“ศักดิ์สยาม” เปิดโครงการระบบชำระค่าผ่านทางด้วยเทคโนโลยี “EMV Contactless” อำนวยความสะดวกในการเดินทางให้กับประชาชน ใช้ชีวิตอย่างสบาย แตะ-จ่าย ง่าย ๆ ด้วยบัตรใบเดียว จ่ายค่าผ่านทางด่วน 5 สายทาง เริ่มแล้ว! ลดเสี่ยงโควิด
วันนี้ (13 ธ.ค.) บริเวณด่านเก็บค่าผ่านทางพิเศษสะพานพระราม 7 ทางพิเศษสายศรีรัช-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานในพิธีเปิด โครงการระบบชำระค่าผ่านทางด้วยเทคโนโลยี EMV Contactless (Europay Mastercard and Visa) อำนวยความสะดวกผู้ใช้บริการทางพิเศษ เชื่อมโยงทุกระบบการชำระเงิน ด้วยบัตรมาตรฐานสากลเพียงใบเดียว แตะ-จ่ายได้ทั้งบัตรเดบิต และบัตรเครดิตทุกธนาคาร ที่มีสัญลักษณ์ Contactless เดินทางสะดวก ชีวิตสบาย แก้ไขปัญหาจราจร เลี่ยงการใช้เงินสด ลดความเสี่ยงจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19
นายศักดิ์สยาม กล่าวว่า รัฐบาลโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีนโยบายให้ทุกหน่วยงาน เตรียมรองรับสถานการณ์ และปรับตัวในรูปแบบ New Normal เพี่อให้ดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างปลอดภัย รวมถึง เตรียมความพร้อมประเทศด้านเทคโนโลยีดิจิทัล และนวัตกรรม เพื่อขับเคลื่อนประเทศ ไปสู่สังคมดิจิทัลในอนาคต และให้ประชาชนสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีต่าง ๆ ได้ง่าย และทั่วถึง เพื่อให้ใช้บริการต่าง ๆ ของภาครัฐได้อย่างสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น หลีกเลี่ยงการสัมผัสอันจะเป็นการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 อีกทางหนึ่ง
กทพ. กระทรวงคมนาคม จึงร่วมกับธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM พัฒนาระบบชำระค่าผ่านทางพิเศษด้วยบัตร EMV Contactless หรือ Europay MasterCard and VISA ซึ่งเป็นระบบการชำระเงิน ที่ออกแบบมาเพื่อเป็นทางเลือกในการชำระค่าผ่านทาง ให้ประชาชนได้รับความสะดวกสบาย
โดยมีขั้นตอนง่าย ๆ เพียงแค่ขับรถเข้าช่องเงินสด ลดกระจก และแตะบัตรที่มีสัญลักษณ์ Contactless ตอบโจทย์วิถีชีวิตยุคใหม่ ที่ลดการใช้ และลดการสัมผัสเงินสด เพื่อลดความเสี่ยงจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 อีกทั้งยังเป็นรูปแบบการชำระเงินที่เป็นมาตรฐานระดับสากล
ในอนาคตจะพัฒนาไปสู่ระบบจัดเก็บค่าผ่านทางอัตโนมัติแบบไม่มีไม้กั้น หรือ M-Flow และระบบตั๋วร่วม ซึ่งใช้บัตรเพียงใบเดียว สามารถเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะ ได้แก่ รถไฟฟ้า รถโดยสารประจำทาง และเรือโดยสาร โดยจะเร่งรัดให้แล้วเสร็จเป็นรูปธรรมโดยเร็ว เพื่อประโยชน์ของประชาชนโดยรวม ต้องยอมรับว่าอาจจะใช้เวลาพอสมควรที่ระบบ M-Flow จะใช้ครบทุกด่าน 100% อย่างสมบูรณ์ ดังนั้นในระยะแรกจะใช้ควบคู่กันไปก่อน ปัจจุบันมีช่องเก็บเงินที่ใช้ EMV ได้ 5 ด่าน ประมาณ 30% ของช่องเก็บเงิน ในช่วงที่เปิดทดลองใช้ก่อนหน้านี้มีผู้ใช้บัตร EMV ขึ้นทางด่วนประมาณ 1% ของผู้ใช้ทางด่วน
ปัจจุบันโครงการดังกล่าว ได้เปิดให้บริการครบทั้ง 5 สายทางแล้ว
- ทางพิเศษเฉลิมมหานคร (ทางด่วนขั้นที่ 1)
- ทางพิเศษศรีรัช (ทางด่วนขั้นที่ 2)
- ทางพิเศษสายศรีรัช-วงแหวนรอบนอกฯ
- ทางพิเศษอุดรรัถยา (บางปะอิน – ปากเกร็ด)
- ทางพิเศษกาญจนาภิเษก (วงแหวนใต้)
ได้รับการตอบรับจากผู้ใช้บริการทางพิเศษเป็นอย่างดี มีจำนวนผู้ใช้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากมีความสะดวกรวดเร็ว ใช้เวลาน้อยกว่าการชำระค่าผ่านทางด้วยเงินสด ถือเป็นทางเลือกให้กับผู้ใช้บริการทางพิเศษ และลดความแออัดของปริมาณรถสะสมบริเวณหน้าด่าน รวมถึงลดการสัมผัสเงินสด ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 และในอนาคตจะขยายให้ครอบคลุมครบทุกสายทาง
สำหรับระบบการชำระเงินดังกล่าว ธนาคารกรุงไทยได้ดำเนินการติดตั้งเครื่องอ่านข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Data Capture) หรือ EDC ที่ได้มาตรฐานที่ช่องเงินสดทุกช่อง โดยผู้ใช้ทางมั่นใจได้ว่า ระบบดังกล่าว มีการตรวจสอบข้อมูลที่ถูกต้อง และน่าเชื่อถือ
นอกจากนี้ ธนาคารยังได้นำระบบ Krungthai Digital Platform มาช่วยบริหารต้นทุน ลดการใช้กระดาษ และเพิ่มศักยภาพการบริหารจัดการเงินสดของค่าผ่านทางพิเศษ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ทั้งนี้ กทพ. ธนาคารกรุงไทย และ BEM ได้ร่วมมือกันพัฒนาเทคโนโลยีระบบชำระค่าผ่านทางเพื่อนำไปสู่ระบบการชำระเงินแบบ M-Flow และระบบตั๋วร่วมของรัฐบาลที่สอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงคมนาคม เพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางและพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนอย่างยั่งยืนต่อไป
นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) กล่าวว่า การจ่ายค่าผ่านทางด้วยเงินสดจะใช้เวลาประมาณ 9 วินาที ขณะที่จ่ายด้วยบัตร EMV ใช้เวลา 5 วินาที ช่วยลดปัญหารถติดหน้าด่านได้ ปัจจุบันเปิดให้ใช้บริการ 5 ด่าน ได้แก่ ทางพิเศษเฉลิมมหานคร (ทางด่วนขั้นที่ 1) ทางพิเศษศรีรัช (ทางด่วนขั้นที่ 2) ทางพิเศษสายศรีรัช-วงแหวนรอบนอกฯ ทางพิเศษอุดรรัถยา (บางปะอิน-ปากเกร็ด) และทางพิเศษกาญจนาภิเษก (วงแหวนใต้) และในปี 2565 จะเปิดให้ใช้บริการอีก 2 ด่าน ได้แก่ ทางด่วนบูรพาวิถี และทางด่วนฉลองรัช ที่ผ่านมาในช่วงเปิดทดลองใช้มีผู้ใช้บริการเฉลี่ยประมาณวันละ 6,000 คัน
อ่านข่าวเพิ่มเติม
- เริ่ม 15 ธ.ค.นี้! ขึ้นค่าทางด่วน ‘ศรีรัช-วงแหวนรอบนอก’ รถ 4 ล้อจ่าย 65 บาท
- เคาะค่าทางด่วน ‘บางขุนเทียน-บ้านแพ้ว’ เริ่มต้นที่ 10 บาท
- ‘BEM’ ตรึงค่าทางด่วน 1 ปี ซื้อคูปองจ่ายราคาเดิม เส้น’ศรีรัช-วงแหวนรอบนอก’