Economics

เคลียร์คนพลังงานนั่ง 14 ตำแหน่งกรรมการรัฐวิสาหกิจ

หนึ่งในแนวทางสร้างธรรมาภิบาลและความโปร่งใสในการดำเนินงานของกระทรวงพลังงานเวลานี้ คงต้องโฟกัสไปที่การเคลียร์ข้าราชการที่นั่งเป็นกรรมการรัฐวิสาหกิจ และบริษัทลูกในกิจการพลังงานใหม่ โดยอยู่ระหว่างการจัดทำหลักจริยธรรม ( Code of Conduct ) เพื่อเป็นคู่มือในการพิจารณาของผู้บริหารกระทรวงพลังงานในการนั่งเป็นคณะกรรมการบริหารของรัฐวิสาหกิจ และบริษัทลูก ทั้งของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)  เพื่อไม่ให้เกิดการขัดแย้งทางผลประโยชน์

กุลิศ 2 1
กุลิศ สมบัติศิริ

เนื่องจากพบว่า มีผู้บริหารของกระทรวงพลังงานหลายคน นั่งหลายบริษัท และแม้จะเกษียณอายุราชการไประยะหนึ่งแล้ว ยังคงนั่งเป็นกรรมการ แตกต่างจากกระทรวงการคลังที่มีธรรมเนียมปฏิบัติ หลังจากเกษียณจะลาออกจากกรรมการ แม้ระเบียบปัจจุบันจะมีข้อยกเว้นให้เป็นกรรมการหลังเกษียณได้ก็ตาม

อย่างไรก็ตามแว่วมาว่า ขณะนี้กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างการร่างและเวียนระเบียบใหม่ไปยังหน่วยงานราชการต่างๆ เพื่อสร้างธรรมาภิบาล เบื้องต้นจะกำหนดให้ข้าราชการที่เกษียณอายุราชการต้องลาออกจากการเป็นกรรมการบริษัท

สำหรับแนวทางที่นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน อยู่ระหว่างการวางปฏิบัติให้ชัดเจน เช่น หน่วยงานที่กำกับดูแลกิจการน้ำมัน จะต้องไม่นั่งเป็นคณะกรรมการในรัฐวิสหกิจ และบริษัทลูกที่ดำเนินกิจการเกี่ยวกับน้ำมันไม่ว่ากรณีใดๆ เช่น กรมธุรกิจพลังงานจะต้องไม่เข้าไปนั่งเป็นกรรมการในบริษัทปตท.จำกัด (มหาชน) หรือ บริษัทบางจากคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เป็นต้น แต่สามารถนั่งเป็นกรรมการในกิจการไฟฟ้าได้

ข้าราชการ 4

อย่างไรก็ตามมีอีกตำแหน่งที่ทั้งคนในและคนนอกฝากไว้ให้ช่วยพิจารณาอย่างรอบคอบ นัั้นก็คือ ตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.)

แม้แนวทางของปลัดกระทรวงพลังงาน จะเห็นว่าสามารถนั่งเป็นกรรมการในบริษัทปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือปตท.สผ.ได้ก็ตาม แต่ก็มีเสียงติติงว่า แม้จะไม่เกี่ยวข้องกับกิจการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม แต่ในความเป็นจริงแล้ว มีหลายกรณีที่ผู้อำนวยการสนพ.ซึ่งนั่งเป็นกรรมการ ต้องเดินออกจากห้องประชุม เพราะมีการพิจารณาบางประเด็นที่เกี่ยวข้องหลายครั้งหลายหน ตำแหน่งนี้ก็ควรต้องศึกษาในรายละเอียด เพื่อสร้างธรรมภิบาลให้ปรากฏ

ขณะที่ผู้ตรวจราชการกระทรวงพลังงานแม้จะนั่งได้ทุกกิจการ ทั้งน้ำมัน และไฟฟ้า แต่ก็ต้องพิจารณาด้วยว่าผู้ตรวจราชการท่านนั้นกำกับดูแลหน่วยงานใด ก็ต้องไม่นั่งเป็นกรรมการในรัฐวิสาหกิจ หรือบริษัทลูกที่เกี่ยวข้องด้วยเช่นกัน

จากการค้นหาในเว็บไซต์ของรัฐวิสาหกิจ และบริษัทลูกหลักๆ ในสังกัดกระทรวงพลังงาน พบว่าจนถึงปัจจุบันมีผู้บริหารกระทรวงพลังงานทั้งที่ยังอยู่ในราชการ และที่เกษียณอายุราชการไปแล้ว นั่งเป็นกรรมการในรัฐวิสาหกิจและบริษัทลูก ดังนี้

  1. นายธรรมยศ ศรีช่วย อดีตปลัดกระทรวงพลังงาน เป็น กรรมการ บริษัทปตท.จำกัด (มหาชน) 
  2. นายประพนธ์ วงษ์ท่าเรือ ผู้ตรวจราชการกระทรวงพลังงาน เป็นกรรมการ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน)
  3. นายยงยุทธ์ จันทรโรทัย  อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทน และอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) เป็นกรรมการ บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน)
  4. นายสมนึก บำรุงสาลี อดีตรองปลัดกระทรวงพลังงาน เป็นกรรมการ บริษัทไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน)
  5. นายทวารัฐ สูตะบุตร ผู้ตรวจราชการ เป็นกรรมการ บริษัท ปตท .สำรวจ และผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน)
  6. นายคุรุจิต นาครทรรพ ผู้อำนวยสถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย เป็นกรรมการ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จํากัด (มหาชน) หรือ จีพีเอสซี
  7. นายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ ผู้ตรวจราชการกระทรวงพลังงาน เป็นกรรมการ บริษัท บางจากคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)
  8. นายวิฑูรย์ กุลเจริญวิรัตน์ อดีตอธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน เป็นประธานกรรมการ กฟผ.
  9. นายวิฑูรย์ กุลเจริญวิรัตน์ เป็นประธานกรรมการ บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด(มหาชน) หรือ เอ็กโก กรุ๊ป
  10. นายวิศักดิ์ วัฒนศัพท์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงพลังงาน เป็นกรรมการ เอ็กโก กรุ๊ป
  11. นายสุชาลี สุมามาล์ อดีตผู้ตรวจราชการกระทรวงพลังงาน เป็นกรรมการ บริษัทผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน)
  12. นายวีระศักดิ์ พึ่งรัศมี อดีตอธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เป็นกรรมการ บริษัทผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน)
  13. นางเปรมฤทัย วินัยแพทย์ อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เป็นกรรมการ บริษัทผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน)
  14. นายสมบูรณ์ หน่อแก้ว รองอธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน เป็นกรรมการ บริษัทผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน)

ข้าราชการ 3

โดยจะพบว่ามีข้าราชการเกษียณอายุนั่งเป็นกรรมการบริษัท 5 คน และ มีบางท่านเป็นกรรมการหลายบริษัท นอกจากนี้ในหนึ่งบริษัทยังมีคนจากกระทรวงพลังงานนั่งเป็นกรรมการกันหลายคน เช่น บริษัทผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้งที่มีถึง 4 คน

นายกุลิศ ปลัดกระทรวงพลังงาน ได้กล่าวในเรื่องนี้ไว้ว่า สำหรับ Code of Conduct  หรือ หลักธรรม ก็เพื่อรองรับการทำงานที่โปร่งใส และมีธรรมาภิบาล โดยหลักจะต้องแยกการทำหน้าที่กำหนดนโยบาย การบริหาร และการปฏิบัติออกจากกัน เพื่อให้ทับซ้อนให้น้อยที่สุด  และทำเป็นคู่มือให้ผู้บริหารระดับสูงใช้ในการพิจารณาการเข้าไปนั่งเป็นกรรมการในรัฐวิสาหกิจและบริษัทในเครือ ทั้ง บริษัทปตท. บริษัทลูกทั้งหมด และกฟผ. และบริษัทที่กฟผ.ถือหุ้น โดยหลักจะต้องเป็นผู้มีความรู้ความสามารถ (Skill Matrix)และ 1 ท่านไม่ควรเป็นเกิน 1 บริษัท

นอกจากนายกุลิศ จะต้องการสร้างความโปร่งใสในการนั่งเป็นกรรมการรัฐวิสาหกิจของข้าราชการกระทรวงพลังงานแล้ว ยังมีอีกหลายเรื่องที่เขา คงต้องทำควบคู่กันไป นั่นก็คือ การเกลี่ยภารกิจหน้าที่ในกระทรวงพลังงานให้ทุกคนมีงานในมือตามความรู้เชี่ยวชาญ และประสบการณ์  เพราะงานกระจุกตัว  หลังจากมีตำแหน่งว่างหลายตำแหน่งที่ยังไม่มีทีท่าจะมีการแต่งตั้งจนถึงปัจจุบัน แม้จะผ่านมาหลายเดือน ประกอบด้วย ตำแหน่งรองปลัดกระทรวง 2 ตำแหน่ง และผู้อำนวยการสนพ. 1 ตำแหน่ง

ขณะที่ผู้ตรวจราชการที่มีถึง 6 คน ไม่ได้ถูกมอบหมายงานอย่างชัดเจน สมกับที่เป็นตำแหน่ง “แขวน” ทำให้หลายคนแทบไม่มีภารกิจในมือตามความรู้ความชำนาญ งานหลายอย่างของกระทรวงพลังงาน จึงไม่ก้าวหน้า แต่ “แขวน”  เพราะเหตุใดก็ตาม  หากทำผิดก็ต้องว่าไปตามกระบวนการอย่างชัดเจน แต่หากไม่ไม่ถูกชะตา ต้องคำนึงด้วยว่า ชาวประชาคนนอกไม่ได้รู้ด้วย คาดหวังแต่ว่า “อยากเห็นข้าราชการทำงานเต็มความรู้ความสามารถ” สมกับประสบการณ์ และสมกับที่กินเงินภาษีประชาชน และนี่ก็คือหนึ่งในความโปร่งใสอย่างหนึ่งที่ ประชาชนอยากจะได้เห็น 

 

 

Avatar photo