Economics

‘หอการค้าไทย’ คาดเศรษฐกิจปีนี้ขยายตัวแค่ 1.5% ส่วนปีหน้าคาดโต 4.2%

“หอการค้าไทย” คาดเศรฐกิจปีนี้ขยายตัวแค่ 1.5% มองเศรษฐกิจไทยผ่านจุดต่ำสุดแล้ว เริ่มเข้าสู่การฟื้นตัว คาดฟื้นตัวชัดเจนไตรมาสที่ 2/65 ส่วนปีหน้าคาดโต 4.2%

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษา ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ เปิดเผยว่าเศรษฐกิจไทยในปีนี้ ผ่านจุดต่ำสุดแล้ว เริ่มเข้าสู่การฟื้นตัว แต่จะเริ่มฟื้นตัวได้ชัดเจนในไตมาสที่ 2 ของปีหน้า หลังจากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ยังไม่มีแนวโน้มผู้ติดเชื้อปรับเพิ่มขึ้น แม้จะมีการคลายมาตรการล็อกดาวน์ เพื่อเปิดเมือง และเปิดประเทศ ทำให้จะมีเม็ดเงินจากนักท่องเที่ยว ที่คาดว่าทั้งปีจะเข้ามาไทย 2 -3 แสนคน สร้างรายได้เข้าประเทศประมาณ 12,000 ล้านบาท

หอการค้าไทย

นอกจากนี้ ยังมีเม็ดเงินจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ ทั้งช้อปดีมีคืน และคนละครึ่ง รวมทั้งรายได้จากภาคการส่งออกที่คาดว่าปีนี้ จะขยายตัวถึง 16.5% ทำให้เศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวตั้งแต่ในไตรมาสที่ 4 ของปีนี้ขยายตัวได้ 2-3% และตลอดทั้งปีนี้จะขยายตัวได้ประมาณ 1.5% เท่านั้น

ส่วนปี 2565 คาดว่า เศรษฐกิจจะขยายตัวได้ประมาณ 4.2% หรืออยู่ในกรอบ 3.6-4.5% และขยายตัวดีขึ้นชัดเจนในช่วงครึ่งปีหลัง จากภาคอุตสาหกรรม เริ่มกลับมาฟื้นตัว หลังจากการส่งออกในปี 2564 ขยายตัวต่อเนื่อง แม้ในปี 2565 คาดว่าจะขยายตัวเพียง 5.4% จากฐานสูง รวมทั้งภาคบริการที่โดดเด่นหลังจากเปิดประเทศ

หอการค้าไทย
นายธนวรรธน์ พลวิชัย

อย่างไรก็ตาม คาดว่า นักท่องเที่ยวจะเข้ามาประมาณ 5 ล้านคน สร้างรายได้กว่า 3 แสนล้านบาท ซึ่งจะส่งผลดีต่อการจ้างงานทั้งในภาคการผลิตและบริการ รวมทั้งราคาน้ำมันน่าจะทรงตัว 80-85 ดอลลาร์ต่อบาเรล และเชื่อว่ารัฐจะตรึงราคาดีเซลที่ลิตรละ 30 บาทจนกว่าเศรษฐกิจฟื้นตัว

ทั้งนี้ ต้องติดตามปัญหาหนี้ครัวเรือน เพราะธุรกิจขนาดเล็กยังเข้าไม่ถึงสินเชื่อ กระทบกับรายได้ของประชาชนฐานราก รวมทั้งภาครัฐ ควรเข้ามากระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม โดยใช้เม็ดเงินอย่างน้อย 5 แสนล้านบาทในช่วงครึ่งปีแรก ตามข้อเรียกร้องของภาคเอกชน โดยเฉพาะโครงการคนละครึ่ง เพิ่มเติมอีกคนละ 1,500 บาท เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในไตรมาสแรก รวมทั้งเร่งจ้างงาน และจัดซื้อจัดจ้างโครงการลงทุนภาครัฐ ที่จะเข้ามาช่วยแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน ซึ่งจะเป็นพื้นฐานการผลักดันให้เศรษฐกิจขยายตัวได้ดีขึ้นต่อไป

สำหรับปัจจัยบวกต่อเศรษฐกิจไทย ประกอบด้วย

  • จำนวนการฉีดวัคซีนป้องกันโควิดที่ทำได้ดีกว่าเป้าหมาย และจำนวนผู้ติดเชื้อมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง
  • การประกาศเปิดประเทศ และผ่อนคลายมาตรการ ทำให้ภาคธุรกิจและเศรษฐกิจฟื้นตัวได้เร็วขึ้น
  • ภาคการผลิตและภาคบริการทั่วโลกเริ่มฟื้นตัว หลังการคลายล็อกดาวน์
  • ภาครัฐมีการออกมาตรการเยียวยา กระตุ้น และฟื้นฟูเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง
  • การลงทุนของภาครัฐมีโอกาสเร่งตัวดีขึ้น
  • ความเสี่ยงจากปัญหาภัยแล้ง และฝนทิ้งช่วงในปี 65 มีแนวโน้มลดลง

ส่วนปัจจัยลบต่อเศรษฐกิจไทยที่ยังต้องจับตา คือ

  • การแพร่ระบาดของโควิดที่ยืดเยื้อและยาวนาน ทำให้เกิดเป็นแผลเป็นต่อเศรษฐกิจ
  • ธนาคารกลางของหลายประเทศหลัก มีแนวโน้มจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย
  • เศรษฐกิจจีนมีความไม่แน่นอนมากขึ้น จากวิกฤติพลังงานและปัญหาในภาคอสังหาริมทรัพย์
  • ปัญหาขาดแคลนชิป ส่งผลให้ห่วงโซ่การผลิตสินค้าอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบ
  • ตู้คอนเทนเนอร์ขาดแคลน ทำให้ผู้ส่งออกส่งมอบสินค้าไม่ทันกำหนด
  • ความไม่แน่นอนของสถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ กับจีน

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo