Economics

ดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน ก.ค. ร่วงเป็นเดือนที่ 5 ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์!

ดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนกรกฎาคมปรับตัวลดลงมาที่ 40.9 ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์!

ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค (CCI) เดือนกรกฎาคม 2564 ปรับตัวลดลงมาที่ 40.9 จากระดับ 43.1 ในเดือนมิถุนายน 2564 โดยดัชนีอยู่ในระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ในรอบ 22 ปี 10 เดือน และยังคงลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5

ดัชนีเชื่อมั่น

ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม อยู่ที่ระดับ 35.3 ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสหางานทำโดยรวม อยู่ที่ระดับ 38.0 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต อยู่ที่ระดับ 49.6 โดยดัชนีปรับตัวลดลงทุกรายการเมื่อเทียบกับในเดือนมิถุนายน 2564

โดยปัจจัยลบที่สำคัญ คือ

  • ความกังวลต่อการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอกที่ 3-4 ตลอดจนการระบาดของสายพันธุ์เดลตาที่แพร่กระจายได้เร็วกว่าสายพันธุ์เดิม
  • ความกังวลกับแผนกระจายวัคซีนที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง และไม่เป็นไปตามเป้าหมาย
  • กระทรวงการคลังปรับลดประมาณการ GDP ปีนี้เหลือโต 1.3%
  • ราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศปรับสูงขึ้น
  • ความกังวลต่อเสถียรภาพทางการเมืองและการชุมนุมทางการเมืองในประเทศ
  • ผู้บริโภคกังวลต่อภาวะการชะลอตัวของเศรษฐกิจ และปัญหาค่าครองชีพ

ขณะที่ปัจจัยบวกมีเพียง

  • มาตรการเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจผ่านโครงการต่าง ๆ
  • การฉีดวัคซีนของโลกและการฉีดวัคซีนในประเทศที่เริ่มเป็นรูปธรรม
  • การส่งออกไทยในเดือนมิถุนายนโต 43.82%
ดัชนีเชื่อมั่น
ภาพจากเฟซบุ๊ก ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า จากสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศที่เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนทำให้รัฐบาลต้องเพิ่มความเข้มข้นของมาตรการล็อกดาวน์นั้น ประเมินว่าในระยะ 2 เดือน (ก.ค.-ส.ค.) จะกระทบต่อมูลค่าทางเศรษฐกิจราว 5 แสนล้านบาท ส่งผลให้เศรษฐกิจย่อตัวลงอีกราว 2-3% จากที่เคยประเมินไว้ก่อนหน้านี้ ดังนั้นจึงมีโอกาสที่เศรษฐกิจไทยปีนี้จะหดตัวเหลือ -2 ถึง 0% ได้

ทั้งนี้ การที่รัฐบาลเพิ่มความเข้มข้นของการล็อกดาวน์โดยขยายพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (สีแดงเข้ม) จากเดิม 13 จังหวัด เพิ่มเป็น 29 จังหวัดนั้น จะเห็นได้ว่าจังหวัดในกลุ่มนี้ส่วนใหญ่จะเป็นพื้นที่สำคัญที่มีโรงงานอุตสาหกรรม หรือเป็นพื้นที่ที่สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศเป็นสัดส่วนถึง 80% ของจีดีพี ซึ่งการเพิ่มพื้นที่ล็อกดาวน์ดังกล่าว ทำให้เกิดการชะลอกิจกรรมทางเศรษฐกิจในระดับที่กว้างขวางมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมการผลิต การท่องเที่ยว การค้า และโลจิสติกส์ เป็นต้น

ที่มา : www.ryt9.com

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo