Economics

เงินเฟ้อเดือนก.ค. ขยายตัว 0.45% แนวโน้มไม่ขยับจากโควิดฉุดกำลังซื้อ

เงินเฟ้อ เดือนกรกฎาคม 2564 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน สูงขึ้น ร้อยละ 0.45 ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 แต่เพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอลง แม้ว่าราคาน้ำมันเชื้อเพลิงจะปรับตัวสูงขึ้นถึงร้อยละ 29.35

แต่มีปัจจัยทอนจากราคาสินค้ากลุ่มอาหารสด ที่ลดลงถึงร้อยละ-1.58 ซึ่งเป็นการลดลงมากที่สุดในรอบ 36 เดือนโดยเป็นผลจากราคาสินค้าสำคัญ อาทิ ข้าวสารเหนียว ข้าวสารเจ้า ไก่สด และผักสด ประกอบกับมีมาตรการช่วยเหลือประชาชนเพื่อลดผลกระทบของสถานการณ์โควิด ในส่วนของค่ากระแสไฟฟ้าและค่าน้ำประปา เป็นรอบที่ 3 ของปี 2564 (ก.ค.–ส.ค. 64) โดยในครั้งนี้เปลี่ยนฐานการคำนวณจากเดือนเมษายน เป็นเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นเดือนที่ครัวเรือนใช้ไฟฟ้าน้อยที่สุดในรอบปีที่ผ่านมา

เงินเฟ้อ

อย่างไรก็ตาม ไข่ไก่และเนื้อสุกรราคาปรับตัวสูงขึ้น จากความต้องการบริโภคที่เพิ่มขึ้นในช่วงล็อกดาวน์ และการเกิดโรคระบาดในสุกรทำให้ผลผลิตเนื้อสุกรน้อยลง ขณะที่ราคาสินค้าและบริการอื่น ๆ ยังคงเคลื่อนไหวสอดคล้องกับสถานการณ์และความต้องการบริโภคของประชาชน เมื่อหักอาหารสดและพลังงานออกแล้ว CPI พื้นฐานขยายตัวที่ร้อยละ 0.14

สำหรับเฉลี่ย 7 เดือน (ม.ค.- ก.ค.) ปี 2564 CPI สูงขึ้นร้อยละ 0.83  และ CPI พื้นฐาน สูงขึ้นร้อยละ 0.26

เงินเฟ้อ

กระทรวงพาณิชย์ คาดว่า CPI เดือนสิงหาคม 2564 มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องในระดับที่ไม่สูงมากนัก โดยมีปัจจัยสำคัญจากมาตรการลดค่าครองชีพ ผู้บริโภคของภาครัฐ ทั้งการลดค่ากระแสไฟฟ้าและค่าน้ำประปา ในรอบเดือนกรกฎาคม – สิงหาคม 2564 อีกทั้งราคาพลังงานที่ถึงแม้จะมีแนวโน้มสูงขึ้นจากอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นตามสถานการณ์โควิด-19 ที่คลี่คลายลงในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจหลัก แต่มีแนวโน้มชะลอตัว เนื่องจากฐานราคาของปีก่อนเริ่มสูงกว่าช่วงที่ผ่านมาส่งผลให้เงินเฟ้อขยายตัวน้อยลง

สำหรับสินค้าในหมวดอื่น ๆ น่าจะยังคงเคลื่อนไหวในทิศทางปกติ ตามปริมาณผลผลิตและความต้องการ ขณะที่ราคาสินค้าเกษตรยังมีโอกาสผันผวนตามสภาพอากาศ

ทั้งนี้ การแพร่ระบาดของโควิด -19 ยังคงส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อและการใช้จ่ายของประชาชน ซึ่งเป็นแรงกดดันสำคัญต่ออัตรา CPI ของประเทศ

อย่างไรก็ตาม แผนการจัดหา และการกระจายวัคซีนที่มีประสิทธิภาพและมีความชัดเจน รวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐที่ทะยอยออกมาเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่อง น่าจะสนับสนุนให้อัตรา CPI เคลื่อนไหวในกรอบเป้าหมายของธนาคารแห่งประเทศไทยก้าหนดไว้ คือที่ร้อยละ 1.0 – 3.0 

ทั้งนี้กระทรวงพาณิชย์คาดการณ์ว่า CPI เฉลี่ยในปี 2564 จะอยู่ระหว่างร้อยละ 0.7 –1.7 (ค่ากลางอยู่ที่ร้อยละ1.2) ซึ่งเป็นอัตราที่น่าจะ ช่วยสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้อย่างเหมาะสมและต่อเนื่อง หากสถานการณ์เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญจะมีการทบทวนอีกครั้ง 

อ่านข่าวเพิ่มเติม:

Avatar photo