Economics

เทียบฟอร์ม ‘บีทีเอส VS ซีพี’ ชิงไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบิน

ผ่านไปแล้วสำหรับการยื่นซองประมูล โครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง (High-Speed Train) เชื่อม 3 สนามบิน ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา และการลงทุนที่เกี่ยวข้อง วงเงิน 224,544.36 ล้านบาท ซึ่งปิดฉากอย่างเป็นทางการไปเมื่อเวลา 15.00 น. ของวันที่ 12 พฤศจิกายน 2561

อีอีซี รถไฟความเร็วสูง ญี่ปุ่น

จากผู้ซื้อซองประมูล (TOR) ทั้งหมด 31 ราย ท้ายที่สุดก็เหลือผู้ยื่นข้อเสนอเพียง 2 กลุ่มตามคาด คือ “กลุ่มบีทีเอส VS กลุ่มซีพี”

1. กิจการร่วมค้า บีเอสอาร์ (BSR Joint Venture) ที่มีบริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS เป็นแกนนำ ถือหุ้นใหญ่ในสัดส่วน 60%, บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STEC ถือหุ้น 20% และ บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ RATCH ถือหุ้น 20%

2. กิจการร่วมค้า บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร ที่มีบริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด (CP) เป็นแกนนำ ถือหุ้นใหญ่ในสัดส่วน 70%, บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) หรือ CK และบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ถือหุ้นรวมกัน 15%, China Railway Construction Corporation Limited (CRCC) จากสาธารณรัฐประชาชนจีน ถือหุ้น 10%, บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD ถือหุ้น 5%

“บิ๊กบีเอสอาร์” รวมพลัง แสดงความมั่นใจเต็มร้อย!

การยื่นซองครั้งนี้ เจ้าหน้าที่กลุ่ม BSR ได้ลงทะเบียนยื่นเอกสารไม่ปิดผนึก  ที่ทำการสำนักงานบริหารโครงการระบบรถไฟฟ้า (มักกะสัน) ซึ่งเป็นสถานที่ยื่นเอกสารเป็นรายแรก ในเวลา 11.11 น. จากนั้นช่วงบ่าย เวลา 14.38 น. ผู้บริหารกลุ่ม BSR ได้ตบเท้ามาแสดงพลังหน้าห้องยื่นซองประมูลด้วยตัวเอง

thumbnail IMG 3921b

“บิ๊กบอส” ที่เดินทางมาประกอบด้วย “สุรพงษ์ เลาหะอัญญา-กวิน กาญจนพาสน์” จากเครือ BTS “ภาคภูมิ ศรีชำนิ”ผู้บริหารเบอร์หนึ่งจาก STEC และตัวแทนจาก RATCH

“สุรพงษ์ เลาหะอัญญา” กล่าวว่าต้องการมายื่นข้อเสนอซองที่ 1-4 ด้วยตัวเอง  จากนั้นกลุ่ม BSR ได้ใช้รถหกล้อ 1 คันและรถตู้อีก 1 คัน ขนเอกสารจำนวนมากส่งยังสถานที่ยื่นซองประมูล พร้อมใช้รถกระบะอีก 1 คัน ขนส่งโมเดลการพัฒนามา ก่อนเดินทางมาก็ได้สักการะพระพรหมหน้าสำนักงานใหญ่ BTS เพื่อความเป็นศิริมงคล ส่วนความมั่นใจพกมาเต็ม 100 เพราะถ้าไม่มั่นใจ คงไม่มา

thumbnail IMG 3897 555

“เราก็ทำงานมาอย่างหนักตลอด 4-5 เดือนที่ผ่านมา ทำเต็มที่จนถึงวันนี้ เราคิดว่าเราทำทุกอย่างพร้อม แล้วก็ใช้มืออาชีพระดับโลก  ผู้รับเหมาก็ใช้ผู้รับเหมาแถวหน้าของประเทศ หรือวันหลังเราได้โครงการ เราก็ต้องเปิดตัวพันธมิตรที่มาร่วมสนับสนุน ล้วนแต่เป็นบริษัทชั้นนำทั้งนั้น  มั่นใจว่าโครงการนี้จะสามารถทำได้สำเร็จ” สุรพงษ์ เลาหะอัญญา จากเครือ BTS กล่าวหลังเข้ายื่นซองประมูล

