Economics

คาดตั๋วเครื่องบินแพงทำยอดผู้โดยสารไตรมาส 4 วูบ

กพท. คาดค่าตั๋วเครื่องบินแพง จนผู้โดยสารวูบไตรมาส 4 ด้าน “ไทยแอร์เอเชีย” ยังครองแชมป์สายการบินในประเทศอันดับ 1 อย่างเหนียวแน่น ฝั่ง “ไทยเวียตเจ็ท” จัดหนักกลยุทธ์ลดราคา ดึงผู้โดยสาร

รายงานข่าวจากสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) เปิดเผยว่า ในช่วงไตรมาสที่ 4 ปีนี้ ค่าโดยสารสายการบินภายในประเทศมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงไตรมาสที่ 3 ผ่านมา เนื่องจากไตรมาสที่ 4 เป็นช่วงฤดูหนาวและมีวันหยุดเทศกาล ทำให้ความต้องการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น

แต่ราคาน้ำมันอากาศยาน (น้ำมันเจ็ท) และการเก็บภาษีสรรสามิตจะเป็นปัจจัยลบที่อาจส่งผลให้ต้นทุนค่าดำเนินการของสายการบินเพิ่มขึ้น ซึ่งอาจส่งผลให้ค่าโดยสารเพิ่มขึ้น จนทำให้ความต้องการการเดินทางด้วยเครื่องบินลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปี 2560

สนามบิน ดอนเมือง

“ดอนเมือง-กระบี่” แชมป์ค่าตั๋วเครื่องบินถูกสุด 0.61 บาทต่อกิโลเมตร

รายงานข่าวเปิดเผยต่อว่า ภาพรวมค่าโดยสารเส้นทางภายในประเทศในช่วงไตรมาสที่ 3 ลดลงเมื่อกับช่วงไตรมาสที่ 2 โดยเส้นทางเชียงใหม่-สมุย เป็นเส้นทางที่มีค่าโดยสารสูงสุดอยู่ที่ 9,300 บาทต่อเที่ยว หรือ 8.82 บาทต่อกิโลเมตร ซึ่งเส้นทางนี้จัดอยู่ในกลุ่มที่ไม่ถูกควบคุมค่าโดยสารและมีสายการบินบางกอกแอร์เวย์สเป็นผู้ให้บริการเพียงรายเดียว

ด้านเส้นทางบินภายในประเทศที่มีค่าโดยสารต่ำสุด อยู่ที่ 404 บาทต่อเที่ยว มีจำนวน 8 เส้นทาง ซึ่งเส้นทางทั้งหมดจัดอยู่ในกลุ่มที่มีระยะทางบินเกินกว่า 300 กิโลเมตรและถูกกำหนดเพดานค่าโดยสารไว้ไม่เกิน 13 บาทต่อกิโลเมตร ได้แก่ เส้นทางดอนเมือง-บุรีรัมย์/ระนอง/สกลนคร ที่มีสายการบินให้บริการจำนวน 2 ราย และเส้นทางดอนเมือง/กระบี่/พิษณุโลก/สุราษฎร์ธานี/อุบลราชธานี/อุดรธานี ที่มีสายการบินให้บริการจำนวน 3 ราย

ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาค่าโดยสารต่อกิโลเมตรแล้วก็พบว่า เส้นทางทางที่มีค่าโดยสารต่ำสุดคือ เส้นทางดอนเมือง-กระบี่ มีอัตราค่าโดยสาร 0.61 บาทต่อกิโลเมตร ซึ่งมีผู้ให้บริการ 3 ราย คือ นกแอร์ ไทยแอร์เอเชีย และไทยไลออนแอร์

ดอนเมือง สนามบิน แอร์เอเชีย

“แอร์เอเชีย” ครองเก้าอี้ผู้นำตลาดเหนียวแน่น

รายงานข่าวจาก กพท. เปิดเผยอีกว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีสายการบินที่ให้บริการเส้นทางภายในประเทศรวม 7 รายได้แก่ การบินไทย บางกอกแอร์เวย์ส นกแอร์ ไทยแอร์เอเชีย ไทยไลออนแอร์ ไทยสมายล์ และไทยเวียตเจ็ท

ในช่วงไตรมาส 3 ที่ผ่านมา ไทยแอร์เอเชีย ยังครองแชมป์เป็นผู้นำตลาดการบินเส้นทางภายในประเทศ ทั้งในด้านจำนวนเส้นทาง จำนวนเที่ยวบิน และที่นั่งต่อกิโลเมตร โดยไทยแอร์มีเอเชียเส้นทางภายในประเทศสูงสุดจำนวน 70 เส้นทางหรือ 32% รองลงมาคือนกแอร์จำนวน 54 เส้นทางหรือ 23% และบางกอกแอร์เวย์สจำนวน 36 เส้นทาง 15% ขณะเดียวกันสายการบินต้นทุนต่ำ (Low-Cost Airline) มีสัดส่วนเส้นทางภายในประเทศ 69.83% และสายการบินที่ให้บริการเต็มรูปแบบ (Full Service Airline) มีเส้นทางภายในประเทศ 30.17%

สายการบิน

รายงานสัดส่วนเส้นทางภายในประเทศจาแนกตามสายการบิน ไตรมาสที่ 3/2561 จาก กพท.เมื่อพิจารณาจำนวนเที่ยวบินต่อสัปดาห์พบว่า ไทยแอร์เอเชียมีจำนวนเที่ยวบินสูงสุด อยู่ที่ 3,236 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ รองลงมาคือนกแอร์ 2,464 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ และบางกอกแอร์เวย์ส 1,768 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ โดยพบว่าในช่วงไตรมาสที่ 3 สายการบินไทยเวียตเจ็ทมีจำนวน 606 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ ขยับขึ้นเป็นอันดับ 6 แทนการบินไทยที่มีจำนวน 432 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ ซึ่งหล่นลงเป็นอับดับ 7

เมื่อเปรียบเทียบจำนวนที่นั่งต่อสัปดาห์พบว่า ไทยแอร์เอเชีย ยังคงเป็นผู้นำตลาดเช่นเดียวกับไตรมาสก่อน ด้วยจำนวน 292,858 ที่นั่งต่อสัปดาห์ ด้านนกแอร์ได้เพิ่มจำนวนที่นั่งต่อสัปดาห์จากไตรมาสก่อน และขยับขึ้นเป็นอันดับ 2 ด้วยจำนวน 178,932 ที่นั่งต่อสัปดาห์ ขณะที่ไทยไลออนแอร์หล่นมาอยู่อันดับ 3 ด้วยจำนวน 160,475 ที่นั่งต่อสัปดาห์

photo 05555

“ไทยเวียตเจ็ท” แข่งกลยุทธ์ราคาดุ

นอกจากนี้มีการตั้งข้อสังเกตว่า สายการบินไทยเวียตเจ็ทใช้กลยุทธ์ด้านราคา ในการทำตลาดอย่างชัดเจน โดยเส้นทางกลุ่มที่มีระยะบินไม่เกิน 300 กิโลเมตรและไม่ควบคุมราคาจำนวน 36 เส้นทาง มีสายการบินที่ใช้กลยุทธ์ด้านราคาอย่างชัดเจน 3 ราย ได้แก่ ไทยเวียตเจ็ทเก็บค่าโดยสารระหว่าง 0.46-3.4 บาทต่อกิโลเมตร, ไทยไลออนแอร์ระหว่าง 0.59-2.59 บาทต่อกิโลเมตร และไทยแอร์เอเชีย 0.76-5.61 บาทต่อกิโลเมตร

ด้านเส้นทางที่มีระยะบินไม่เกิน 300 กิโลเมตรและมีการเดินทางภาคพื้นไม่สะดวก ซึ่งถูกกำหนดเพดานค่าโดยสารไว้ที่ 22 บาทต่อกิโลเมตร จำนวน 8 เส้นทาง มีบางกอกแอร์เวย์สให้บริการรายเดียว จึงมีอัตราค่าโดยสารต่ำสุดถึง 6.38 บาทต่อกิโลเมตร เนื่องจากไม่มีคู่แข่ง

ในเส้นทางที่มีระยะบินเกิน 300 กิโลเมตรและถูกกำหนดเพดานค่าโดยสารไว้เท่ากับ 13 บาทต่อกิโลเมตร จำนวน 80 เส้นทาง พบว่าไทยเวียตเจ็ทเก็บค่าโดยสารระหว่าง 0.62-7.39 บาทต่อกิโลเมตร เฉลี่ยแล้วน้อยกว่าสายการบินอื่นๆ อย่างชัดเจน

ค่าโดยสารที่มีเส้นทางเกิน 300 กิโลเมตร
รายงานการเปรียบเทียบค่าโดยสารต่อกิโลเมตรระหว่างสายการบินที่ให้บริการซึ่งมีระยะทางบินเกิน 300 กิโลเมตร และมีเพดานค่าโดยสาร 13 บาทต่อกิโลเมตร ในไตรมาสที่ 3/2561 จาก กพท.

 

Avatar photo