Economics

เงินเฟ้อเดือนก.ย.เพิ่มขึ้น 1.68% จากราคาน้ำมันพุ่งต่อเนื่อง

เงินเฟ้อเดือนก.ย. เพิ่มขึ้น 1.68% จากราคาน้ำมันพุ่งสูงขึ้นต่อเนื่องและสิ้นสุดมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพ คาดทั้งปี อยู่ในช่วง 0.8-1.2%

กระทรวงพาณิชย์รายงานอัตราเงินเฟ้อเดือนกันยายน 2564 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน สูงขึ้น 1.68% เป็นการกลับมาขยายตัวอีกครั้งหลังจากที่ลดลง 0.02% ในเดือนก่อนหน้า

เงินเฟ้อ

ปัจจัยสำคัญจากการสิ้นสุดลงของมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพ ด้านสาธารณูปโภค (ค่ากระแสไฟฟ้าและค่าน้ำประปา) ขณะที่ราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิง ยังสูงกว่าปีก่อนอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม ราคาสินค้ากลุ่มอาหารสดส่วนใหญ่ยังต่ำกว่าปีก่อน โดยเฉพาะข้าวสารเจ้า ข้าวสารเหนียว เนื้อสุกร ไก่สด ผักสดและผลไม้สด ยกเว้น ไข่ไก่ ที่ยังมีราคาสูงเมื่อเทียบกับปีก่อน

เงินเฟ้อ

สำหรับราคาสินค้าและบริการอื่น ๆ ยังคงเคลื่อนไหว สอดคล้องกับปริมาณผลผลิตและความต้องการในการบริโภค เมื่อหักอาหารสดและพลังงาน ออกแล้ว CPI พื้นฐานขยายตัวที่ 0.19%

เฉลี่ย 9 เดือน (มกราคม-กันยายน) ปี 2564 ดัชนีผู้บริโภคทั่วไปสูงขึ้น 0.83% และ CPI พื้นฐาน สูงขึ้น 0.23% สำหรับ CPI ไตรมาสที่ 3 ปี 2564 สูงขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน 0.70% และสูงขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า 0.23%

ดัชนีราคาผู้บริโภคจำแนกรายภาค พบว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคปรับตัวสูงขึ้นในทุกภาค โดยภาคใต้ขยายตัวในอัตราสูงที่สุด ที่ 2.49% รองลงมา ได้แก่ ภาคกลาง ภาคเหนือ และกรุงเทพฯ ปริมณฑล 2.12%, 1.49% และ 1.38% ตามลำดับ

เงินเฟ้อ

สำหรับภาค ตะวันออกเฉียงเหนือ ขยายตัวน้อยที่สุด 1.33% เมื่อพิจารณาเป็นรายหมวด พบว่า หมวดอาหารและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ ราคาสินค้าโดยเฉลี่ยของทุกภาคปรับตัวลดลง โดยภาคตะวันออกเฉียงเหนือยังคงเป็นภาคที่มีอัตราการลดลงมากที่สุดอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากสินค้าสำคัญที่มีอิทธิพลสูงในกลุ่ม อาทิ ผักสด และข้าวสารเหนียว ลดลงในอัตราที่สูงกว่าภูมิภาคอื่น ๆ ในขณะที่หมวดอื่น ๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม สูงขึ้น ในทุกภูมิภาค

ปัจจัยสำคัญจากมาตรการช่วยเหลือของภาครัฐ ในการลดค่ากระแสไฟฟ้าและค่าน้ำประปา เพื่อลดภาระค่าครองชีพให้กับประชาชนเป็นครั้งที่ 3 ในรอบปีสิ้นสุดลง ประกอบกับราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงมีการปรับราคาสูงขึ้น เมื่อพิจารณาเป็นรายสินค้า พบว่า สินค้าสำคัญที่ราคาปรับตัวสูงขึ้นในทุกภาค ได้แก่ น้ำมันเชื้อเพลิง น้ำมันพืช ไข่ไก่ สำหรับสินค้า สำคัญที่ราคาลดลงในทุกภาค ได้แก่ ข้าวสารเจ้า ข้าวสารเหนียว เนื้อสุกร ค่ากระแสไฟฟ้า เป็นต้น

เงินเฟ้อในไตรมาสสุดท้ายของปี หากไม่มีมาตรการลดค่าครองชีพของภาครัฐที่ส่งผลต่อราคาสินค้าและบริการอย่างมีนัยสำคัญเพิ่มเติม จะมีแนวโน้มขยายตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยมีปัจจัยสำคัญจาก

1) แนวโน้มราคาน้ำมันยังอยู่ในทิศทางที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น แต่ในอัตราเพิ่มที่น้อยกว่า ช่วงที่ผ่านมา

2) แนวโน้มสถานการณ์โควิดเริ่มผ่อนคลายและกิจกรรมทางเศรษฐกิจเริ่มกลับมาดำเนินการได้ตามลำดับ

3) แนวโน้มการอ่อนค่าของค่าเงินบาท ส่งผลต่อต้นทุนการผลิตและขนส่ง อย่างไรก็ตาม สินค้าในหมวดอาหารสดบางชนิด โดยเฉพาะ ข้าว ผักสดและผลไม้สด ยังคงมีแนวโน้มต่ำกว่าปีก่อน และมีโอกาสผันผวนตามสภาพอากาศและภัยธรรมชาติ

ขณะที่สถานการณ์โควิดยังคงเป็นความเสี่ยงที่เป็นตัวแปร สำคัญของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ต้องเฝ้าระวังและส่งผลต่อ CPI อย่างมีนัยสำคัญ

ทั้งนี้ ในเดือนกันยายน 2564 กระทรวงพาณิชย์ ได้ปรับสมมุติฐานสำหรับคาดการณ์ CPI ให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์ เศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน โดยคาดการณ์ว่า CPI เฉลี่ยทั้งปี 2564 จะอยู่ระหว่าง 1.0 ± 0.2% หรืออยู่ในช่วง 0.8 – 1.2%

อ่านข่าวเพิ่มเติม:

Avatar photo