Economics

ดัชนีภาวะเศรษฐกิจ-การครองชีพครัวเรือนยังต่ำรอบ 1 ปี ผลกระทบจากโควิดรอบนี้หนัก

ดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือน (KR-ECI) ในเดือนสิงหาคม 2564 อยู่ที่ 33.0 ซึ่งยังคงเป็นระดับที่ต่ำกว่าในช่วงล็อกดาวน์ทั้งประเทศในปีก่อน

ครัวเรือนส่วนมากมีความกังวลเพิ่มขึ้นเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายที่ไม่รวมภาระหนี้ ขณะที่ความกังวลด้านรายได้และการจ้างงานยังคงมีอยู่ อย่างไรก็ตามมาตรการเยียวยาผู้ประกอบการและลูกจ้างใน 9 กิจการที่ได้รับผลกระทบและจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันที่เริ่มทรงตัวในช่วงปลายเดือนช่วยสนับสนุนให้ดัชนี KR-ECI ในอีก 3 เดือนข้างหน้าปรับเพิ่มขึ้นได้เล็กน้อยอยู่ที่ 35.5 จาก 33.8 ในเดือนก.ค. แต่ยังอยู่ในระดับที่ต่ำเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

ดัชนีภาวะเศรษฐกิจ

 

ระดับของดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนยังคงทรงตัวอยู่ในระดับต่ำกว่าช่วงที่มีการล็อกดาวน์ทั่วประเทศในปีก่อนต่อเนื่อง 

เดือนสิงหาคม 2564 สถานการณ์การระบาดยังมีความน่ากังวลจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันและจำนวนผู้เสียชีวิตยังอยู่ในระดับสูงต่อเนื่องมีการยกระดับมาตรการคุมเข้มการระบาดเพิ่มเติมโดยให้มีการล็อกดาวน์เพิ่มเติมเป็น 29 จังหวัดพื้นที่เสี่ยงตั้งแต่ช่วงต้นเดือนสิงหาคม 2564 ส่งผลกระทบต่อกิจกรรมเศรษฐกิจต่างๆภายในประเทศต่อเนื่องจากเดือนก่อนมาตรการที่เข้มงวดขึ้นและสถานการณ์ที่ยืดเยื้อกดดันดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือน

ในเดือนสิงหาคม 2564 ให้อยู่ในระดับต่ำต่อเนื่องที่ 33.0 โดยครัวเรือนมีความกังวลเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายของครัวเรือนที่ไม่รวมภาระหนี้ เนื่องจากครัวเรือนบางส่วนมีการเร่งซื้อสินค้ามากขึ้นในช่วงที่มีการล็อกดาวน์ รวมถึงมีความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจในอนาคตจึงใช้จ่ายลดลงในปัจจุบัน ซึ่งเป็นไปทิศทางเดียวกับเครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชน (PCI Index) ในเดือนกรกฎาคม 2564 ที่ชะลอตัวลง -8.1% YoY นอกจากนี้ครัวเรือนยังมีความกังวลเกี่ยวกับราคาสินค้าอุปโภคบริโภคที่มีราคาสูงขึ้นสะท้อนจากระดับอัตราเงินเฟ้อในส่วนของไข่ และผลิตภัณฑ์นม (+3.82% YoY) รวมถึงเครื่องประกอบอาหารที่เพิ่มขึ้น (+3.99% YoY)

ขณะที่มุมมองเกี่ยวกับรายได้และการมีงานทำได้รับปัจจัยหนุนบางส่วนจากมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการและลูกจ้างผ่านระบบประกันสังคมของภาครัฐที่เริ่มมีการจ่ายเงินตั้งแต่ 4 สิงหาคม แต่เมื่อพิจารณาองค์ประกอบในดัชนี สถานการณ์เกี่ยวกับการจ้างงานและรายได้ยังมีความน่ากังวล

ผลสำรวจระบุว่าหน่วยงานหรือองค์กรที่ปรับลดค่าจ้างมีจำนวนเพิ่มขึ้นต่อเนื่องมาตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2564 ตามสถานการณ์โควิด-19 ที่มีความน่ากังวลและมาตรการคุมเข้มการระบาดที่เข้มงวดขึ้นมาต่อเนื่อง บ่งชี้ว่าภาวะการจ้างงานยังมีแนวโน้มเปราะบาง ซึ่งปัจจัยดังกล่าวจะส่งผลต่อกำลังซื้อของครัวเรือนต่อเนื่อง

ด้านดัชนี KR-ECI ของครัวเรือนในอีก 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ 35.5 ปรับดีขึ้นเล็กน้อยซึ่งคาดว่าเกิดจากจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันที่เริ่มทรงตัวในช่วงปลายเดือนส.ค.ประกอบกับการคาดหวังว่าจะมีการคลายล็อกดาวน์ในช่วงเดือนก.ย. อย่างไรก็ตาม

ดัชนียังคงอยู่ในระดับต่ำจากช่วงต้นปี บ่งชี้ว่าภาพรวมครัวเรือนยังคงมีความวิตกกังวลเกี่ยวกับภาวะการครองชีพและการครองชีพของตนเองในอนาคต 

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ทำการสำรวจเพิ่มเติมเกี่ยวกับประเด็นมาตรการเยียวยาและกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงหลังของปีว่าเข้ามาช่วยเยียวยาผลกระทบที่เกิดขึ้นได้อย่างไรบ้าง ผลสำรวจระบุว่ามาตรการลดค่าไฟฟ้า/น้ำประปา(สิงหาคม-กันยายน 2564) เป็นมาตรการที่เข้ามาช่วยเยียวยาผลกระทบได้บ้าง (63.8%) ซึ่งคาดว่ามีสาเหตุมาจากมาตรการดังกล่าวสามารถเข้าถึงครัวเรือนทุกกลุ่มโดยไม่ต้องมีเงื่อนไขหรือการลงทะเบียน

รวมถึงเป็นภาระค่าใช้จ่ายประจำรายเดือนของทุกครัวเรือนที่ปัจจุบันบางส่วนเผชิญกับภาวะรายได้ที่ลดลง ขณะที่มาตรการที่ไม่ช่วยเลยและไม่เข้าร่วมคือมาตรการยิ่งใช้ยิ่งได้ (82.8%) เนื่องจากมาตรการดังกล่าวออกมาในช่วงที่สถานการณ์ระบาดยังไม่รุนแรงและยังไม่มีมาตรการคุมเข้มการระบาด  

แม้ในช่วงต้นเดือนกันยายน จะมีการคลายล็อกมาตรการคุมเข้มการระบาดบางส่วนแล้ว แต่ภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพในระยะข้างหน้าของครัวเรือนยังมีความไม่แน่นอนสูง  ทั้งในส่วนของตลาดแรงงานที่ยังมีแนวโน้มเปราะบางจากภาวะการจ้างงานในภาคบริการ เช่น ภาคการท่องเที่ยวยังไม่สามารถกลับมาได้เต็มที่ซึ่งปัจจัยดังกล่าวจะกระทบต่อการจับจ่ายใช้สอยของครัวเรือน นอกจากนี้สถานการณ์การระบาดที่ยังมีความเสี่ยง

จำนวนผู้ติดเชื้อที่ยังอยู่ในระดับสูง อัตราการฉีดวัคซีนที่ยังอยู่ในระดับต่ำอาจทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจยังไม่สามารถกลับมาได้เต็มที่สะท้อนจากดัชนี google mobility index ( รายงานวันที่ 4 กันายายน 2564) ที่เป็นข้อมูลการเดินทางที่สามารถสะท้อนถึงกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้บางส่วนบ่งชี้ว่า ในส่วนของร้านค้าปลีกและนันทนาการนั้น การเดินทางยังไม่ได้กลับมาเป็นบวก (-19% จากช่วงปกติ) อีกทั้งจะเห็นได้ว่าสถานการณ์ในต่างประเทศที่แม้มีผู้ได้รับการฉีดวัคซีนอยู่ในระดับสูงแล้ว แต่ยังคงมีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นเช่นกัน ดังนั้นความไม่แน่นอนจากโรคระบาดจะยังเป็นปัจจัยกดดันต่อภาคเศรษฐกิจต่อเนื่อง 

ปัจจุบันมาตรการเยียวยาเศรษฐกิจจากภาครัฐที่ตรงจุด เข้าถึงได้ง่าย และครอบคลุมมีความจำเป็นที่จะต้องเข้ามาบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นและช่วยประคับประคองการดำรงชีพของครัวเรือนควบคู่ไปกับการเร่งควบคุมสถานการณ์ เช่น การตรวจเชิงรุก และการจัดหา จัดสรร สร้างความเชื่อมั่นและแจกจ่ายวัคซีนที่มีประสิทธิภาพ 

ดัชนี KR-ECI ในระดับปัจจุบัน (สิงหาคม 2564) และ 3 เดือนข้างหน้ายังบ่งชี้ถึงความกังวลต่อการครองชีพของภาคครัวเรือน ภาครัฐควรมีมาตรการเยียวยาที่ตรงจุดและเข้าถึงง่ายพร้อมกับเร่งเข้าควบคุมสถานการณ์รวมถึงในเรื่องของวัคซีนเพื่อให้สถานการณ์การระบาดบรรเทาลง และเร่งสร้างความเชื่อมั่นต่อภาคเศรษฐกิจต่อเนื่อง 

อ่านข่าวเพิ่มเติม:

Avatar photo