Economics

โควิดรอบ 3 ฉุด ‘ดัชนีความเชื่อมั่นภูมิภาค’ เหลือ ‘ตะวันออก – อีสาน’ แนวโน้มดี

โควิดรอบ 3 ฉุด “ดัชนีความเชื่อมั่นภูมิภาค” เดือน พ.ค. ดิ่งหลายพื้นที่ เหลือ “ภาคตะวันออก – อีสาน” แนวโน้มดี เศรษฐกิจขยายตัว

นายวุฒิพงศ์ จิตตั้งสกุล ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการคลัง สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะรองโฆษกกระทรวงการคลัง และนายพิสิทธิ์พัวพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เปิดเผยรายงาน ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภูมิภาค (Thailand Regional Economic Sentiment Index: RSI) ประจำเดือนพฤษภาคม 2564

โควิดรอบ 3 ดัชนีความเชื่อมั่นภูมิภาค

จากการประมวลผลข้อมูลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจรายจังหวัดจากสำนักงานคลังจังหวัด 76 จังหวัดทั่วประเทศ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เพื่อจัดทำดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภูมิภาคพบว่า

ดัชนี RSI เดือนพฤษภาคม 2564 ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้าในหลายภูมิภาค เนื่องจากได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด – 19) ระลอกใหม่ที่เกิดขึ้นในเดือนเมษายน 2564 อย่างไรก็ตาม ภาคตะวันออกและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน) ยังมีการคาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจที่ดีขึ้น

 

โควิดรอบ 3 ฉุด “ดัชนีความเชื่อมั่นภูมิภาค”

ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภาคตะวันออก อยู่ที่ระดับ 57.2 สะท้อนถึงความเชื่อมั่นเศรษฐกิจที่ดีขึ้นในอนาคตโดยมีปัจจัยสนับสนุนจากภาคเกษตรและภาคอุตสาหกรรม เนื่องจากมีความต้องการสินค้าเกษตรทั้งในและต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง สอดคล้องกับภาคอุตสาหกรรมที่ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากอุปสงค์ของสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร

ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภาคอีสาน อยู่ที่ระดับ 55.3 สะท้อนถึงความเชื่อมั่นเศรษฐกิจในอนาคตที่ดีขึ้นเช่นกัน โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากภาคเกษตรและภาคการจ้างงาน เนื่องจากเข้าสู่ฤดูเพาะปลูก ประกอบกับการมีนโยบายความช่วยเหลือภาคการเกษตรต่าง ๆ จากภาครัฐ

ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภาคตะวันตก อยู่ที่ 49.7 แสดงถึงความเชื่อมั่น เศรษฐกิจ ที่อยู่ในภาวะทรงตัว โดยยังมีปัจจัยสนับสนุนจากภาคเกษตรและภาคการจ้างงาน เนื่องจากคาดว่าเมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด – 19 คลี่คลายจะทำให้มีความต้องการสินค้าเกษตรเพิ่มมากขึ้น ประกอบกับภาครัฐมีนโยบายสนับสนุนภาคเกษตรอย่างต่อเนื่อง

โรงงานอาหาร

ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจของภาคเหนือ อยู่ที่ระดับ 48.4 สะท้อนถึงความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจในอนาคตที่ปรับตัวชะลอลง แต่ยังมีปัจจัยสนับสนุนจากภาคเกษตรเนื่องจากจะเข้าสู่ฤดูเพาะปลูกพืชผลทางการเกษตร ประกอบกับการมีมาตรการช่วยเหลือภาคเกษตรจากภาครัฐส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น อาทิ นโยบายประกันรายได้เกษตรกร เป็นต้น

ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภาคใต้ อยู่ที่ระดับ 48.4 สะท้อนถึงความเชื่อมั่นเศรษฐกิจในอนาคตที่ชะลอลง แต่ยังมีปัจจัยสนับสนุนจากภาคเกษตรและภาคอุตสาหกรรม โดยความต้องการสินค้าอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับยางพาราเพิ่มสูงขึ้น นอกจากนี้ ยังคาดว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด – 19 มีแนวโน้มที่จะคลี่คลายลงจากจำนวนผู้ฉีดวัคซีนที่เพิ่มขึ้น

ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจของภาคกลาง อยู่ที่ 48.3 แสดงถึงความเชื่อมั่น เศรษฐกิจ ในอนาคตที่ชะลอลงเช่นกัน แต่ยังมีปัจจัยสนับสนุนจากภาคเกษตรและภาคอุตสาหกรรม โดยคาดว่าเมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดดังกล่าวคลี่คลายจะทำให้มีความต้องการสินค้าเกษตรเพิ่มมากขึ้น ประกอบกับภาครัฐมีนโยบายสนับสนุนภาคเกษตรอย่างต่อเนื่อง ในส่วนของภาคอุตสาหกรรมได้ปัจจัยสนับสนุนจากยอดการสั่งซื้อสินค้าเกษตรที่เพิ่มมากขึ้น

ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจของกรุงเทพฯ และปริมณฑล อยู่ที่ระดับ 46.7 ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้า แต่ยังอยู่ในภาวะชะลอตัว เนื่องจากความไม่แน่นอนของสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด – 19 อย่างไรก็ดี ยังมีปัจจัยสนับสนุนจากภาคเกษตรและภาคอุตสาหกรรม

โควิดรอบ 3 ดัชนีความเชื่อมั่นภูมิภาค

“คลัง” หั่นเป้า GDP เหลือ 2.3%

รายงานข่าวเปิดเผยว่า เมื่อเดือนเมษายน 2564 ที่ผ่านมา กระทรวงการคลังปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจไทยในปี 2564 เป็นขยายตัว 2.3% ต่อปี (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ 1.8 – 2.8%) จากประมาณการครั้งก่อน ณ เดือนมกราคม 2564 ที่ 2.8% ต่อปี เนื่องจากผลกระทบของไวรัสดควิด -19 ที่เกิดขึ้นในหลายประเทศ รวมถึงประเทศไทย

โดยการแพร่ระบาดส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจของไทย การเดินทางระหว่างประเทศ และจำนวนนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางเข้ามาในประเทศไทย

อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะประเทศคู่ค้าสำคัญของไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง จากมาตรการทางการคลังและการเงินที่ประเทศต่าง ๆ ดำเนินการ เพื่อเยียวยาและฟื้นฟู เศรษฐกิจ ส่งผลให้การส่งออกสินค้าของไทยมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น โดยคาดว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าของไทยจะขยายตัวที่ 11.0% ต่อปี (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ 10.5 – 11.5%)

อย่างไรก็ตาม การดำเนินมาตรการทางการคลังของภาครัฐอย่างต่อเนื่อง เช่น โครงการคนละครึ่ง โครงการเราชนะ โครงการ ม33เรารักกัน จะมีส่วนช่วยกระตุ้นการบริโภค ประคับประคองภาคธุรกิจ และรักษาระดับการจ้างงานให้สูงขึ้น

เศรษฐกิจไทยมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ได้แก่

  • การระบาดของโควิด – 19 ระลอกใหม่ในหลายประเทศที่ยังมีความรุนแรงและยืดเยื้อ
  • ข้อจำกัดในการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ
  • ราคาน้ำมันดิบที่อาจปรับเพิ่มขึ้นได้ หากปัญหาความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ในหลายประเทศรุนแรงขึ้น รวมทั้งการปรับเปลี่ยนนโยบายด้านพลังงาน และ
  • ความผันผวนของระบบการเงินโลกและเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศ

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo