Economics

เศรษฐกิจไทยในเดือนส.ค.วูบ จากผลกระทบจากโควิด-19 ทั้ง ‘ใน-ต่าง’ ประเทศ

เศรษฐกิจไทยในเดือนสิงหาคม 2564 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่าได้รับผลกระทบต่อเนื่องจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ทั้งในและต่างประเทศ

โดยเครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนลดลงตามกำลังซื้อที่อ่อนแอและมาตรการควบคุมการระบาดที่เข้มงวด แม้มีมาตรการภาครัฐช่วยพยุงกำลังซื้อขณะที่การส่งออกสินค้าลดลงในหลายหมวดตามอุปสงค์ประเทศคู่ค้าที่ชะลอตัว หลังการระบาดในต่างประเทศรุนแรงขึ้น ด้านเครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนและการผลิตภาคอุตสาหกรรมลดลงตามภาวะอุปสงค์ ประกอบกับการผลิตบางส่วนได้รับผลกระทบจากปัญหา supply disruption

เศรษฐกิจไทย

สำหรับจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติลดลงจากการแพร่ระบาดที่รุนแรงขึ้น อย่างไรก็ดี การใช้จ่ายภาครัฐยังขยายตัวทั้งรายจ่ายเงินโอนและรายจ่ายประจำ

ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปกลับมาติดลบเล็กน้อยจากราคาอาหารสดที่ลดลง และการปรับลดค่าธรรมเนียมการศึกษาของภาครัฐ ด้านตลาดแรงงานเปราะบางมากขึ้น สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลมากกว่าเดือนก่อน ตามดุลการค้าที่เกินดุลลดลงเป็นสำคัญ

ภาวะเศรษฐกิจไทย มีดังนี้

เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วลดลงต่อเนื่องจากเดือนก่อนในทุกหมวด โดยสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่รุนแรงและมาตรการควบคุมการระบาดที่เข้มงวดขึ้น ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยรวม รายได้ครัวเรือน และความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับลดลง แม้มีมาตรการภาครัฐช่วยพยุงกำลังซื้อได้บางส่วน 

มูลค่าการส่งออกสินค้าที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วลดลงจากเดือนก่อนในหลายสินค้าและหลายตลาด เป็นผลจากอุปสงค์ประเทศคู่ค้าที่ชะลอตัวจากการแพร่ระบาดที่รุนแรงขึ้นในหลายประเทศ และ
ปัญหา supply disruption ทั้งในและต่างประเทศ อาทิ การปิดโรงงานชั่วคราวในไทยเพื่อจำกัดการระบาด ปัญหาการขนส่งสินค้า และการขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ อย่างไรก็ดี การส่งออกบางหมวดเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน อาทิ สินค้าที่มูลค่าเคลื่อนไหวตามราคาน้ำมัน และโลหะ ทั้งนี้ อุปสงค์ทั้งในและต่างประเทศที่อ่อนแอลง ประกอบกับปัญหา supply disruption ในภาคการผลิต ทำให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมลดลงต่อเนื่องจากเดือนก่อนในหลายหมวด

เครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วลดลงจากเดือนก่อน ตามการลงทุน
ด้านเครื่องจักรและอุปกรณ์ สอดคล้องกับภาวะอุปสงค์และความเชื่อมั่นของธุรกิจที่ยังอ่อนแอ อย่างไรก็ดี
การลงทุนด้านการก่อสร้างปรับดีขึ้นบ้าง ภายหลังการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาดในพื้นที่ก่อสร้าง

จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วลดลงจากเดือนก่อน และโดยรวมยังอยู่ในระดับต่ำ เนื่องจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ทั้งในและต่างประเทศรุนแรงขึ้น รวมทั้งมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศยังมีอยู่ 

มูลค่าการนำเข้าสินค้าไม่รวมทองคำที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วปรับเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ตามหมวดวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลาง รวมทั้งหมวดสินค้าทุน ส่วนหนึ่งสะท้อนแนวโน้มภาคการผลิตและการส่งออกที่จะกลับมาฟื้นตัวได้ อย่างไรก็ตาม การนำเข้าในบางหมวดลดลงจากเดือนก่อน อาทิ สินค้าอุปโภคบริโภค
ซึ่งสอดคล้องกับการบริโภคในประเทศที่อ่อนแอ รวมทั้งการนำเข้าชิ้นส่วนยานยนต์ที่ลดลงตามการผลิตรถยนต์

การใช้จ่ายภาครัฐขยายตัวสูงเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน แต่หากไม่รวมเงินโอน การใช้จ่ายภาครัฐขยายตัวได้เล็กน้อย โดยรายจ่ายประจำขยายตัวจากทั้งรายจ่ายค่าตอบแทนบุคลากร และรายจ่ายเพื่อซื้อสินค้าและบริการ ขณะที่รายจ่ายลงทุนหดตัวต่อเนื่อง จากผลของฐานสูงที่มีการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณของรัฐบาลกลางในปีก่อน 

ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปกลับมาติดลบเล็กน้อย จากราคาอาหารสดที่ลดลง โดยเฉพาะผักและผลไม้ที่อุปทานล้นตลาด ประกอบกับมีผลของมาตรการลดค่าธรรมเนียมการศึกษาของภาครัฐ ด้านตลาดแรงงานเปราะบางมากขึ้น สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลมากกว่าเดือนก่อน ตามดุลการค้าที่เกินดุลลดลงจากการส่งออกสินค้าที่แผ่วลงเป็นสำคัญ ด้านอัตราแลกเปลี่ยนบาทต่อดอลลาร์ สรอ. อ่อนค่ามากกว่าสกุลเงินคู่ค้าคู่แข่งส่วนใหญ่ จากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ภายในประเทศที่รุนแรงและมาตรการควบคุมการระบาดที่เข้มงวดขึ้น

อ่านข่าวเพิ่มเติม:

Avatar photo