Economics

ครม.ไฟเขียวร่างพ.ร.บ.ร่วมทุนระหว่างรัฐและเอกชน

ครม.เห็นชอบร่าง พ.ร.บ. ร่วมทุนระหว่างรัฐและเอกชน ชี้กำหนดขอบเขตชัดเจน จูงใจเอกชนร่วมลงทุน

นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ (ครม.สัญจร) วันนี้มีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. … ภายใต้ชื่อ ร่างพ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและอกชน พ.ศ. … (ร่างพ.ร.บ.การร่วมลงทุนฯ)

ณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์

โดยร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว มีเนื้อหาแตกต่างจาก พ.ร.บ.ร่วมลงทุนฯ ปี 2556 ที่มีบทบัญญัติในเรื่องขอบเขตของโครงการที่ให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐค่อนข้างกว้าง ทำให้มีโครงการร่วมลงทุนที่ไม่ได้อยู่ในกิจการที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างพื้นฐานและบริการสาธารณะ ซึ่งเป็นภารกิจของรัฐที่ต้องเข้ามาสู่กระบวนการตามกฎหมายดังกล่าว และยังไม่สะท้อนถึงความเป็นหุ้นส่วนระหว่างรัฐและเอกชนที่ร่วมลงทุนในโครงการของรัฐที่ชัดเจน ประกอบกับยังขาดมาตรการในการแก้ไขปัญหาระหว่างหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องและมาตรการส่งเสริมการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน ส่งผลให้การดำเนินโครงการมีความล่าช้าและเอกชนยังไม่ให้ความสนใจที่จะเข้าร่วมลงทุนในโครงการของรัฐเท่าที่ควร

ร่างกฎหมายใหม่ มีบทบัญญัติที่มุ่งกำหนดเป้าประสงค์ของการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนให้มีการจัดทำและดำเนินโครงการร่วมลงทุนที่อยู่บนพื้นฐานของความเป็นหุ้นส่วนระหว่างรัฐและเอกชน (Partnership) โดยมุ่งเน้นการใช้ความเชี่ยวชาญและนวัตกรรมของเอกชนในโครงการร่วมลงทุนและมีการถ่ายทอดความรู้ ความเชี่ยวชาญไปยังหน่วยงานของภาครัฐ

กำหนดนโยบายของรัฐที่ชัดเจนและแน่นอนในการจัดทำโครงสร้างพื้นฐานและบริการสาธารณะซึ่งเป็นภารกิจของรัฐ อันส่งผลให้โครงการร่วมลงทุนที่ไม่ได้อยู่ในกิจการที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างพื้นฐานและบริหารสาธารณะ เช่น โครงการพัฒนาที่ดินเชิงพาณิชย์ไม่ต้องเข้าสู่กระบวนการตามกฎหมายดังกล่าว

กำหนดหลักเกณฑ์และขั้นตอนการดำเนินโครงการร่วมลงทุนที่กระชับ โปร่งใส และตรวจสอบได้มากยิ่งขึ้น และกำหนดให้มีมาตรการส่งเสริมการลงทุนให้แก่โครงการร่วมลงทุนอย่างเหมาะสม ภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลัง เช่น สิทธิและประโยชน์ที่เป็นไปตามกำหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน สิทธิการเช่าที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์ในโครงการร่วมลงทุนที่มีระยะเวลาการเช่าไม่เกิน 50 ปี

ทั้งนี้ เชื่อว่า ร่าง พ.ร.บ.การร่วมลงทุนฯ ใหม่ จะสามารถสร้างแรงจูงใจให้เอกชนร่วมลงทุนในโครงการโครงสร้างพื้นฐานและบริการสาธารณะได้อย่างรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพมากขึ้นตามนโยบายของรัฐบาล

“กำหนดเป้าประสงค์ให้ร่วมลงทุนในความเป็นหุ้นส่วนของรัฐและเอกชน ทำให้โครงการที่ไม่อยู่ในโครงสร้างพื้นฐาน ไม่ต้องเข้าสู่กระบวนการกฎหมายดังกล่าว เพราะมีกฎหมายที่จะตรวจสอบได้มากขึ้น ร่นเวลาสั้นลง พ.ร.บ.นี้ ทำให้สโคปเรื่องที่เข้ามาสู่กระบวนการพิจารณาแคบลง จะเน้นโครงสร้างพื้นฐาน และบริการสาธารณะ ซึ่งทำให้กระบวนการเร็วขึ้น” นายณัฐพร กล่าว

Avatar photo