Economics

ปตท.โว!! 9 เดือนส่งเงินเข้ารัฐพุ่ง 5.6 หมื่นล้าน

การนำส่งรายได้แก่รัฐ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของงบประมาณในการพัฒนาประเทศ ทั้งในรูปของเงินปันผลและภาษีเงินได้ ถือเป็นความรับผิดชอบทางสังคมอย่างสำคัญขององค์กรพลังงานชาติอย่างปตท. ภายใต้บทบาทการเป็นทั้งรัฐวิสาหกิจภายใต้การกำกับของกระทรวงพลังงาน อีกทั้งเป็นบริษัทมหาชนภายใต้กฎหมายมหาชนและ พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยตั้งแต่หลังแปรรูปเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯปี 2544 – 2561 ซีอีโอปตท.ออกมาระบุว่าได้นำส่งรัฐแล้วรวมกว่า 8.4 แสนล้านบาท

ชาญศิลป์ ตรีนุชกร

ปี 2561 เป็นอีกปีที่ปตท.เงินส่งรัฐอย่างเป็นกอบเป็นกำ เฉพาะ 9 เดือนแรกของปีนี้รวมประมาณ 56,000 ล้านบาท ใน 2 รูปแบบ คือ 1.เงินปันผล และ2.ภาษี นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) แจกแจงว่า  ในส่วนที่ 1. ปตท. สามารถนำกำไรส่งรัฐในรูปแบบเงินปันผล รวมทั้งสิ้น 14,460 ล้านบาท ส่วนที่ 2.นำส่งภาษีแก่รัฐรวมประมาณ 41,500 ล้านบาท

ทั้งนี้การนำกำไรส่งรัฐในรูปเงินปันผล มาจากการที่กระทรวงการคลังถือหุ้นปตท.ทางตรงประมาณ 14,599 ล้านหุ้น หรือ 51.11 % ซึ่งจะได้รับเงินปันผลจำนวนประมาณ 11,680 ล้านบาท และการถือหุ้นทางอ้อมผ่านกองทุนวายุภักษ์ 1 โดย บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน เอ็มเอฟซี และ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนกรุงไทย อีกประมาณ 3,472 ล้านหุ้น หรือ 12.16 % ได้รับเงินปันผลประมาณ 2,780 ล้านบาท

ส่วนการนำกำไรส่งรัฐในส่วนภาษีนั้น อยู่ในรูปแบบของภาษีเงินได้นิติบุคคล จำนวนประมาณ 28,200 ล้านบาท เมื่อนำไปรวมกับภาษีเงินได้นิติบุคคลของบริษัทในกลุ่มประมาณ 13,300 ล้านบาท ทำให้กลุ่ม ปตท. นำส่งภาษีเงินได้นิติบุคคลแก่รัฐรวมประมาณ 41,500 ล้านบาท

ปตท.

“การนำเงินส่งรัฐของปตท.ในสัดส่วนสูงดังกล่าว เกิดจากความมุ่งมั่น ทุ่มเท เพื่อสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศมาตลอดการดำเนินงานกว่า 40 ปีของปตท. ซึ่งการนำเงินส่งรัฐ ทั้งในรูปแบบของเงินรายได้และภาษีต่างๆก็จะช่วยเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมพัฒนาเศรษฐกิจ ดูแลสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม” 

นายชาญศิลป์  ย้ำว่า การดำเนินภารกิจของปตท.ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันและต่อเนื่องไปในอนาคตจะยึดมั่นการบริหารจัดการความยั่งยืน 3 ด้าน (3P) อย่างสมดุล ทั้งการทำธุรกิจควบคู่กับการดูแลชุมชนและสังคม (People) การอนุรักษ์รักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (Planet) และเป็นฐานความมั่นคงให้แก่ภาคเศรษฐกิจและสังคมเติบโตอย่างแข็งแรงและยั่งยืน (Prosperity)

และจะทำงานอย่างโปร่งใส ตรวจสอบได้ ภายใต้หลักธรรมาภิบาล ซึ่งที่ผ่านมามีการจัดโครงสร้างที่ชัดเจนในการกำกับดูแล การบริหารความเสี่ยง และการกำกับการปฏิบัติตามกฎหมาย (Governance, Risk and Compliance: GRC) เพื่อการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน

Avatar photo