Economics

ศูนย์วิจัยกรุงไทย หั่นคาดการณ์เศรษฐกิจปีนี้เหลือโตแค่ 0.5-1.3%

ศูนย์วิจัยกรุงไทย ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจไทยปีนี้เหลือโต 0.5-1.3% จากเดิมที่คาดโต 0.8-1.6% หลังโควิดระลอกใหม่ระบาดค่อนข้างรุนแรง

นายพชรพจน์ นันทรามาศ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ธนาคารกรุงไทย (KTB) เปิดเผยว่า ศูนย์วิจัยฯ ปรับลดคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจไทย (GDP) ในปีนี้ ลงเหลือโต 0.5-1.3% จากเดิมที่คาดจะเติบโตอยู่ที่ระดับ 0.8-1.6% เนื่องจากมองว่า สถานการณ์การระบาดของโควิดระลอกนี้ค่อนข้างรุนแรง โดยพบยอดผู้ติดเชื้อสูงกว่าประมาณการณ์ในครั้งก่อนอย่างมีนัยสำคัญ ขณะเดียวผลกระทบต่อเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมาก็ค่อนข้างจะรุนแรงกว่าที่คาดไว้

กรุงไทย14764

ทั้งนี้ คาดว่าหากการระบาดครั้งนี้จะมีความยืดเยื้อ หรือลากยาวออกไป โดยอาจจะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างน้อยไปจนถึงเดือนกันยายน แต่คาดหวังว่าในเดือนตุลาคม 2564 เศรษฐกิจจะสามารถฟื้นตัวดีขึ้น

อย่างไรก็ตาม ด้วยสมมติฐานเศรษฐกิจที่ปรับตัวลง คาดว่าทางภาครัฐอาจจะต้องใส่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมเข้ามาในช่วงหลังจากนี้ โดยมองว่าอาจจะออกมาคล้ายกับมติภาคเอกชนที่เสนอไปก่อนหน้านี้ คือ การเพิ่มวงเงินในมาตรการคนละครึ่ง จากเดิม 3,000 บาท ให้เพิ่มเป็น 6,000 บาท เป็นต้น

ทั้งนี้ ประมาณการณ์เศรษฐกิจไทยปีนี้ที่ 0.5-1.3% ได้นำเม็ดเงินที่คาดว่าจะใส่ในมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมเบื้องต้นในลักษณะดังกล่าวไปคำนวณร่วมด้วยแล้ว ส่วนในปี 2565 ยังคงคาดการณ์ GDP โตได้ตามเดิมที่ 3.6% ในกรณีที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 จบลงได้ภายในปีนี้

atm700

“มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และมาตรการเยียวยาที่มีอยู่ในปัจจุบันของทางภาครัฐนั้น ยังไม่เพียงพอ เนื่องจากโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจค่อนข้างมาก ขณะที่หากมีมาตรการออกมาในลักษณะที่ชักชวนให้ประชาชนมาใช้จ่ายในช่วงนี้ก็คงไม่ใช่เวลาที่เหมาะสม อาจจะต้องใช้เวลาอีกสัก 1 เดือน ให้สถานการณ์โควิดเริ่มดีขึ้น มองว่าอาจเป็นช่วงเดือนตุลาคม 2564 เป็นต้นไป” นายพชรพจน์ กล่าว

ส่วนมาตรการช่วยเหลือเร่งด่วนในจังหวัดที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการกึ่งล็อกดาวน์ ก็มองว่าออกมาได้ถูกเวลา เนื่องจากมีความจำเป็นย่างยิ่งที่ภาครัฐจะต้องชดเชยจากการใช้มาตรการดังกล่าว

นายพชรพจน์ กล่าวว่า สำหรับฐานะทางการคลังของไทยปัจจุบัน มองว่ายังไม่น่ากังวล แม้ระดับหนี้สาธารณะของไทยจะอยู่ใกล้เคียง 60% ของ GDP แต่ยังต่ำกว่าประเทศในระดับเดียวกัน และต่ำกว่ามากเมื่อเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้ว

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo