Economics

‘เจ๊เกียว’ เซย์โน ยังไม่กล้าใช้บี 20 หวั่นเครื่องพัง

พลังงาน เดินหน้าช่วยลดสต็อกซีพีโอ ดึงใช้ในโรงไฟฟ้าบางปะกง ผลิตไฟฟ้าช่วง 5 เดือน ย้ำรัฐบาลชดเชยไม่กระทบค่าไฟฟ้าและผลการดำเนินงานของกฟผ. ด้านฮีโน่-อีซูซฺ พร้อมใช้บี 20 ขณะ “เจ๊เกียว” ยันไม่กล้าใช้บี 20 หวั่นเครื่องพังแม้ราคาถูกกว่าดีเซล 5 บาทต่อลิตร

ศิริ 5 พ.ย. 6

นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยถึงรายละเอียดมาตรการช่วยเหลือราคาปาล์มน้ำมันตกต่ำว่า มติคณะมนตรีล่าสุดได้อนุมัติให้มีการนำน้ำมันปาล์มดิบ (ซีพีโอ) มาใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้า

สำหรับการดำเนินงานในรายละเอียดนั้น ให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) รับซื้อน้ำมันปาล์มดิบจากพื้นที่แหล่งผลิตที่สำคัญ เช่น กระบี่ สุราษฎร์ธานี ชุมพร เป็นต้น ในปริมาณ 160,000 ตัน เพื่อนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงผลิตกระแสไฟฟ้าที่โรงไฟฟ้าบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา โดยกำหนดราคารับซื้อน้ำมันปาล์มดิบ 18 บาทต่อกิโลกรัม ณ ท่าเทียบเรือโรงไฟฟ้าบางปะกง ซึ่งจะร่วมกับกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ จัดหาจากเกษตรกรผู้ผลิตที่ลานเท และโรงสกัดที่ขึ้นทะเบียนกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อให้มั่นใจได้ว่าการช่วยเหลือครั้งนี้จะไปถึงเกษตรกรโดยตรง

การรับซื้อ จะเริ่มตั้งแต่เดือนธันวาคม 2561 เป็นต้นไป เพื่อใช้ในการผลิตไฟฟ้าระหว่างเดือนมกราคม – พฤษภาคม 2562 ซึ่งจะทำให้โรงไฟฟ้าแห่งนี้ใช้เชื้อเพลิงผสมระหว่างซีพีโอ และก๊าซธรรมชาติ สัดส่วนการผลิต 144 เมกะวัตต์ และ 136 เมกะวัตต์ตามลำดับ

“การเลือกใช้ซีพีโอที่โรงไฟฟ้าบางปะกง เพราะมีประสิทธิภาพสูงสุด จึงไม่ต้องปรับเปลี่ยนอุปกรณ์มากนัก ขณะเดียวกันบางปะกงก็มีท่าเรือที่สามารถขนส่งซีพีโอมาถึงโดยตรง ต้นทุนค่าขนส่งต่ำ ขณะที่หากนำไปใช้ที่โรงไฟฟ้าอื่น เช่น โรงไฟฟ้าราชบุรีต้องขนส่งด้วยรถบรรทุกระยะทางไกล จึงไม่เหมาะสมที่จะใช้”

bpk
โรงไฟฟ้าบางปะกง (ภาพ: กฟผ.)

นายศิริ กล่าวต่อว่า กฟผ.จะใช้เงินในการซื้อซีพีโอ จำนวน 2,880 ล้านบาท ซึ่งเป็นต้นทุนเชื้อเพลิงสูงกว่าค่าไฟฟ้า 1,354 ล้านบาท ส่วนต่างดังกล่าวจะได้รับชดเชยต้นทุนจากกระทรวงพาณิชย์ 525 ล้านบาท และอีก 829 ล้านบาท จะทำความตกลงกับกระทรวงการคลัง และสำนักงบประมาณ เพื่อให้เป็นรายจ่ายเพื่อสังคม (PSA) ของ กฟผ.จึงไม่ส่งผลกระทบต่อการรายได้ เงินเดือน และโบนัสพนักงาน รวมถึงไม่ส่งผลกระทบต่อค่าไฟฟ้า

สำหรับการใช้ซีพีโอผลิตไบโอดีเซลเป็นน้ำมันเชื้อเพลิงในภาคขนส่ง นายศิริ กล่าวว่าจากการที่กระทรวงพลังงานส่งเสริมการใช้บี 20 โดยให้ส่วนลดเพิ่มทำให้มีราคาถูกกว่าดีเซลปกติ 5 บาทต่อลิตรจากเดิม 3 บาทต่อลิตรในช่วง 3 เดือน ระหว่าง 1 ธันวาคม 2561 จนถึง 28 กุมภาพันธ์ 2562 ทำให้ผู้ประกอบการรายหลายให้ความสนใจหันมาใช้อย่างต่อเนื่อง

เมื่อเร็วๆนี้ ผู้ประกอบการรถบรรทุก ได้แก่ ฮีโน่ และอีซูซุได้เข้าพบ เพื่อแสดงความจำนงพร้อมใช้บี 20 ในส่วนของ ฮีโน่ ซึ่งเป็นผู้ประกอบการรายใหญ่ระบุว่ามีพร้อมใช้บี 20 ได้ถึง 1 แสนคัน คาดว่าจะทำให้ยอดการใช้บี 20 เพิ่มขึ้นเป็น 10 ล้านลิตรต่อวันในปีหน้า

ทั้งนี้ คาดว่ามาตรการต่างๆข้างต้นของกระทรวงพลังงาน จะช่วยดูดซับสต็อกน้ำมันปาล์มเพิ่มขึ้นได้ ประมาณ 400,000 ตันจากสต็อกที่มีอยู่ 420,000 -450,000 ตัน ถือว่าเป็นการแก้ปัญหาสต็อกน้ำมันปาล์มส่วนเกินได้อย่างดี ทำให้ราคาผลปาล์มเพิ่มขึ้นจาก 3 บาทต่อกิโลกรัมเป็น 3.20 บาทต่อกิโลกรัม

อย่างไรก็ตาม ต้องขอให้ชาวสวนปาล์มหยุดการเพิ่มผลผลิตในช่วงนี้ เนื่องจากสภาพโดยรวมของตลาดน้ำมันปาล์ม ยังมีปัจจัยกดดันจากการที่สหภาพยุโรป มีข้อกำหนดห้ามไม่ให้มีการใช้น้ำมันปาล์มในส่วนของอาหาร และเชื้อเพลิง จึงยังไม่ควรเพิ่มผลผลิตปาล์มทะลายในช่วงนี้

พิษดีเซลพุ่ง 'เจ๊เกียว' ร้องขึ้นค่าโดยสาร10สต./กม.
นางสุจินดา เชิดชัย

วันเดียวกันนี้กรมธุรกิจพลังงานได้เรียกผู้ประกอบการขนส่งเอกชนมาหารือ และชี้แจงว่ารถประเภทใดที่สามารถใช้บี 20 ได้ และจะต้องปรับเปลี่ยนเครื่องยนต์อย่างไร เพื่อโปรโมทการใช้บี 20 ในระยะยาว พร้อมให้รับทราบเกี่ยวกับการให้ส่วนลดราคา 5 บาทต่อลิตรในช่วง 3 เดือนตั้งแต่ 1 ธันวาคม 2561- 28 กุมภาพันธ์ 2562

นางสุจินดา เชิดชัย หรือเจ๊เกียว นายกสมาคมผู้ประกอบการรถโดยสารขนส่ง (รถร่วม บขส.) ได้เข้าร่วมประชุมด้วย และระบุว่ายังไม่กล้าใช้บี 20 เพราะกลัวเครื่องยนต์พัง เพราะรถที่ตนเองมีอยู่กว่า 1,000 คันราคา 7-8 ล้านบาท หากเครื่องยนต์มีปัญหาเกรงว่าจะไม่คุ้ม แม้จะให้ส่วนลดถึง 5 บาทต่อลิตรก็ตาม

Avatar photo