Economics

ปตท. เดินหน้าจับมือพันธมิตร มุ่งสู่ศูนย์กลางแอลเอ็นจีอาเซียน

ศูนย์กลางแอลเอ็นจีอาเซียน (Regional LNG Hub) ตามนโยบายของรัฐบาลใกล้เป็นจริง ปตท. เดินหน้าตามกลยุทธ์มุ่งสู่พลังงานสะอาดและสร้างการเติบโต พร้อมสร้างพันธมิตรเพื่อเพิ่มโอกาสทางธุรกิจ

ล่าสุด บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้เข้าไปถือหุ้น บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ แอลเอ็นจี เจวี จำกัด (BGP LNG JV) โดยผ่าน บริษัท พีทีที โกลบอล แอลเอ็นจี จำกัด (PTTGL) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ ปตท. และ บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ส่งผลให้ PTTGL และ BGRIM มีสัดส่วนการถือหุ้นที่เท่ากันจำนวนร้อยละ 50

 

ศูนย์กลางแอลเอ็นจีอาเซียน

 

ปตท. เดินหน้าจับมือพันธมิตร มุ่งสู่ศูนย์กลางแอลเอ็นจีอาเซียน

การเข้าไปถือหุ้นด้วยการเข้าซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนของ BGP LNG JV ทำให้มีสัดส่วนการถือหุ้น 50% เท่ากับ บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) (BGRIM)

ก่อนหน้านั้น ปตท. ได้จับมือกับพันธมิตร ในการดำเนินธุรกิจ LNG กับ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) โดย กฟผ. เข้ามาลงทุน โครงการก่อสร้างคลังจัดเก็บและแปรสภาพก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG Receiving Terminal) แห่งที่ 2 ตำบลหนองแฟบ จังหวัดระยอง ซึ่งคาดว่าจะเสร็จในกลางปี 2565

บริษัท BGP LNG JV ดำเนินธุรกิจจัดหาและจัดจำหน่าย LNG รวมทั้งแสวงหาโอกาสในธุรกิจอื่น ๆ ใน LNG Value Chain ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งทำให้ ปตท. มีพันธมิตรเพิ่มขึ้น ตามกลยุทธ์การสร้างการเติบโตไปด้วยกัน และมุ่งสู่เป้าหมายศูนย์กลางการซื้อขายก๊าซธรรมชาติในภูมิภาคอาเซียน

ศูนย์กลางแอลเอ็นจีอาเซียน

การร่วมลงทุนกับ กฟผ. เป็นไปตามมติ คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2564 ที่เห็นชอบแนวทางการส่งเสริมการแข่งขัน ในกิจการก๊าซธรรมชาติ ระยะที่ 2 และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานก๊าซธรรมชาติ เพื่อรองรับโครงการโรงไฟฟ้า ตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561-2580 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 หรือ PDP 2018 (Revision 1)

มติดังกล่าวกำหนดให้ กฟผ. ปรับรูปแบบการลงทุนจากโครงการสถานีเก็บรักษา และแปรสภาพก๊าซธรรมชาติจากของเหลวเป็นก๊าซแบบลอยน้ำ (FSRU )ในพื้นที่อ่าวไทยตอนบน (F-1) เป็นการร่วมลงทุนกับ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) สัดส่วน 50:50 ในโครงการ LNG Receiving Terminal แห่งที่ 2 ตำบลหนองแฟบ จังหวัดระยอง ขนาด 7.5 ล้านตัน ต่อปี

โครงการนี้ เป็นคลังจัดเก็บ และแปรสภาพก๊าซ LNG แห่งที่ 2 ของประเทศไทย ซึ่งสร้างขึ้นต่อจาก LNG Receiving Terminal มาบตาพุด จังหวัดระยอง ของ บริษัท พีทีที แอลเอ็นจี จำกัด (PTTLNG) โดยมีมูลค่าการลงทุน 38,500 ล้านบาท เริ่มก่อสร้างในปี 2562 และมีกำหนดแล้วเสร็จภายในปี 2565 เพื่อรองรับการนำเข้า LNG 7.5 ล้านตัน ต่อปี

กฟผ. เข้าร่วมลงทุนในสัดส่วน 50:50 และร่วมกันจัดตั้งบริษัทร่วมทุน ทำให้ขยายขีดความสามารถในการนำเข้า LNG ของประเทศไทยจากเดิม 11.5 ล้านตัน ต่อปี เพิ่มเป็น 19 ล้านตัน ต่อปี ถือเป็นการสร้างความมั่นคงทางพลังงานไฟฟ้าของประเทศในอนาคต พร้อมทั้งเป็นศูนย์กลางการซื้อขายก๊าซธรรมชาติเหลวในภูมิภาคอาเซียน (Regional LNG Hub) ตามนโยบายของรัฐบาล

การลงทุนร่วมกับ กฟผ. มีข้อดีคือ กฟผ. ไม่ต้องลงทุนซ้ำซ้อน ในการก่อสร้างเทอร์มินอลในพื้นที่ภาคกลาง

ในอนาคตจะมีความร่วมมือกัน ในโครงการก่อสร้างคลังจัดเก็บและแปรสภาพก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG Receiving Terminal) ในพื้นที่ภาคใต้ ที่สามารถรองรับปริมาณการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ขนาด 3 ล้านตัน ต่อปี เพื่อป้อนเป็นเชื้อเพลิงให้กับโรงไฟฟ้าพุนพิน (เดิมชื่อโรงไฟฟ้าสุราษฎร์ธานี)

ปัจจุบันโครงการสร้างโรงไฟฟ้าพุนพิน มีการศึกษาความเป็นไปได้ในโครงการร่วมกันเสร็จแล้ว ซึ่งอยู่ระหว่างการอนุมัติของรัฐบาล

โครงการเหล่านี้ ยังถือเป็นหนึ่งในแผนการเดินหน้า เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของ ปตท. และเตรียมพร้อมสู่การเป็นศูนย์กลางการซื้อขายก๊าซธรรมชาติเหลวในภูมิภาคอาเซียน

ศูนย์กลางแอลเอ็นจีอาเซียน

การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และความพร้อมในการเป็นศูนย์กลางซื้อขายก๊าซธรรมชาติเหลวในภูมิภาคอาเซียน ขณะนี้ทาง ปตท. ได้ดำเนินการแล้วหลายโครงการ เช่น LNG Reloading Cargo ครั้งแรกไปยังประเทศญี่ปุ่น การส่งออก LNG ทางรถยนต์ไปประเทศกัมพูชาสำเร็จเป็นครั้งแรก และการส่งออก LNG ทางเรือไปยังประเทศจีนในรูปแบบ ISO Tank Container

ก่อนหน้า ปตท. จับมือ 5 บริษัท ขยายการจำหน่าย LNG โดยร่วมลงนามสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติเหลว หรือ LNG แล้ว ได้แก่ บริษัท ไทยสเปเชียลแก๊ส จำกัด บริษัท แอล เอ็น จี ลิ้งค์ จำกัด บริษัท ครัยโอไทย จำกัด บริษัท สแกน อินเตอร์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท เดอะ แก๊สแคร์ริเออร์ จำกัด เมื่อต้นปี 2563

การซื้อขาย LNG ดังกล่าวจะใช้รถประเภท Semi-Trailer หรือ ISO Container รับ LNG จากสถานีรับ-จ่ายก๊าซธรรมชาติเหลว ที่ อำเภอมาบตาพุด จังหวัดระยอง และขนส่งไปจำหน่ายให้แก่ลูกค้าก๊าซ ในภาคอุตสาหกรรมภายในประเทศ รวมทั้งเป็นการเพิ่มโอกาส ในการขยายกลุ่มผู้ใช้ LNG ไปยังประเทศในภูมิภาคอาเซียนด้วย

ศูนย์กลางแอลเอ็นจีอาเซียน

จากการดำเนินงานหลายโครงการอย่างต่อเนื่อง ปตท. มีความมั่นใจศักยภาพของไทย ในการเป็นศูนย์กลางการซื้อขายก๊าซธรรมชาติเหลวในภูมิภาคอาเซียน

นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวในการแถลงผลประกอบการไตรมาส 2 เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2564 ว่า ปตท.ได้กำหนดเป้าหมายใหม่ เพิ่มปริมาณนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) เป็น 9 ล้านตัน ต่อปี ภายในปี 2573 เพื่อรองรับการเป็นศูนย์กลางแอลเอ็นจีอาเซียน

อ่านข่าวเพิ่มเติม:

Avatar photo