Economics

‘กสิกรไทย’ จับมือ ‘สมาคมไทย-ญี่ปุ่น’ จัดสัมมนา ฉายภาพ ‘เศรษฐกิจไทยหลังโควิด’

​”กสิกรไทย” จับมือ “สมาคมไทย-ญี่ปุ่น” และ  “สภาหอการค้าญี่ปุ่น-กรุงเทพฯ” จัดงานสัมมนาในหัวข้อ “Thailand Post-COVID-19: Rain or Sunshine?” หวังสร้างความเชื่อมั่น นักธุรกิจไทย-ญี่ปุ่น  ไทยพร้อมเดินหน้าหลังวิกฤติโควิด-19 มีนโยบายชัดเจนพลิกฟื้นเศรษฐกิจ แก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างระยะยาว พร้อมสร้างห่วงโซ่อุปทาน สอดคล้องกระแส ESG ขับเคลื่อนการเติบโตยั่งยืนในอนาคต

​วันนี้ (26 พ.ย.) นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวระหว่างการเปิดงานสัมมนา “Thailand Post-COVID-19: Rain or Sunshine?” สร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนว่า เศรษฐกิจไทยได้ผ่านจุดต่ำสุดในไตรมาสที่ 3 และกำลังเข้าสู่ช่วงฟื้นตัว ในช่วงหลังโควิด

supat
สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์

ภูมิทัศน์ของเศรษฐกิจไทยหลังโควิด จะเปลี่ยนไป และเต็มไปด้วยโอกาสทางธุรกิจ จึงต้องเสริมสร้างอุตสาหกรรมหลักของไทยให้แข็งแกร่ง เช่น ธุรกิจท่องเที่ยว ธุรกิจ เฮลธ์แคร์ อุตสาหกรรมอาหารแห่งอนาคต และอุตสาหกรรมยานยนต์ ตลอดจนปรับตัวให้สอดรับกับกระแสการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ

ขณะที่ ​นายคาซูยะ นาชิดะ เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย แสดงความเห็นเกี่ยวกับความสัมพันธ์ไทย-ญี่ปุ่นในอนาคตว่า จะก้าวสู่ การสร้างสรรค์ร่วมกัน โดยไทยและญี่ปุ่น จะสร้างสรรค์คุณค่าใหม่ และนวัตกรรมร่วมกัน และความสัมพันธ์อันดี ที่มีมายาวนาน จะกลายเป็นความสัมพันธ์ที่เท่าเทียม เพื่อแบ่งปันภูมิปัญญาร่วมกัน และส่งเสริมซึ่งกันและกัน ในการสร้างสรรค์นวัตกรรม เพื่อสังคมที่ดีขึ้นในอนาคต

S 129900553

ส่วนนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวในหัวข้อ “ทิศทางของนโยบายภาครัฐ” ว่า  ถึงแม้รัฐบาลต้องใช้งบประมาณมหาศาล เพื่อบรรเทาผลกระทบของโควิด แต่สถานะการคลังของไทยในปัจจุบันยังแข็งแกร่ง ภาครัฐมีสภาพคล่องมากพอ ที่จะดำเนินนโยบายเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังจากนี้

สำหรับเรื่องหนี้สาธารณะ ที่มีการขยายเพดานเพิ่มขึ้นจาก 60% เป็น 70% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) นั้น รัฐบาลมุ่งเน้นความสามารถในการชำระหนี้ โดยการดูแลให้รายได้ภาครัฐ กับภาระดอกเบี้ย มีความสอดคล้องกัน

ในเรื่องการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศนั้น รัฐบาลมีแผนสนับสนุนการใช้รถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งจะเป็นส่วนช่วยแก้ปัญหาการปล่อยมลพิษ รวมถึง ฝุ่น PM2.5

fin
อาคม เติมพิทยาไพสิฐ

ทางด้านนายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวถึงแผนการปฏิรูปโครงสร้างประเทศ ที่คำนึงถึงประเด็นเชิงโครงสร้างทั้งการขาดแคลนแรงงาน การศึกษา สังคมผู้สูงอายุ ตลอดจนโครงสร้างพื้นฐาน

ส่วนนางสาวดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน กล่าวถึง การมุ่งเน้นให้สิทธิประโยชน์การลงทุน เพื่อให้ห่วงโซ่การผลิตอุตสาหกรรมของไทยมีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมถึงการยกระดับมูลค่าห่วงโซ่การผลิต ตลอดจนอำนวยความสะดวกให้ประเทศไทย สามารถดึงดูดแรงงานทักษะสูงจากต่างประเทศมากขึ้น

ภายในงานเสวนาครั้งนี้ นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ยังได้กล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “การมุ่งสู่ ESG ของไทย”” โดยเน้นถึงความสำคัญของการมีส่วนร่วมในทุกภาคส่วน ว่า มีความจำเป็นอย่างยิ่ง ที่ภาครัฐ เอกชน และสังคมต้องร่วมมือกัน ผ่านทาง Public Private Partnership (PPP) ในการสร้างกลไกตลาดคาร์บอน และการสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศ ในประเด็นการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ

จากนี้ไป ยังมีโอกาสทางธุรกิจอีกมาก เช่น การมุ่งสู่อุตสาหกรรมคาร์บอนต่ำ แต่ต้องเร่งปรับตัวให้สอดรับกับกระแส Climate Change”  ซึ่งการจะพัฒนาอย่างยั่งยืน นั้น ไทยจำเป็นต้องยกระดับอุตสาหกรรม สู่การสร้างห่วงโซ่อุปทานสีเขียว (Green Supply Chain) และการปลูกป่าทดแทน เพื่อบรรลุถึงเป้าหมาย net zero ที่ไทยได้ให้ไว้กับประชาคมโลก

waa
วราวุธ ศิลปอาชา

ในช่วงของการเสวนาเรื่อง “การปฏิรูปกฎระเบียบภาครัฐ เพื่ออำนวยความสะดวกทางธุรกิจ” นั้น นางสาวอ้อนฟ้า เวชชาชีวะ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ กล่าวว่า รัฐจะมุ่งไปสู่การเป็น digital government ซึ่งตอบโจทย์ภาคธุรกิจ นักลงทุนต่างชาติ และประชาชน

หลังจากนั้น ดร. กอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานคณะอนุกรรมการปรับปรุงกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการประกอบอาชีพและดำเนินธุรกิจ ยังกล่าวเสริมว่า เพื่อที่จะดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ รัฐบาลวางแผนจะผ่อนคลายกฎระเบียบภาครัฐ เพื่อส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curve Industries) เช่น กฎระเบียบของสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองในการขอวีซ่า และใบอนุญาตทำงาน เพื่อดึงดูดแรงงานทักษะสูงจากต่างประเทศ

โดยหลักการในการปฏิรูปกฎหมายมี 3 ประการด้วยกัน คือ ความถูกต้อง ความจำเป็น และการอำนวยความสะดวกทางธุรกิจ

ccccc

งานสัมมนาวันนี้ยังมีนักธุรกิจชั้นนำ และข้าราชการระดับสูงเข้าร่วมงาน ได้แก่ นายโนริอากิ ยามาชิตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด นายวิกรม กรมดิษฐ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน และนายอัทสึชิ ทาเคทานิ ประธานเจโทร สำนักงานกรุงเทพ เสวนาในประเด็นความท้าทายของไทยในการก้าวข้ามปัญหาเชิงโครงสร้าง และเสริมสร้างสิ่งแวดล้อม ในการดำเนินธุรกิจเพื่อพัฒนาความสามารถในการแข่งขันของไทย

ช่วงสุดท้าย นายกลินท์ สารสิน นายกสมาคมไทย-ญี่ปุ่น และประธานอาวุโส สภาหอการค้าไทยแห่งประเทศไทย กล่าวสรุปว่า เศรษฐกิจไทยกำลังฟื้นตัวจากโควิด ท่ามกลางประเด็นท้าทายหลายอย่าง ภาครัฐและเอกชน มีความร่วมมือที่จะสร้างสภาวะแวดล้อมทางธุรกิจ ให้เอื้อต่อการลงทุนที่ตอบโจทย์การเปลี่ยนแปลงหลังจากโควิด

ประเด็นต่างๆ ที่ได้ถูกหยิบยกมากล่าวในงานสัมมนานี้คาดว่าจะเป็นประโยชน์และช่วยเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน เพื่อก้าวไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนในอนาคต

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo