Economics

‘ไทย-เยอรมนี’ ต่ออายุความร่วมมือ ‘ระบบราง’ มั่นใจช่วยหนุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานท้องถิ่น

“ไทย-เยอรมนี” ลงนามต่ออายุ ความร่วมมือพัฒนาระบบราง “ศักดิ์สยาม” มั่นใจอีกฝ่ายช่วยสนับสนุนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบรางท้องถิ่น ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตคนไทย สร้างความเท่าเทียมในการเข้าถึงระบบขนส่งสาธารณะ

วันนี้ (2 ธ.ค.) นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม  ได้ทำพิธีลงนามในข้อตกลงแสดงเจตจำนง ว่าด้วยการพัฒนาความร่วมมือด้านรถไฟ (Joint Declaration of Intent: JDI) ระหว่างกระทรวงคมนาคม กับ กระทรวงคมนาคม และโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล เยอรมนี

นายศักดิ์สยาม กล่าวว่า ข้อตกลงดังกล่าว เป็นความร่วมมือ เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน สอดคล้องกับแนวนโยบายของรัฐบาลไทย โดยกระทรวงคมนาคม มุ่งมั่นอย่างเต็มที่ ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม ด้วยเทคโนโลยีชั้นสูง เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านระบบราง ซึ่งเป็นรูปแบบการเดินทางที่มีประสิทธิภาพ และยั่งยืน

ระบบราง

กระทรวงคมนาคมจึงได้เร่งพัฒนาโครงการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน เช่น รถไฟฟ้าสายสีแดง สายสีน้ำเงิน สายสีม่วง สายสีชมพู สายสีเหลือง และสายสีส้ม เพื่อให้ประชาชนลดใช้รถยนต์ส่วนบุคคล

นอกจากนี้ ยังได้พัฒนารถไฟทางคู่ทั่วประเทศ เพิ่มศักยภาพการแข่งขัน ลดเวลาเดินทาง และเชื่อมโยงธุรกิจการค้า รวมถึงพัฒนาโครงข่ายรถไฟความเร็วสูง ซึ่งไทยอยู่ระหว่างก่อสร้างจำนวน 2 เส้นทาง หากดำเนินการแล้วเสร็จ จะสามารถเชื่อมเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ของไทย เข้ากับประเทศเพื่อนบ้านในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง เพื่อให้ไทยเป็นศูนย์กลางทางด้านคมนาคมในภูมิภาคต่อไป

นายศักด์สยาม บอกด้วยว่า เยอรมนี ถือเป็นหนึ่งในผู้นำด้านอุตสาหกรรมระบบรางที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก โดยได้วิจัยค้นคว้า และผลิตเทคโนโลยีระบบรางมาอย่างยาวนาน หลายโครงการรถไฟฟ้า ก็ใช้เทคโนโลยีจากเยอรมนี มั่นใจว่าฝ่ายเยอรมนีจะสนับสนุนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบรางของไทย เพื่อช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทย สามารถเข้าถึงระบบขนส่งสาธารณะได้อย่างเท่าเทียม เช่นเดียวกับในเยอรมนี

ดังนั้น จึงเป็นเรื่องที่น่ายินดีเป็นอย่างยิ่ง ที่สมาคมระบบรางเยอรมัน-ไทย เปิดตัวขึ้นอย่างเป็นทางการ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริม และถ่ายทอดองค์ความรู้ รวมถึงประสานความร่วมมือด้านระบบรางระหว่างเยอรมัน-ไทย หวังว่าทั้งสองฝ่ายจะร่วมแบ่งปันประสบการณ์ รวมถึงการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และฝึกอบรมในทุกระดับ ไม่ว่าจะเป็นผู้เชี่ยวชาญ นักวิจัย และช่างเทคนิค สนับสนุนการพัฒนาระบบรถไฟในไทย ให้ประเทศไทยเป็นแหล่งซ่อมสร้าง แหล่งผลิต และแหล่งรวมวิทยาการระบบรางที่เป็นรูปธรรม ภายใต้นโยบาย Thai First เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของอุตสาหกรรมระบบรางในประเทศไทยในอนาคตอันใกล้

ระบบราง

ก้าวสำคัญถ่ายทอดเทคโนโลยีระบบราง

ขณะที่ รศ.ดร.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า สมาคมระบบรางเยอรมัน-ไทย (The German-Thai Railway Association) เปิดตัวอย่างเป็นทางการแล้ว นับเป็นอีกก้าวสำคัญของการถ่ายทอดเทคโนโลยีระบบรางแก่คนรุ่นใหม่ นักวิจัย และบุคคลากร เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีระบบรางในประเทศไทย

คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล มีความภูมิใจที่ได้เป็นหนึ่งในสมาชิกผู้ร่วมจัดตั้งสมาคม และมีส่วนร่วม ผลักดันให้มีการแลกเปลี่ยนความรู้ทางวิชาการและเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับการขนส่งทางราง ระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ภาคการศึกษา และภาคอุตสาหกรรมของไทย กับเยอรมนี

ระบบราง

อ่ายข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo