่อการเดินทาง สร้างเป็นศูนย์การเรียนรู้ และสร้างพื้นที่เชิงวัฒนธรรม รวมทั้งพื้นที่เชิงพาณิชย์  เป็นโมเดลที่พัฒนาทุกพื้นที่ของ รฟท. ซึ่งผลพลอยได้คือรายได้กลับมาให้กับ รฟท.

265419261 5271217696226392 4996552711936505450 n 2

“ขอย้ำอีกครั้งว่าไม่มีการทุบสถานีหัวลำโพงเด็ดขาด แนวทางบริหารพื้นที่ 120 ไร่ จะเป็นรูปแบบทีโอดี อนุรักษ์พื้นที่ประวัติศาสตร์ 5 ส่วนสำคัญ คือ อนุสาวรีย์ช้างสามเศียร สถานีรถไฟหัวลำโพง อนุสรณ์ประถมฤกษ์ ตึกบัญชาการการรถไฟ และตึกแดง เพราะถือเป็นสมบัติของแผ่นดินที่มีค่า เราจะซ่อมแซมให้คงสภาพอยู่ดี และคงแนวทางดำเนินการให้สอดคล้องกับสภาพปัจจุบัน”

ส่วนพื้นที่ที่เหลืออีก 90 ไร่ เช่น พวงราง ที่จอดรถ โรงซ่อม โรงจอดรถไฟ เมื่อย้ายการดำเนินการออกไปสถานีกลางบางซื่อ ไม่มีรถไฟให้บริการ ไม่ได้ใช้ประโยชน์อะไร หากไม่พัฒนาก็จะเสื่อมโทรม

การดำเนินการของเอสอาร์ทียังมีเป้าหมายให้สถานีหัวลำโพงเป็นฮับการเดินทางในเมือง เชื่อมต่อการเดินทางไปบางซื่อ ที่จะเป็นฮับเดินทางระยะไกล การพัฒนาทีโอดี จะเน้นการรักษาวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ของรถไฟให้ชัดเจน สร้างเป็นศูนย์การเรียนรู้ เสริมวัฒนธรรมคนไทยและความร่วมสมัย เพื่อให้นักท่องเที่ยวมาเรียนรู้ และพัฒนาให้มีพื้นที่สีเขียวมากขึ้น

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo