Economics

ชุบชีวิต ‘ถุงก๊อบแก๊บ’ เป็นสินค้าแฟชั่นสุดกิ๊บเก๋

ใครจะคาดคิดว่า ‘ถุงก๊อบแก๊บ’ ที่ดูไร้ค่า จะสามารถแปลงโฉมเป็นสินค้าแฟชั่นสุดกิ๊บเก๋ ที่มีราคาและน่าซื้อหาได้ไม่ยาก เพียงแต่ต้องนำมาผ่านกระบวนการออกแบบและสร้างสรรค์ใหม่ที่เป๊ะ! ปัง! จนไม่เหลือคราบเดิม

บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC และภาควิชาศิลปอุตสาหกรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง จึงได้ร่วมกันจัดโครงการประกวดออกแบบผลิตภัณฑ์ PE Recycle เพื่อให้นักศึกษาที่กำลังจะก้าวเข้าสู่วงการออกแบบ ได้มีโอกาสนำพลาสติก PE Recycle ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในถุงก๊อบแก๊บ ไปเป็นวัสดุในการสร้างสรรค์สินค้า ตามแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน พร้อมสร้างประสบการณ์ในการทำงานจริงให้กับนักศึกษา

IMG 4840 e1543927864231

สำหรับการประกวดครั้งนี้มีนักศึกษาจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลากระบัง ร่วมส่งผลงานประกวดทั้งสิ้น 25 ชิ้น โดย “ภาวิณี เสือจำศีล” นักศึกษาชั้นปีที่ 4 เป็นผู้คว้ารางวัลอันดับ 1 ด้วยผลงานชื่อ Ulab ที่ใช้แหจับปลา หนังยาง และพลาสติกห่ออาหารหรือสินค้า เป็นวัสดุ

แรงบันดาลใจจากของผลงานชิ้นนี้ มาจากความสนใจในพลาสติกห่ออาหาร ที่มีคุณสมบัติเปลี่ยนแปลงได้หลายหลากและราคาถูก แต่คนทั่วไปไม่ค่อยให้ความสนใจ ประกอบกับเครือ ปตท. ทำงานใกล้ชิดชาวประมงที่ จังหวัดระยอง ซึ่งมีการใช้แหจับปลา

คุณสมบัติเด่นของแหคือรับน้ำหนักได้มาก จึงนำวัสดุทั้ง 2 ชิ้นนี้รวมกันผ่านเครื่องรีดความร้อน (Heat Transfer) ด้วยอุณหภูมิ 120 องศา เป็นเวลา 30 วินาที จนกลายเป็นวัสดุที่มีความแข็งแรง ทนทาน เหนียว ทำงานสะอาดง่าย กันกลิ่นและกันน้ำได้ นอกจากนี้ได้ใส่หนังยางสีเข้าไประหว่างกลาง เพื่อเพิ่มสีสันต์และความน่ารักให้เหมาะกับเด็กๆ

IMG 4864 e1543927589148
ภาวิณี เสือจำศีล ผู้ชนะเลิศอันดับ 1

วัสดุใหม่สามารถนำมาตัดเย็บด้วยจักรได้เหมือนผ้า จึงสามารถนำไปผลิตเป็นโคมไฟ, กระเป๋า, หมวกคลุมผมอาบน้ำ ร่ม รวมถึงผลิตอื่นในห้องน้ำ โดยกระเป๋าเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีความเป็นไปได้สูงที่สุด เพราะขายได้ในราคาไม่แพง  นอกจากนี้ยังสามารถใช้เป็นกระเป๋ารักษ์โลกได้เหมือนถุงผ้า แต่มีคุณสมบัติเรื่องการกันน้ำและทำความสะอาดที่เหนือกว่าด้วย

สำหรับขั้นตอนที่ยากที่สุดในการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ชิ้นนี้ คือ การทดลองหาอุณหภูมิและระยะเวลาที่เหมาะสม แต่พอทดลองสำเร็จแล้ว ก็สามารถพัฒนาสินค้าในเชิงพาณิชย์ได้ง่ายดาย และมีต้นทุนการผลิตอยู่ที่ 0 บาท เพราะทุกอย่างทำมาจากวัสดุที่ใช้แล้ว

“ตอนเราไม่ได้ทำโปรเจค เราก็ไม่ได้มีความกระตือรือร้นที่จะรีไซเคิลมากนัก แต่พอเรามาทำโปรเจคนี้ เรารู้สึกว่าของรอบๆ ตัวเรา ไม่ได้เป็นขยะนะ เอามาสร้างมูลค่าได้ทุกอย่างเลย แต่ก่อนเราเห็นพลาสติกแรปก็คงเดินผ่านไป แต่ตอนนี้พอหยุดมอง ก็สร้างมูลค่า และนำไปใช้ประโยชน์ได้หลายอย่าง”

IMG 4858 e1543928039711
วราพรรณ ทิพพาวนิช ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานกิจการองค์กร บริษัท พีทีที โกลบอลเคมิคอล จำกัด (มหาชน)

‘วราพรรณ ทิพพาวนิช’ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานกิจการองค์กร บริษัทพีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า GC รู้สึกยินดีที่มีโอกาสให้การสนับสนุนการประกวดออกแบบผลิตภัณฑ์ PE Recycle ของน้องๆ สถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังในครั้งนี้ ซึ่งสอดคล้องกับความมุ่งมั่นของบริษัท ที่ดำเนินธุรกิจตามหลักแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนจากต้นน้ำสู่ปลายน้ำหรือ Circular Living เพื่อรณรงค์ให้คนไทยนำพลาสติกใช้แล้ว นำกลับมาใช้ใหม่ นอกจากนี้ได้ใส่นวัตกรรม และไอเดียต่างๆ เพื่อเพิ่มมูลค่าให้สินค้า

สำหรับ PE Recycle ที่นำมาเป็นโจทย์ครั้งนี้ ส่วนใหญ่อยู่ในถุงก๊อบแก๊บ ที่ใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง และคนส่วนใหญ่ไม่นิยมแยกขยะไว้ แต่ PE กลับมีคุณสมบัติพิเศษ คือ สามารถทำเป็นเส้นใยที่มีความแข็งและเหนียวมากกว่าเส้นใยที่ทำจากขวดน้ำ จึงสามารถนำไปเป็นส่วนประกอบสำคัญของสินค้าแฟชั่นหรือผ้าต่างๆ ด้วยการถัก สาน ขณะเดียวกันสามารถตัดหรือหลอม แล้วนำมาผลิตเป็นแผ่นชีทใหญ่ๆ ที่สามารถเอามาเป็นส่วนประกอบของอุปกรณ์ต่างๆ ได้

สำหรับน้องนักศึกษาที่ได้รับรางวัลอันดับ 1 ในครั้งนี้ มีจุดเด่นที่สามารถพัฒนาสินค้าให้มีความแข็งแรง คงทน มีเอกลักษณ์ในการออกแบบ ใช้ได้จริงและใช้งานได้หลายรูปแบบ โดยกระเป๋าที่ผลิตขึ้นจากวัสดุใหม่มีความคงทน ใส และสวยงาม จึงสามารถชนะใจคณะกรรมการไปได้

IMG 4804

ผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่เข้าร่วมการประกวดก็สามารถต่อยอดได้และสามารถนำไปจำหน่ายในเชิงพาณิชย์ได้หลายชิ้น เช่น กระเป๋า พรม และม่านบังแดด ดังนั้นในปีต่อไป GC ก็จะต่อยอดกิจกรรมในปีนี้ ด้วยการใช้ธีมอื่น หรืออาจจะใช้พลาสติกใช้แล้วปริมาณมากขึ้น ซึ่งนักวิจัย GC ก็พร้อมจะให้ความรู้เรื่องการใช้พลาสติกให้ถูกวิธี ไม่เป็นโทษต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อให้น้องๆ นำไปต่อยอดสร้างสรรค์ผลงานได้

“ถ้าเด็กๆ มีไอเดียเรื่องนี้ เขาก็จะเป็นดีไซเนอร์หรือคนออกแบบผลิตภัณฑ์ ที่ช่วยทำให้พลาสติกใช้แล้วมีตลาด หรือเขาอาจจะเป็นคนสำคัญที่ช่วยสร้างตลาดพลาสติกรีไซเคิลได้ โดยตอนนี้มีลูกค้ากลุ่มหนึ่งที่เข้าใจปัญหาสิ่งแวดล้อมและพร้อมซื้อผลิตภัณฑ์ที่มาจากวัสดุรีไซเคิลด้วยมูลค่าสูง แต่สินค้าต้องมีเอกลักษณ์และลูกค้าก็ยินดีที่จะซื้อ”

IMG 4874 e1543928206331

IMG 4876

Avatar photo