“เจ้าสัวน้อย” นำทัพ CP ยื่นประมูล

thumbnail IMG 3962 888

ขณะที่กลุ่ม CP มี “ศุภชัย เจียรวนนท์” ประธานคณะผู้บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์ เป็นแม่ทัพในการประมูลครั้งนี้  พร้อมนำทีมผู้บริหาร เดินทางไปสักการะพระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ณ พระลานหน้าพระที่นั่งอนันตสมาคม เพื่อน้อมรำลึกพระมหากรุณาธิคุณ ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้ก่อตั้งกรมการรถไฟและพัฒนาเป็นการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ในปัจจุบัน

จากนั้น เวลา 14.03 น. “ศุภชัย” ได้นำทัพกลุ่ม CP และพันธมิตร ลงทะเบียนยื่นซองประมูล โดยมีรถบรรทุกตู้ทึบ 1 คัน และรถปิคอัพตู้ปิดทึบอีก 1 คัน ขนส่งเอกสารและโมเดลการพัฒนามายังสถานที่ยื่นซองประมูล

thumbnail IMG 3955 777

“การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเป็นการลงทุนที่ได้ผลตอบแทนที่ไม่สูง แต่ถ้ามองในระยะยาวจริงๆ โครงสร้างพื้นฐานก็มักจะมีความมั่นคงต่อเนื่อง อีกทั้งเป็นโครงการรัฐเอกชนร่วมลงทุน (PPP) ด้วยการสนับสนุนจากภาครัฐและนโยบายที่เป็นภาพรวม ถ้าเกิดอู่ตะเภาก็ดี อีอีซี เกิดการเชื่อมโยงของสายที่ไปทางอีสาน หนองคายขึ้นมา  คิดว่าอีอีซีจะเป็นตัวผลักดันให้โครงการรถไฟก็มีความมั่นคงไปด้วย เราก็มีความมั่นใจต่อนโยบายภาครัฐและอยากแสดงการสนับสนุนในฐานะที่เป็นบริษัทไทย”ศุภชัย เจียรวนนท์ ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนหลังจากเดินทางมายื่นซองประมูล

“บีทีเอส” อุบไต๋แผนธุรกิจ เชื่อทีเด็ดอยู่ในซอง 4

สำหรับกิจการร่วมค้า  BSR  นับเป็นการรวมตัวของ“เอกชนชั้นนำในประเทศไทยจาก 3 อุตสาหกรรม” เริ่มจากหัวเรือใหญ่อย่าง BTS ที่เป็นบริษัทขนส่งมวลชนอันดับต้นๆ ของประเทศไทย ภายใต้การนำของ“คีรี กาญจนพาสน์” มหาเศรษฐีอันดับ 23 ของประเทศไทย ด้วยมูลค่าทรัพย์สิน 1.65 พันล้านดอลลาร์ ตามการจัดอันดับของนิตยสารฟอร์บในปี 2561

BTS vs CP สู้ศึกไฮสปีด2 01

BTS มีนโยบายการจะใช้โครงการระบบขนส่งมวลชนเป็นแกนกลาง แล้วขยายการลงทุนไปยังธุรกิจที่เกี่ยวข้อง ดังนั้น BTS จึงได้ลงทุนในธุรกิจสื่อโฆษณาทั้งบนรถไฟฟ้าและแพลตฟอร์มอื่นๆ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์หลายแห่งทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉพาะการร่วมทุนระหว่าง BTS และบริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) หรือ SIRI เพื่อพัฒนาคอนโดมิเนียมตามแนวรถไฟฟ้า รวมถึงมีธุรกิจบริการต่างๆ อยู่ในมือ

ด้าน STEC มีโปรไฟล์เป็นผู้รับเหมาอันดับ 3 ของประเทศไทย (เป็นรองแค่ ITD และ CK ที่จับมือกับกลุ่ม CP) ส่วน RATCH ก็เป็นเบอร์ต้นๆ ในธุรกิจผลิตไฟฟ้าในประเทศไทยและมีฐานะทางการเงินที่มั่นคง

“เรามีพาร์ทเนอร์เป็นผู้รับเหมาก่อสร้างอันดับต้นๆ ของประเทศ ก็น่าจะสามารถทำงานนี้ได้สำเร็จ แล้วเราก็มีประสบการณ์ในการเดินรถมาแล้วถึง 19 ปีแล้ว แม้ว่าโครงการนี้จะเป็นรถไฟความเร็วสูงก็ตาม แต่โดยหลักการก็ไม่ได้ต่างกันเท่าไหร่ เราก็มั่นใจว่าเราน่าจะเป็นผู้เดินรถได้อย่างดี”

การรวมตัวกันระหว่าง BTS-STEC-RATCH ในนามกลุ่ม BSR ในช่วงก่อนหน้านี้ ประสบความสำเร็จอย่างล้นหลาม กลุ่ม BSR สามารถคว้าสัมปทาน รถไฟฟ้าสายสีชมพู แคราย-มีนบุรี และรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ลาดพร้าว-สำโรง อายุ 33 ปี วงเงินลงทุน 1 แสนล้านบาท มาครอบครองในปี 2560

BEM ซึ่งเป็นคู่ท้าชิงรถไฟฟ้าสายสีชมพูและสายสีเหลืองขณะนั้น ก็ยอมรับความพ่ายแพ้แต่โดยดี “วิธีการดูโมเดลธุริจของเราอาจสู้อีกกลุ่มไม่ได้ เช่น อีกกลุ่มอาจจะเสนอต่อสายสีชมพูไปถึงเมืองทองธานี ซึ่งเป็นโครงการเสริมที่ทำให้มีรายได้มากขึ้นและต้นทุนลดลง หรือเสนอต่อสายสีเหลือง มาถึงแยกรัชโยธินซึ่งเสริมให้มีรายได้มากขึ้น ตรงนั้นทำให้โมเดลธุรกิจดีขึ้น “ ปลิว ตรีวิศวเวทย์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กล่าวไว้ในเดือนธันวาคม 2559 หลังทราบว่า BTS ชนะการประมูล

การประมูลรถไฟความเร็วสูงรอบนี้ กลุ่ม BSR ยังฟอร์มทีมกันเหนียวแน่น พร้อมยื่นข้อเสนอซองที่ 4 หรือข้อเสนอพิเศษในการเพิ่มประสิทธิภาพโครงการ โดยข้อเสนอดังกล่าวอยู่ในซองสีน้ำตาลเล็กๆ เพียงซองเดียว แต่นี่อาจจะเป็น“ทีเด็ด” ของโมเดลธุรกิจกลุ่ม BSR ในการประมูลรอบนี้

thumbnail IMG 3944 33

ด้านรายละเอียดของข้อเสนอพิเศษก็มีการคาดเดาไปต่างๆ นานา เช่น BSR อาจขอขยายเส้นทางไปจนถึงตัวเมือง จังหวัดระยอง แต่กลุ่ม BSR ยังไม่ปฏิเสธที่ให้รายละเอียด รวมถึงยังอุบไต๋พาร์ทเนอร์ด้านอื่นๆ เช่น ด้านระบบอาณัติสัญญาณ ขบวนรถ  ที่ไม่มีการแพร่งพรายรายชื่อแต่อย่างใด

“ซีพี” อวดพันธมิตรนานาชาติ

ด้านคู่แข่งอย่าง กลุ่ม CP และพันธมิตรก็มีโปรไฟล์ยิ่งใหญ่ไม่แพ้กัน สำหรับเครือ CP ที่เป็นแกนนำ เป็นธุรกิจของตระกูลเจียรวนนท์ มหาเศรษฐีอันดับ 1 ของประเทศไทย ด้วยมูลค่าทรัพย์สิน 30,000 ล้านดอลลาร์

แม้จะไม่มีประสบการณ์ด้านระบบขนส่งมวลชนโดยตรง แต่ CP ก็ศึกษาและต้องการจะเข้ามาลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูงตั้งแต่หลายปีก่อน โดยช่วงต้นปี 2558 กลุ่ม CP และกลุ่มบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) แสดงความสนใจจะลงทุนรถไฟความเร็วสูง 2 เส้นทาง CP ขอฝั่งตะวันออก เส้นทางกรุงเทพฯ-ระยอง และไทยเบฟขอสายใต้ ช่วงกรุงเทพฯ-หัวหิน

นอกจากนี้ เชื่อว่า CP ย่อมมีโมเดลการลงทุนที่ไม่ธรรมดา เพราะสามารถกวาดพันธมิตรระดับท็อป ๆ จากในและต่างประเทศได้ครบทุกด้าน สำหรับผู้ถือหุ้นหลัก CP ได้จับคู่กับ ITD  และ  CK  ซึ่งเป็นผู้รับเหมาอันดับ 1 และอันดับ 2 ของประเทศไทยตามลำดับ ขณะเดียวกัน ก็ได้ BEM ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ CK  ที่มีประสบการณ์เดินรถไฟฟ้า 2 สายในกรุงเทพฯ มาร่วมด้วย

แต่ทีเด็ดน่าจะอยู่ที่สายสัมพันธ์กับฝั่งจีน ที่สามารถคว้าตัว” CRCC “ผู้ยิ่งใหญ่ในอุตสาหกรรมระบบรางของประเทศจีนและในระดับโลก ให้มาเป็นผู้ถือหลักในการประมูล โดย ” CRCC “ ดำเนินธุรกิจก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ในประเทศจีนและนานาชาติ รวมถึงโครงการก่อสร้างเส้นทางรถไฟความเร็วสูงนอกจากนี้ยังทำธุรกิจสำรวจ ออกแบบ และที่ปรึกษา, ผลิตอุปกรณ์, อสังหาริมทรัพย์ และธุรกิจด้านอื่นๆ ด้วย

” CRCC “  ถือว่ามีศักยภาพมหาศาลในการผลักดันโครงการรถไฟความเร็วสูง เชื่อมสามสนามบินให้เกิดขึ้นจริง ปัจจุบันจีนก็เป็นประเทศที่มีเส้นทางรถไฟความเร็วสูงยาวที่สุดในโลก ระยะทางมากกว่า 20,000 กิโลเมตร  จีนสามารถผลิตชิ้นส่วนและอุปกรณ์ที่ใช้ก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงเกือบทั้งหมดภายในประเทศ ด้วยต้นทุนต่ำ

87 2

สำหรับการพัฒนาพื้นที่มักกะสันในเชิงพาณิชย์ แม้จะไม่ได้เปิดเผยรายละเอียด  แต่ “เจ้าสัวน้อย” ระบุว่าจะพัฒนาให้เต็มศักยภาพของพื้นที่ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด แต่อย่าลืมว่า CP ก็มีธุรกิจเกี่ยวเนื่องอื่นๆ ค่อนข้างครบวงจรและสามารถพัฒนาร่วมกับธุรกิจรถไฟความเร็วสูง เช่น อสังหาริมทรัพย์ ค้าปลีก อาหาร โทรคมนาคม ยานยนต์

แต่สิ่งที่CP เผยรายละเอียดออกมาก่อน คือข้อเสนอพิเศษซองที่ 4 ซึ่งไม่เกี่ยวกับราคา หรือผลแพ้ชนะของการประมูล แต่กลับเป็นแนวคิดในการตอบแทนสังคม (CSR) ที่ชวนให้เคลิบเคลิ้มอยู่ไม่น้อย

“ผมเรียนว่าในซอง 4 ก็มีแนวคิดว่าเราอยากทำงานกับชุมชน แล้วก็พัฒนาเรื่องความยั่งยืน การที่เกิดรถไฟที่เป็นโครงสร้างพื้นฐาน ตามหลักทั่วโลก คือทำให้เกิดการ กระจายความเจริญ แล้วก็นำไปสู่การพัฒนาท้องที่ในแต่ละท้องที่ อันนี้เป็นแผนที่เราจะทำคู่ขนานเรื่องการพัฒนาท้องที่และความยั่งยืน อันที่ 2 ที่ตั้งใจไว้ คือประชาชนที่เป็นผู้พิการ ถ้าเราได้ทำโครงการนี้ เราก็จะให้ผู้พิการได้ใช้โครงการนี้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย อันนี้เป็นหลักใหญ่ที่เราอยากจะเห็นว่ารถไฟ ช่วยพัฒนาชุมชนและช่วยอำนวยความสะดวกจริงๆ” ศุภชัย ย้ำ 

กลางเดือนธ.ค.รู้ผลแพ้-ชนะ

หลังจากยื่นซองเสร็จในบ่ายวันที่ 12 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ต่อจากนี้การรถไฟฯ จะทยอยเปิดซองข้อเสนอ ถ้าไม่มีใครแพ้ฟาวล์ไปในซองที่ 1 ด้านคุณสมบัติ  ข้อที่ 2 ด้านเทคนิค การรถไฟฯ คาดว่าจะเปิดซองที่ 3 ด้านราคา  จะเป็นตัวตัดสินได้ระหว่างวันที่ 12-17 ธันวาคม 2561 หมายความว่าเราจะได้รู้รายชื่อผู้ชนะ กลางเดือนหน้าและจะส่งรายชื่อให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบภายในเดือนมกราคม 2562

รางวัลที่ผู้ชนะการประมูลจะได้รับ คือ สัมปทานอายุ 50 ปี ในการก่อสร้างและบริหารรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา, สิทธิ์ในการบริหารโครงการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์, สิทธิ์ในการพัฒนาที่ดินมักกะสันและสถานีศรีราชารวม  175 ไร่

แต่ไฮไลท์ที่ดึงดูดนักลงทุน คงหนีไม่พ้นการพัฒนาที่ดินมักกะสันขนาด 150 ไร่  เป็นที่ดินแปลงใหญ่ผืนสุดท้ายที่หลงเหลืออยู่ในใจกลางกรุงเทพ ฯ

Avatar photo