Economics

กกร. หั่นคาดการณ์เศรษฐกิจไทยปีนี้เหลือขยายตัว 0-1.5% จากเดิมคาดโต 0.5-2%

ที่ประชุม กกร. มีมติปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจปีนี้ เหลือขยายตัวได้ในกรอบ 0.0- 1.5% หลังโควิดระลอกใหม่รุนแรงและยาวนานขึ้น “สุพันธุ์” จี้รัฐหาวัคซีนให้มากที่สุด เร็วที่สุด

นายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน3 สถาบัน ( กกร.) แถลงผลการประชุมกกร.ประจำเดือนกรกฎาคม 2564 ว่า ที่ประชุม กกร. มีมติปรับลดประมาณการเศรษฐกิจปีนี้ เหลือขยายตัวได้ในกรอบ 0.0-1.5% จากเดิมที่เดือนมิถุนายน ประมาณการขยายตัวในกรอบ 0.5-2.0 %

เนื่องจากการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่รุนแรงและยาวนานขึ้นกว่าที่ประเมินไว้ก่อนหน้า โดยเฉพาะสายพันธุ์เดลต้า ทำให้ต้องใช้มาตรการที่เข้มงวดในการควบคุมการระบาด ส่งผลกระทบโดยตรงต่อการดำเนินธุรกิจ การจ้างงานและรายได้แรงงาน ในพื้นที่ควบคุม

เศรษฐกิจปีนี้

นอกจากนี้ มาตรการจำกัดการเดินทางและข้อจำกัดในการกักตัว คาดว่ายังส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวในประเทศตลอดช่วงไตรมาสที่สาม และอาจจะกระทบแผนการเปิดประเทศได้ แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโควิด-19 และมาตรการเพิ่มเติมของรัฐ

ด้านการส่งออก คาดว่าจะขยายตัว 8-10% เพิ่มขึ้นจากประมาณการเดิม 3% เนื่องจากเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวดีกว่าคาด ภายใต้เงื่อนไขสามารถควบคุมการระบาดในกลุ่มแรงงานภาคอุตสาหกรรมได้ และการฉีดวัคซีนให้แรงงานภายใต้ ม.33 ได้ทั่วถึง ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะอยู่ในกรอบ 1-1.2%

อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยยังต้องการแรงสนับสนุนจากทั้งนโยบายการเงินและการคลังเพิ่มเติม เพื่อพยุงกิจกรรมทางเศรษฐกิจในระยะข้างหน้าและสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้ประกอบการ โดยเศรษฐกิจไทยยังเผชิญความเสี่ยงค่อนข้างมากจากการระบาดระลอกใหม่ที่รวดเร็วและรุนแรง กระทบต่ออุปสงค์ในประเทศ แม้ว่าเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวชัดเจนขึ้นต่อเนื่องจะส่งผลดีต่อแนวโน้มส่งออกของไทยในระยะต่อไป นอกจากนี้ ที่ประชุมกกร.ได้เสนอ 4 มาตรการ ประกอบด้วย

เศรษฐกิจปีนี้

ด้านนายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธาน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ในสถานการณ์ขณะนี้หากมีการกระจายวัคซีนไปฉีดให้ประชาชนได้มากที่สุด จะช่วยให้วิกฤตโควิด-19 คลี่คลาย ซึ่งจะส่งผลดีต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ ดังนั้น จึงไม่ควรมีข้อจำกัดเรื่องการจัดหาวัคซีน โดยไม่ควรกำหนดว่าวัคซีนตัวใดเป็นวัคซีนตัวหลัก วัคซีนตัวใดเป็นวัคซีนทางเลือก แต่ทุก ฝ่ายควรจะช่วยกันจัดหาวัคซีนมาใช้งานให้ได้มากที่สุด และเร็วที่สุด

ส่วนกรณีที่อาจมีการยกระดับมาตรการควบคุม หากวิกฤตโควิด-19 ยังไม่คลี่คลายด้วยการล็อคดาวน์นั้น นายสุพันธุ์ กล่าวว่า ควรพิจารณากำหนดจุด และมาตรการเยียวยาให้ชัดเจน เช่น หากจะปิดแคมป์ก่อสร้าง ก็ควรเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการนำ เสนอแนวทางแก้ไข หากไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ จึงค่อยมีคำสั่งล็อกดาวน์ ซึ่งคิดว่าภาคเอกชนพร้อมที่จะให้ความร่วมมือ และเป็น เรื่องที่ติดตามดูอย่างใกล้ชิด

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo