Economics

ดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน ก.ย. ดีขึ้นในรอบ 7 เดือน รับคลายล็อกดาวน์!

“ม.หอการค้าไทย” เผยดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนกันยายนฟื้น ปรับตัวดีขึ้นในรอบ 7 เดือน หลังคลายล็อกดาวน์

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค (CCI) เดือนกันยายน 2564 ปรับตัวมาที่ 41.4 จากระดับ 39.6 ในเดือนสิงหาคม 2564 ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ที่ระดับ 35.5 จาก 33.8 ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสหางานทำ อยู่ที่ระดับ 37.8 จาก 36.3 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตอยู่ที่ระดับ 50.8 จาก 48.6

ดัชนีเชื่อมั่น

โดยมีปัจจัยบวก ได้แก่

  • การผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิด-19 ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 29 จังหวัด เพื่อให้ธุรกิจและประชาชนสามารถดำเนินชีวิตและประกอบธุรกิจได้ใกล้เคียงปกติ
  • ขยายเวลาเคอร์ฟิวออกไปเป็น 22.00-04.00 น. โดยเริ่มตั้งแต่ 1 ตุลาคมเป็นต้นไป
  • การฉีดวัคซีนของโลกและการฉีดวัคซีนในประเทศที่เริ่มเป็นรูปธรรมและปรับตัวดีขึ้น
  • ภาครัฐดำเนินมาตรการเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ประกอบด้วย เราชนะ, ม.33 เรารักกัน, คนละครึ่งเฟส 3, ยิ่งใช้ยิ่งได้ และบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ระยะที่ 3 เป็นต้น
  • การเปิดรับนักท่องเที่ยวในโครงการนำร่อง “ภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์” และ “สมุย พลัส”
  • คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติเอกฉันท์คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.50% ต่อปี
  • การส่งออกเดือนสิงหาคม ขยายตัว 8.93%
  • ราคาพืชผลทางการเกษตรหลายรายการปรับตัวดีขึ้นหรือทรงตัวในระดับที่ดี

ดัชนีเชื่อมั่น

ขณะที่ปัจจัยลบ ได้แก่

  • ความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์น้ำท่วมหลายจังหวัดสร้างความเสียหายต่อทรัพย์สินของประชาชน
  • ความกังวลต่อการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ยังส่งผลกระทบต่อกากรดำเนินชีวิต ธุรกิจ และภาวะเศรษฐกิจของประเทศ
    ระดับราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้น
  • ความกังวลเกี่ยวกับเสถียรภาพทางการเมือง
  • ผู้บริโภค มีความรู้สึกว่าเศรษฐกิจยังชะลอตัวลง ตลอดจนค่าครองชีพและราคาสินค่ายังทรงตัวในระดับสูง
  • ดัชนี SET INDEX ปรับตัวลดลง 33.07 จุด
  • เงินบาทปรับตัวแข็งค่าขึ้นเล็กน้อย

“ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนก.ย. ปรับตัวดีขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 7 เดือน เนื่องจากผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นมากขึ้น หลังจากที่รัฐบาลเริ่มผ่อนคลายมาตรการ โดยอนุญาตให้เปิดกิจการ/กิจกรรมต่างๆ ได้มากขึ้น นอกจากนี้ สถานการณ์ระบาดของโควิดในประเทศก็ดีขึ้น โดยจำนวนผู้ได้รับวัคซีนต้านโควิดเพิ่มขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม และคาดว่าจะฉีดได้ครบ 70% ของประชากร ตามเป้าหมายภายในสิ้นปีนี้ ขณะที่ยอดผู้ติดเชื้อรายวันมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง” นายธนวรรธน์ กล่าว

ดัชนีเชื่อมั่น

อย่างไรก็ตาม ยังต้องติดตามใน 3 ปัจจัยสำคัญ ว่าจะมีผลทำให้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในเดือนถัดๆ ไปด้วยหรือไม่ คือ

  1. สถานการณ์น้ำท่วม จะสามารถคลี่คลายลงได้หรือไม่
  2. ราคาน้ำมันในประเทศ ซึ่งถือว่าเป็นปัจจัยที่บั่นทอนความเชื่อมั่นค่อนข้างมาก
  3. การเมืองในประเทศ

“ที่ดัชนีฟื้นขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 7 เดือน ก็ถือว่าเริ่มเห็นสัญญาณบวก แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าการบริโภคจะกลับมาฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็วมากมายนัก เพราะตอนนี้ดัชนีฯ ก็ยังอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 100 ค่อนข้างมาก และยังแกว่งอยู่ในแนวใกล้ๆ กับที่เคยต่ำสุดเป็นประวัติการณ์” นายธนวรรธน์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม มองว่า หากรัฐบาลมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม มีเม็ดเงินเข้ามาอัดฉีดในระบบมากขึ้น เศรษฐกิจไทยปีนี้ ก็มีโอกาสจะโตได้ 1-1.5% แต่หากน้ำท่วมไม่คลี่คลาย การล็อกดาวน์ทำไม่ต่อเนื่อง เปิดประเทศไม่ต่อเนื่อง เศรษฐกิจก็อาจจะโตได้แค่ 0-1% ขอรอดูสถานการณ์ในช่วงนี้ก่อน และเดือนพฤศจิกายน ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจฯ จะมีการปรับ GDP ใหม่อีกครั้ง

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo