Economics

ปตท. คาดน้ำมันสัปดาห์นี้ขยับจากอุปทานลด แต่มีหลายปัจจัยฉุดราคาลง

ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้ มีแรงหนุนจากอปุทานลดลง และปริมาณสำรองลด แต่ยังมีความเสี่ยงจากเศรษฐกิจโลกชะลอจากโควิด-19 และโอเปกเพิ่มกำลังการผลิต

ทีมวิเคราะห์ตลาดต่างประเทศ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)  หรือ PTT คาดว่าราคาน้ำมันยังคงได้รับแรงสนับสนุนจากอุปทานน้ำมันดิบที่ลดลง จากผลกระทบของพายุเฮอร์ริเคน Ida ที่แม้ผ่านไปแล้ว โดยการผลิตน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติใน Gulf of Mexico ยังหยุดดำเนินการอยู่ 1.6 ล้านบาร์เรลต่อวัน และ 1,900 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน (คิดเป็น 88% และ 83% ของกำลังการผลิตทั้งหมดใน Gulf of Mexico)

ราคาน้ำมัน

ทั้งนี้ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติบริเวณ Gulf of Mexico ที่หยุดทำงานในขณะนี้ คิดเป็น 15.6% และ 4.5% ของปริมาณการผลิตทั้งหมดในสหรัฐฯ ตามลำดับ และปริมาณสำรองน้ำมันในสหรัฐและกลุ่มประเทศ OECD ยังคงปรับตัวลงต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม OPEC+ จะเพิ่มปริมาณการผลิตเดือนละ 0.4 ล้านบาร์เรลต่อวัน จนถึงเดือนธันวาคม 2564 ตามกำหนดเดิมที่วางไว้ตั้งแต่เดือน กรกฎาคม 2564

ด้านเศรษฐกิจ นักลงทุนในตลาดยังคงวิตกกังวลเรื่องการทบทวนปรับแผนการลดมารตรการ QE ในการประชุมธนาคารกลางยุโรป (ECB) วันที่ 9 กันยายน 2564 ภายหลัง Eurostat รายงานดัชนีราคาผู้บริโภค (Consumer Price Index-CPI) ซึ่งใช้ชี้วัดอัตราเงินเฟ้อ (Inflation Rate) ของกลุ่มยูโรโซน (19 ประเทศ) ในเดือนสิงหาคม 2564 เพิ่มขึ้น 3% จากปีก่อนหน้า สูงสุดในรอบ 10 ปี และสูงกว่าเป้าหมายของธนาคารกลางยุโรป (ECB) ที่คาดการณ์เพิ่มขึ้น 2% จากปีก่อนหน้า

ให้ติดตามสถานการณ์ระหว่างซาอุดีอาระเบียและกลุ่ม Houthi ของเยเมน หลังซาอุดีอาระเบียสกัดกั้นขีปนาวุธนำวิถีและโดรนติดอาวุธที่ยิงโดยกลุ่ม Houthi เมื่อวันเสาร์ที่ 4 กันยายน 2564 โดยกล่าวว่ามุ่งเป้าไปที่โรงงานของ Saudi Aramco บริษัทน้ำมันแห่งชาติของซาอุดีอาระเบียที่ Ras Tanura

กลุ่ม Houthi ซึ่งขัดแย้งกับซาอุดีอาระเบียตั้งแต่ปี 2558 อ้างเป็นผู้โจมตีครั้งนี้ ด้วยโดรนติดอาวุธ 8 ลำและขีปนาวุธ 1 ลูก กระทรวงกลาโหมซาอุดีอาระเบียกล่าวว่าขีปนาวุธถูกสกัดกั้นบริเวณชานเมือง Dammam โดยเด็ก 2 ราย ถูกสะเก็ดระเบิดบาดเจ็บ และสร้างความเสียหายเล็กน้อยให้กับบ้าน 14 หลัง

ในทางเทคนิคราคาน้ำมัน ICE Brent ในสัปดาห์นี้มีแนวโน้มเคลื่อนไหวอยู่ระหว่าง 70 ถึง 75 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล

ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงบวก         

  • กระทรวงพลังงานสหรัฐฯ รายงาน ณ วันที่ 5 กันยายน 2564 การผลิตน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติใน Gulf of Mexico ยังหยุดดำเนินการอยู่ 1.6 ล้านบาร์เรลต่อวัน และ 1,900 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน (คิดเป็น 88% และ 83% ของกำลังการผลิตทั้งหมดใน Gulf of Mexico) แม้พายุเฮอริเคน Ida พัดผ่านไปแล้ว ทั้งนี้บริษัท Energy Aspects คาดการณ์ว่าโรงกลั่นจะกลับมาผลิตได้ตามปกติในอีกสองสัปดาห์
  • Energy Information Administration (EIA) รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดิบเชิงพาณิชย์ในสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 27 สิงหาคม 2564 ลดลง 7.2 ล้านบาร์เรล จากสัปดาห์ก่อนหน้า มาอยู่ที่ 425.4 ล้านบาร์เรล ต่ำสุดในรอบเกือบ 2 ปี และต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปี ที่ระดับ 6%
  • Baker Hughes Inc. รายงานจำนวน Rig ขุดเจาะน้ำมันดิบในสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 3 กันยายน 2564 ลดลง 16 แท่น จากสัปดาห์ก่อนหน้า มาอยู่ที่ 394 แท่น

ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงลบ     

  • ที่ประชุม OPEC+ มีมติเพิ่มปริมาณการผลิตตามเดิมที่วางไว้ตั้งแต่เดือน กรกฎาคม 2564 โดยเป็นการเพิ่มปริมาณการผลิตน้ำมันดิบเดือนละ 0.4 ล้านบาร์เรลต่อวัน ตั้งแต่เดือน ตุลาคม-ธันวาคม 2564
  • Morgan Stanley ปรับลดคาดการณ์อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ (GDP) ในไตรมาส 3/64 เพิ่มขึ้น 2.9% จากไตรมาสก่อนหน้า แต่คงคาดการณ์ในไตรมาส 4/64 ที่ 6.7% จากไตรมาสก่อนหน้า
  • การระบาดของ COVID-19 ที่เมือง Nanjing ประเทศจีนแม้ทางการสามารถควบคุมสถานการณ์ได้แต่ส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจจีน อาทิ Markit/Caixin รายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิต (Manufacturing Purchasing Managers’ Index-PMI) เดือนสิงหาคม 2564 ลดลง 1.1 จุด จากเดือนก่อนหน้า มาอยู่ที่ 49.2 จุด ลดลงครั้งแรกตั้งแต่เดือน เมษายน 2563 ขณะที่ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการบริการ (Non-Manufacturing PMI) เดือนสิงหาคม 2564 ลดลง 8.2 จุด จากเดือนก่อนหน้า มาอยู่ที่ 46.7 จุด ทั้งนี้ ดัชนีอยู่ต่ำกว่าระดับ 50 จุด บ่งชี้ถึงการหดตัวตัวของภาคการผลิต

อ่านข่าวเพิ่มเติม:

Avatar photo